xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 ม.ค.-1 ก.พ.2563

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.พบคนไทยติดไวรัสโคโรนารายแรก เป็นโชเฟอร์แท็กซี่ ด้าน “อนุทิน” เผยเตรียมรับคนไทยในอู่ฮั่นกลับ ปท.4 ก.พ.นี้!

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะตรวจเยี่ยมจุดคัดกรอง-ด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ประชุมและยืนยันว่า มีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รายใหม่ในไทยเพิ่มอีก 5 ราย รวมเป็น 19 ราย ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว 7 ราย เหลือนอนในโรงพยาบาลอีก 12 ราย สำหรับ 5 รายใหม่พบว่า เป็นคนจีน 4 ราย มีประวัติมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และคนไทย 1 ราย ซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่ผู้ชาย โดยไม่มีประวัติการเดินทางไปประเทศจีน ถือเป็นรายแรกที่แพร่ติดต่อภายในประเทศ

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คนขับรถแท็กซี่ 2 รายที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค รายหนึ่งผลตรวจเป็นลบ ไม่ได้มีการติดเชื้อแต่อย่างใด ส่วนอีกรายที่ติดเชื้อนั้น มาจากการส่งผู้ป่วยชาวจีนไปโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยชาวจีนที่เป็นต้นเชื้อรายนี้ก็อยู่ในระบบ ซึ่งขณะนี้ก็หายดีกลับไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของคนขับแท็กซี่รายนี้มีทั้งสิ้น 13 คน จำนวนนี้เป็นคนในครอบครัว 3 คน คือ ภรรยา ลูก และหลาน ซึ่งจากการเก็บเก็บตัวอย่างไปตรวจเชื้อก็พบว่า ผลเป็นลบ ไม่มีการติดเชื้อทั้ง 13 คน แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง 14 วัน

ส่วนข้อกังวลว่า คนขับแท็กซี่รายนี้จะกระจายเชื้อไปยังผู้โดยสารนั้น นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เมื่อป่วยแล้วได้หยุดขับรถแท็กซี่ทันที และติดต่อขอเข้ารับการตรวจตามระบบ เท่ากับว่าไม่มีการขับรถสัมผัสกับผู้โดยสาร ผู้โดยสารจึงไม่ต้องกังวล

เมื่อถามถึงกรณีมีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทยรายแรก นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เรามีการเตรียมแผนและมาตรการรับมือทั้ง 5 ระดับ ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ระดับการแพร่ระบาดในวงจำกัด ซึ่งหากเราสามารถจำกัดวงนี้ได้ เราก็จะกลับไปสู่ระยะที่ 1 คือ เป็นระดับผู้ป่วยที่มาจากนอกประเทศ เพราะไม่มีการแพร่กระจายต่อ ซึ่งเราพยายามดำเนินการจุดนี้ หากเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นที่มีการระบาดภายในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม เยอรมนี ไต้หวัน ประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงการแพร่ระบาดในไทยสูงกว่ามาก แต่กลับพบการแพร่ระบาดในประเทศครั้งแรกช้ากว่า

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาฯ ที่จีนนั้น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ประกาศจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการยืนยันผลนับถึงวันที่ 31 ม.ค.อยู่ที่ 11,791 ราย จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตอยู่ที่ 259 ราย ขณะนี้มีการกักตัวเพื่อสังเกตการณ์ผู้ที่มีประวัติติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 1 แสนราย

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หลังจากไวรัสตัวนี้ยังคงแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และพื้นที่อื่น ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ว่า เรามีความพร้อมในการไปรับพี่น้องคนไทยทั้ง 160 คนที่อยู่ในอู่ฮั่นกลับไทยแล้ว ส่วนจะรับกลับวันไหน รอความชัดเจนอีกครั้ง เพราะต้องให้เกียรติประเทศจีนที่ดูแลคนไทยอยู่ที่นั่นด้วย และว่า สายการบินแอร์เอเชียยินดีที่จะส่งเครื่องบิน แอร์บัสเอ 320 ขนาด 180 ที่นั่ง ไปรับคนไทยกลับมา โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไม่คิดเงินรัฐบาล จึงต้องขอขอบคุณในฐานะรัฐบาลและคนไทยทุกคน

