MGR online - ดีเอสไอ-นิติวิทยาศาสตร์ แถลงคดีหลังอัยการไม่สั่งฟ้อง "ชัยวัฒน์" กับพวกฆ่าบิลลี่ ยืนยันสารไมโทคอนเดรีย บ่งชี้สายสัมพันธ์การสืบสายเลือดมาจากยายหรือแม่ ซึ่งทั่วโลก หรือเอฟบีไอก็ใช้มาตรวจสอบหาผู้สูญหาย
วันนี้ (27 ม.ค.) เวลา 16.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ พ.ต.ท. เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ร่วมแถลงข่าวกรณีสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า ดีเอสไอได้รับเอกสารสำนวนจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้กองบริหารคดีพิเศษจะตรวจสอบและพิจารณาเอกสารที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ส่งกลับมาเพื่อสรุปให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณา มี 2 ทาง 1.กรณีที่ดีเอสไอเห็นด้วยกับเหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอก็จะไม่มีความเห็นแย้งในการสั่งคดีในข้อหานั้น และคดีในข้อหานั้นก็จะจบลงตามการสั่งคดีของอัยการ 2.หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้อง ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่จะส่งความเห็นแย้งให้อธิบดีดีเอสไอ ยื่นต่ออัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดตามกฏหมายต่อไป โดยมีกรอบเวลาในการพิจารณาประมาณ 1 เดือน แต่หากมีหลายประเด็นก็สามารถขอขยายเวลาได้ และการทำความเห็นของดีเอสไอ สามารถนำหลักฐานที่มีอยู่แล้วมาพิจารณาเท่านั้นไม่สามารถสืบหาพยานเพิ่มเติมได้
"ส่วนญาติผู้เสียหายก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องเองได้เช่นกัน แต่ขณะนี้กระบวนการทางกฏหมายที่ดีเอสไอยื่นฟ้องไปยังไม่สุดทางก็ยังเดินหน้าต่อ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นการดีที่สำนักอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะจะได้มองได้ครบทุกมิติ ครบทุกด้าน ที่ผ่านมาดีเสไอสอบพยานไป 131 ปาก มีผู้เชี่ยวชาญ และพยานวัตถุ รวบรวมสำนวนตามข้อเท็จจริงเสนออัยการตามข้อเท็จจริง" พ.ต.ต.วรณัน กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.วรวีย์ เผยว่า การตรวสอบหาสารพันธุกรรมที่สถาบันตินิวิทยาศาสตร์ ได้ตรวจหาสารไมโทคอนเดรียจากกระดูกที่เจ้าหน้าที่ค้นพบ ซึ่งสารไมโทคอนเดรียจะบ่งชี้ให้ทราบว่าสืบสายเลือดมาจากยายหรือแม่ของนายบิลลี่เท่านั้น โดยหลักการตรวจหาสารพันธุกรรมดังกล่าวหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ทั่วโลก หรือเอฟบีไอก็ใช้มาตรวสอบหาผู้สูญหาย เนื่องจากบางกรณีพบโครงกระดูกผู้สูญหาย แต่เนื่องจากสภาพกระดูกอาจผูกร่อนตามระยะเวลา จึงไม่สามารถสกัดหาสารพันธุกรรมดีเอ็นเอได้ ทำได้เพียงสกัดหาสารพันธุกรรมไมโทคอนเดรียเท่านั้น คดีนายบิลลี่ ดีเอสไอนอกจากจะใช้สารพันธุกรรมไมโทคอนเดรียแล้ว ยังใช้การสืบสวนพยานหลักฐาน และการสอบปากคำญาติพี่น้อง มาประกอบสำนวนด้วย
ส่วน พ.ต.ท.เชน กล่าวว่า ในปี 57 ดีเอสไอรับคดีนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ต่อมาปี 62 ดีเอสไอพบว่ามีจุดใต้สะพานในพื้นที่เกิดเหตุ มีน้ำท่วมขังตลอดปี และจุดที่ยังไม่เคยตรวจสอบมาก่อน จึงร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ ตำรวจ ตชด. และหน่วยดำน้ำ ค้นหาจนเจอกระดูกก่อนนำมาใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ช่วยหาหลักฐาน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้สอบพยานครอบครัวนายบิลลี่ และพยานแวดล้อมอื่นๆ กระทั่งนำหลักฐานไปขอศาลออกหมายจับนายชัยวัฒน์กับพวก ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น เอฟบีไอและหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ก็มีการนำใช้ในหลายๆคดีด้วย