ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้ว 2 หน่วยงาน ทำหนังสือเวียนแจ้งกันว่าด้วยการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
"กระทรวงมหาดไทย" มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0818.2/ว 150 ลงวันที่ 10 ม.ค.63 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจัดส่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และ สรุปสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัด อปท. และผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาและทำความเข้าใจในระเบียบฯ และสรุปสาระสำคัญของระเบียบฯ
2. แจ้งให้ อปท. พิจารณาทบทวนการตั้งงบประมาณในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ของอปท.ให้เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
"เพื่อให้สอดคล้องกับบัญชีอัตราค่าตอบแทนบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้ง ขอให้บันทึกรายงานข้อมูลตั้งงบประมาณฯ ลงในศูนย์ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ของ อปท. (e-LAAS)แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค.63"
3. แจ้งให้อปท.เตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร สถานที่ หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้ง และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเลือกตั้งฯ รวมทั้งดำเนินการอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้องตามระเบียบฯ
ข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งมหาดไทย มีหนังสือย้ำไปหลายรอบคือ รายการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ในอปท.ทั่วประเทศ
ล่าสุดค่าใช้จ่ายที่แจ้งให้ มหาดไทย ผ่าน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบรายงานข้อมูลการตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า อปท. เกือบทั่วประเทศ รายงานการตั้งงบประมาณรายการดังกล่าว เข้ามาแล้ว
ทีนี้มาดูตัวอย่างอปท.ใหญ่ๆ ที่ตั้งงบประมาณ "สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น" พบว่า องค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ชัยนาท ตั้งงบฯ เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง 20,200,000 บาท อบจ.เชียงราย ตั้งงบฯไว้ 50,000,000 บาท อบจ.ตรัง 23,864,000 บาท อบจ.นครราชสีมา 70,100,000 บาท อบจ.นราธิวาส 68,121,000 บาท อบจ.พัทลุง 18,000,000 บาท อบจ.สงขลา 90,000,000 บาท อบจ.หนองบัวลำภู 20,000,000 บาท อบจ.อุบลราชธานี ตั้งงบไว้ 50,000,000 บาท
ขณะที่ ระดับเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พบว่า อบต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งงบฯไว้ 2,000,000 บาท อบต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช 1,300,000 บาท อบต.คลองน้อย อ.ปากพนัง 1,000,000 บาท
นอกจากนี้ ยังพบว่า เทศบาลตำบล และอบต.ขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีการตั้งงบประมาณเพื่อเลือกตั้งท้องถิ่น ไว้ที่ 5 หมื่น ถึง 5 แสนบาท
โดยคาดว่า จะใช้งบประมาณ รวมกว่า 1,500 ล้านบาท
อีกฉบับ เมื่อ 15 ม.ค.63 ด่วนที่สุด ที่ ลต 0012/ ว41 ลงนามโดย นายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการฯปฏิบัติหน้าที่แทน เลขาธิการ กกต. ส่งหนังสือ เรื่อง "แนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาขิกสภาท้องถิ่น" ถึง "ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร"
ระบุว่า ตามที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาขิกสภาท้องถิ่นนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ในวาระเริ่มแรกหลังจากกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นมีผลใช้บังคับ สำนักงานกกต. จึงแจ้งแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนี้
ข้อ 1. ให้ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 19 และมาตรา 20 ประกอบระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ข้อ 12 และ ข้อ 13 โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ใช้ "ข้อมูลจำนวนราษฎร" ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.62
1.1 การบรรยายแนวเขตให้ระบุท้องที่ ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง หรือบรรยาย โดยใช้แนวเขตภูมิประเทศ เช่น ถนน ตรอก ซอย แยก คลอง หรือแม่น้ำ หรือบรรยายโดยรอบพื้นที่เขตเลือกตั้ง ตามหลักเขตหรือพิกัด
1.2 จัดทำร่างรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ พร้อมแผนที่แสดง การแบ่งเขตในแต่ละรูปแบบ
1.3 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต้องใกล้เคียงกันมากที่สุด และมีผลต่าง ของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละสิบ โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณหาผลต่างของ จำนวนราษฎร