ล่าสุด วันนี้ (1 ก.พ.) นายอนุทิน กล่าวอีกครั้งว่า กำหนดบินรับคนไทยในอู่ฮั่นในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งได้เตรียมความพร้อมทางฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ทางการจีนก็บอกว่าพร้อม โดยในวันที่ 4 ก.พ.จะรับกลับมาเลย ส่วนคนที่แจ้งความจำนงจะเดินทางกลับ ขณะนี้คนไทยอยู่ที่นั่น 160 คน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. แจ้งเจตจำนงไว้ 130-140 คน และใครกลับมาก็ต้องดูแลหมด ถ้าจำเป็นต้องกักตัวก็ต้องกัก แต่สิ่งที่เราให้ความมั่นใจก็คือ ต้องทำตามมาตรฐานสากลทุกอย่าง ส่วนสถานที่ในการกักตัวหากกลับมาทั้งหมด 160 คน จะหารือในวันที่ 3 ก.พ.นี้กับนายกรัฐมนตรีในการประชุมสรุปสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อดูว่า หน่วยงานไหนจะสามารถเข้ามาช่วยดูในส่วนนี้ได้ แต่โดยเบื้องต้นถ้ามีการกักตามอาการ สถาบันบําราศนราดูรรับได้อยู่แล้ว และกระทรวงสาธารณสุขก็มีการบริการในส่วนนี้เยอะ มี 2-3 โรงพยาบาลที่รองรับในส่วนนี้ได้ และไม่ใช่กักตัวจนเขาทำอะไรไม่ได้ ดูโหดร้ายเกินไป ซึ่งต้องดูความเข้มข้น เพราะแต่ละประเทศสถานการณ์แตกต่างกัน

2.ศาล รธน.รับวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบฯ หลังเกิดปัญหาเสียบบัตรแทนกัน ด้านฝ่ายค้านยื่นซักฟอก “นายกฯ-5 รมต.” แล้ว!

(บน) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน นำทีมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 6 คน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ล่าง) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส.3 คำร้องว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ (หลังมีการกล่าวหาว่ามี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน) ซึ่งคำร้องดังกล่าว ประกอบด้วย คำร้องของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และคณะ จำนวน 109 คน, คำร้องของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และคณะ จำนวน 84 คน และคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และคณะ จำนวน 77 คน

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องทั้ง 3 คำร้องแล้ว เห็นว่า คำร้องของนายวิรัชและนายสมพงษ์ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาประเด็นเดียวกัน จึงให้รวมการพิจารณาทั้งสองคำร้องเข้าด้วยกัน และมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบ และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 4 ก.พ.นี้ โดยผู้เกี่ยวข้องที่ต้องยื่นคำชี้แจง ประกอบด้วย นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, นายฉลอง เทอดวีรพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรค ภท., น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรค พปชร. และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรค ภท.

ส่วนคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และคณะจำนวน 77 คนนั้น ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกับที่นายสมพงษ์ยื่นคำร้อง ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสนอความเห็นซ้ำจำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (75 คน) จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (1) จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีที่ประธานสภาส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงภายในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ซึ่งไม่มีชื่อของนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ภท.ที่นายนิพิฏฐ์ออกมาแฉก่อนหน้านี้ว่ามีกรณีให้ผู้อื่นเสียบบัตรลงคะแนนแทนในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยนายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า สงสัยตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า ทำไมคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงไม่ปรากฏชื่อของนางนาทีรวมอยู่ด้วย ทั้งที่มีหลักฐานปรากฏชัดว่า บัตรของนางนาทีมีการลงคะแนนเสียงมาตลอดและยาวไปถึงช่วงที่นางนาทีเข้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาออก ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปแล้ว จึงอยากถาม ส.ส.ทั้งสองฝ่ายว่า ทำไมไม่ส่งข้อมูลดังกล่าวบ้าง

นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า กรณีคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรค พปชร.และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรค ภท.เสียบบัตรหลายใบ ก็มีคำอธิบายได้ในระดับหนึ่งว่า เกิดจากกรณีที่จำนวนช่องเสียบบัตรในห้องประชุมนั้น มีไม่เพียงพอกับจำนวน ส.ส.ในสภา และเจ้าของบัตรก็ยืนดูอยู่ด้วย เชื่อว่า ประเด็นนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องคิดหนักว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเป็นโมฆะหรือไม่

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ฝ่ายค้านต้องการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีนั้น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจำนวน 6 คน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้ว เพื่อขอให้มีการประชุม ส.ส. เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว

โดยรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นญัตติเข้ามาแล้ว เท่ากับว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถยุบสภาฯ ได้แล้วตามรัฐธรรมนูญ

3.กกต.ยกคำร้อง “นิพิฏฐ์” กล่าวหา “ฉลอง” ภท. ซื้อเสียงเลือกตั้ง เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ!

(ซ้าย) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ขวา) นายฉลอง เทอดวีรพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต.ที่ยกคำร้องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่กล่าวหาว่านายฉลอง เทอดวีรพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 7 วรรค 1(1) และมาตรา 78 โดยคำวินิจฉัยระบุว่า จากการไต่สวนและพยานหลักฐานต่างๆ เห็นว่า กรณีที่อ้างว่า ก่อนมี พ.ร.ฏ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.สง มีกลุ่มบุคคลเก็บรวบรวมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีข้อตกลงว่า ให้เลือกพรรค ภท.แล้วจะได้ค่าตอบแทนรายละ 500 บาทนั้น

กกต.เห็นว่า ผู้ร้องมีเพียงภาพถ่ายแอพพลิเคชั่นไลน์ที่ปรากฏภาพสำเนาบัตรประชาชน ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน และจากการให้ถ้อยคำของพยาน ได้ยินยอมให้มีการถ่ายภาพบัตรประชาชน มีพยานเพียงรายเดียวให้ถ้อยคำว่า มีการให้เงิน ถ้อยคำของพยานคนดังกล่าวขัดแย้งกับถ้อยคำของบุคคลในครอบครัวของพยานเอง จึงมีน้ำหนักน้อย ประกอบกับพยาน ซึ่งเป็นผู้ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนต่างให้ถ้อยคำว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนพรรค ภท.โดยไม่ได้มีการให้เงินหรือสัญญาว่าจะให้แต่อย่างใด จึงยังฟังไม่ได้ว่า นายฉลองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย

ส่วนที่อ้างว่า ก่อนมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง มีนายกเทศมนตรีบางคนให้ประชาชนถ่ายภาพบัตรประชาชน โดยมีภาพถ่ายแอพพลิเคชั่นไลน์ข้อความทำนองว่า “วันนี้พวกเราร่วมด้วยช่วยกันได้ ใกล้ๆ 25,000 คะแนนแล้ว ขอให้ใช้เวลาที่มีขณะนี้หาเพิ่มให้ได้ 30,000 คะแนน ฝากธนาคารไว้เลยหรือรดน้ำใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ส่วนคะแนนอีก 15,000 คะแนน จะเป็นเสียงที่ลอยมาโดยใช้ธรรมชาติ เมื่อใกล้ๆ วันเลือกตั้งแล้ว พวกผม ผู้รับหน้าที่ทางการเมืองครั้งนี้ จะจัดการปูทางให้สะดวกครับ” แต่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการอย่างไร

และที่ผู้ร้องอ้างว่า กำนัน สารวัตรกำนันบางคนให้ผู้ใหญ่บ้านถ่ายภาพบัตรปชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน จากการไต่สวนนายก อบต.กำนัน สารวัตรกำนันคนดังกล่าวต่างให้ถ้อยคำปฏิเสธไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปขอถ่ายภาพบัตรประชาชนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด เพื่อเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่า นายฉลองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายตามคำร้อง

4.อัยการแถลงแจงเหตุไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์” กับพวกข้อหาฆ่า “บิลลี่” ด้านดีเอสไอเตรียมทำความเห็นแย้ง!

(บน) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4 (ล่าง) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะ
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการสำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4 แถลงชี้แจงการสั่งคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับลูกน้อง 3 คน ตกเป็นผู้ต้องหา ฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่มกันฆ่าอำพรางศพนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องข้อหาฆ่าบิลลี่ แต่สั่งฟ้องแค่ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยนายประยุทธ กล่าวว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นสำคัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันตรวจพิจารณาสำนวน และเห็นว่า มีพยานหลักฐานพอฟ้องในบางข้อหา จึงเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-3 ในข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด

ส่วนข้อกล่าวหาอื่น คณะทำงานฯ เห็นว่า ทางคดีไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำผิด เมื่อพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง สำหรับข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่ คณะทำงานตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้วเห็นว่า ในชั้นนี้ พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่เช่นกัน โดยคณะทำงานเห็นว่า บิลลี่ในชั้นแรก ถูกกลุ่มผู้ต้องหาทั้งสี่ควบคุมตัวไปพร้อมน้ำผึ้งและรถจักรยานยนต์ แต่ต่อมามีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว ทางคดีได้ความว่า ภรรยาและมารดาของบิลลี่ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสี่ปล่อยตัวบิลลี่ เพราะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบตามกฎหมาย

คณะทำงานระบุอีกว่า “เมื่อศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาพยานหลักฐานทุกฝ่ายแล้ว ได้มีคำสั่งยกคำร้อง เพราะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า บิลลี่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ภรรยาบิลลี่ได้ยื่นอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดเพชรบุรี แต่ทั้งชั้นอุทธรณืและชั้นฎีกาพิพากษายืน ซึ่งเป็นการชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว คดีจึงเป็นที่สุด และต่อมา พยานที่เคยเบิกความในคดีที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้ให้การใหม่กับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอตรงข้ามกับที่เคยเบิกความต่อศาล แต่พนักงานอัยการซึ่งเป็นคณะทำงานเห็นว่า คำเบิกความต่อศาลดังกล่าวน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากกว่า”

นอกจากนี้คณะทำงานยังเห็นว่า การตรวจพิสูจน์กระดูก วัตถุพยานของกลาง โดยวิธีไมโทคอนเดรีย เป็นเพียงการตรวจเพื่อทราบถึงสื่อสัมพันธ์สายมารดาเท่านั้น การตรวจวิธีนี้ไม่เพียงพอที่จะยืนยันตัวบุคคลหรือชี้ชัดได้ว่า กระดูกของกลางที่พบเป็นของบุคคลใด และสำนวนคดีไม่มีข้อเท็จจริงหรือประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใดๆ เพียงพอที่จะเชื่อมโยงว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นผู้ร่วมกันฆ่าบิลลี่ที่ไหน เมื่อไหร่ และโดยวิธีใด ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญที่อัยการต้องกล่าวบรรยายไว้ในฟ้อง รวมทั้งสำนวนการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานว่า บิลลี่ยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในชั้นนี้ สำนวนยังมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้องผู้ต้องหา จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฆ่าบิลลี่ และว่า ขณะนี้สำนักงานคดีพิเศษได้ส่งสำนวนพร้อมคำสั่งไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป หากดีเอสไอมีความเห็นต่าง ต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดต่อไป

นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า การฟ้องคดีสามารถทำได้ครั้งเดียว อัยการต้องพิสูจน์ให้ได้ชัดเจน ถ้าสืบแล้วยังมีข้อสงสัย โอกาสศาลยกฟ้องมีสูง ถ้าสั่งไม่ฟ้อง แล้วมีพยานหลักฐานใหม่ อัยการสามารถหยิบยกมาได้ แต่ถ้าฟ้องไปแล้วศาลยกฟ้อง เสียหายมากกว่า คดีมีอายุความ 20 ปี อธิบดีอัยการคดีพิเศษฝากเรียนญาติผู้เสียหายว่า สามารถฟ้องเองได้ อัยการยินดีให้การสนับสนุน แต่ของอัยการฟ้องส่วนที่ชัดเจน หากยังไม่เพียงพอ ไม่ฟ้อง