ข้อ 2. เพื่อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยในส่วนของ "ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งแรกนี้ ให้ประกอบด้วยตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และเมืองพัทยา) ประเภทละ 1 คน ซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ การสรรหาผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละประเภทให้เป็นไปตามวิธีการที่ สำนักงานกกต. ตั้งประจำจังหวัดกำหนด รวมถึงจัดการประขุมคณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางและกำหนดแผนงานการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ อนุกรรมการ หรือผู้ทำงาน พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 3. ให้ดำเนินการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง "สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร" เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเป็นสำดับแรก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งทราบโดยทั่วกัน จากนั้น ให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิก "สภาเทศบาลและสมาชิกสภาเมืองพัทยา" เป็นลำดับถัดไป
ข้อ 4. การพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งตามระเบียบกกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562
"ใน ข้อ 14 ให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในเขตเลือกตั้งมาประกอบการพิจารณาของ กกต. โดยให้เสนอผลการพิจารณา เรียงตามลำดับความเหมาะสม อย่างน้อย 3 รูปแบบ พร้อมเหตุผลประกอบ รวมทั้งข้อดีและข้อเสีย ของรูปแบบต่าง ๆ"
4.1 ในกรณีที่มีการเสนอแนะรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติม ให้ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ตรวจสอบและทำความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งตังกล่าว เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้งพิจารณาในคราวเดียวกัน
4.2 ในกรณีที่มี "การคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง" ให้คณะกรรมการแบ่งเขตเลือกตั้ง พิจารณาและทำความเห็นประกอบเพื่อเสนอกกต. พิจารณา
ข้อ 5. การรายงานผลการพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อกกต. ให้จัดทำแผนที่ "เป็นภาพสี" แสดงรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ คณะกรรมการแบ่งเขตเสือกตั้ง ให้ความเห็นชอบตาม ข้อ 4 ขนาด เอ 3 รูปแบบละ 15 ชุด
ข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนราษฎรในแต่ละรูปแบบ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง พร้อมแผ่นซีดีที่บรรจุข้อมูลการแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบของไฟล์ Microsoft Word ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยรูปแบบ การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ให้จัดส่งภายในวันที่ 14 ก.พ.63
รูปแบบ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ให้จัดส่งภายในวันที่ 28 ก.พ.63
ในหนังสือ ฉบับนี้ กกต. ยก "ตัวอย่างหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณหาผลต่างของจำนวนราษฎรการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เริ่มต้นด้วย ให้นำจำนวนราษฎร ของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุดของอำเภอ ลบด้วยจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้ง ที่น้อยที่สุดของอำเภอนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดคูณด้วย 100 แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ หารด้วยผลบวกของจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุดกับจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่น้อยที่สุดของอำเภอ ดังกล่าว
(จำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุด - จำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่น้อยที่สุด) X 100 (จำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุด + จำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่น้อยที่สุด)
ยกตัวอย่างเช่น อำเภอ ก. มีจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 4 คน ซึ่งต้องแบ่งพื้นที่อำเภอเป็น 4 เขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวนราษฎร 25,510 คน เขตเลือกตั้งที่ 2 จำนวนราษฎร 23,653 คน เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวนราษฎร 24,934 คน และเขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวนราษฎร 23,789 คน
โดยวิธีการคำนวณหาผลต่างของจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการ ดังนี้
1. นำจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุด (เขตที่ 1 จำนวน 25,510 คน) ลบด้วยจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่น้อยที่สุด (เขตที่ 2 จำนวน 23,653 คน)
2. นำผลลัพธ์ตามข้อ 1. คูณด้วย 100 (1,857 X 100 = 185,700)
3. นำผลลัพธ์ตามข้อ 2. หารด้วยผลบวกของจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่มากที่สุด (เขตที่ 1) กับจำนวนราษฎรของเขตเลือกตั้งที่น้อยที่สุด (เขตที่ 2) (185,700 /49163, = 3.78 ซึ่งไม่เกินกว่าร้อยละสิบ)
เชื่อว่า สัปดาห์หน้า สำนักงานกกต.ประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร จะเริ่มตั้งคณะทำงาน เพื่อคำนวณเขตเลือกตั้ง เนื่องจากหลายแห่งให้ข่าวว่ามีความพร้อม แว่วว่า บางแห่งคำนวณเสร็จกัน ตั้งแต่ปีที่แล้ว.