วันเดียวกัน (27 ม.ค.) พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และผู้เกี่ยวข้องในส่วนของดีเอสไอ รวมถึงผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เปิดแถลงกรณีอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่

โดย นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม ยืนยันว่า วิธีพิสูจน์หลักฐานด้วยการตรวจสอบไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ ไม่ได้ใช้เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้ โดยเป็นวิธีการที่ใช้พิสูจน์บุคคลสูญหาย กรณีที่โครงกระดูกเสื่อมสภาพ ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมในวัตถุเสื่อมสภาพและใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล

ด้าน พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ยืนยันว่า กระบวนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ มีการดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กร รวมถึงอัยการเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ ซึ่งมีมาตรฐานไม่แตกต่างจากสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ

แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เผยว่า พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนชุดเล็ก เพื่อสั่งการให้ พ.ต.ท.เชน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมบิลลี่ เตรียมทำความเห็นแย้งส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดสำนวนคดีฆาตกรรมและความผิดที่เกี่ยวเนื่องรวม 8 ข้อหา หลังอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี 7 ข้อหา โดยเห็นควรสั่งฟ้องเพียงข้อหาความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

5.“บิ๊กโจ๊ก” ลาบวชอินเดีย 9 วัน ปลัดสำนักนายกฯ ยันลาก่อนถูกนายกฯ เตือน ด้าน “วิระชัย” เข้ารายงานตัวแล้ว!

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. มีรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลาไปอินเดีย เพื่อบวชทดแทนคุณพ่อแม่ โดยนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ว่า “พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล กำลังจะไปบวชที่ประเทศอินเดีย หลังได้ทำหน้าที่เป็นพยานให้การกับ ป.ป.ช.ในคดีทุจริตไบโอเมตริกซ์เรียบร้อยแล้ว ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ”

วันต่อมา 27 ม.ค. มีรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ พร้อมภรรยา และญาติ ได้เดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปยังอินเดีย โดยกล่าวว่า จะเดินทางไปยังรัฐพิหาร เพื่อบวชเป็นเวลา 9 วัน เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เนื่องจากยังไม่เคยบวชมาก่อนเลย โดยได้มีการลางานล่วงหน้ากับต้นสังกัดมานานแล้ว และการบวชครั้งนี้ มีน้องชายและเพื่อนร่วมบวชด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดินทางไปบวชที่อินเดียของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเตือนให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต อย่ารายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อย่าปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ไม่กระทำการอันเป็นการกลั่นแกล้ง กดขี่ ข่มเหงกันในการปฏิบัติราชการ ไม่ดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชน

นอกจากนี้ คำสั่งของนายกฯ ยังระบุด้วยว่า ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ของทางราชการ ด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการ รักษาความลับของทางราชการ มีความสุภาพ เรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการด้วยกันและผู้ร่วมปฏิบัติราชการ หาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยต่อไป

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ลาไปบวชที่ประเทศอินเดียว่า ไม่ได้มาลาตนก่อนไปบวช และไม่ได้พูดคุยหรือเจอกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ นานแล้ว เพราะเขาก็ไปทำงานของเขา ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ทำงานอยู่กับตน แต่หลังจากที่ออกไปแล้ว เขาก็ไปทำงานในส่วนอื่น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตน

ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ส่งหนังสือลาล่วงหน้ามาแจ้งก่อนจะมีคำสั่งสำนักนายกฯ ออกมา เพื่อแจ้งขาลากิจส่วนตัว ตามกำหนดราชการที่สามารถทำได้ โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ส่งใบลาและแจ้งว่า จะเดินทางไปยังประเทศอินเดียระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-9 ก.พ. โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 23 ม.ค. เป็นการลาถูกต้องตามระเบียบราชการ

นายธีรภัทร ยังกล่าวถึง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. หลังนายกฯ มีคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ ด้วยว่า ได้มารายงานตัวกับตนแล้วเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบหมายงานที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น