ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทีมขุนพลเศรษฐกิจยังเกร็งข้อถ่อเรือเหล็กโต้มรสุมเศรษฐกิจขาลง ให้มีลุ้นกันว่าฟ้าใหม่ในปีนี้จะคึกคักจากการพลิกวิฤตบาทแข็งให้เป็นโอกาสการลงทุนต่อหรือไม่ หลังจากสรุปยอดปีที่แล้วมีเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนไทยทะลุเป้า 7.56 แสนล้าน โดยกลุ่มทุนจีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นนำ
สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งที่ยังไม่คลี่คลาย เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้การส่งออกทรุดถึงกับติดลบ แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถใช้เป็นเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุน ดังที่เบอร์หนึ่งทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฉวยจังหวะเร่งบีโอเอและคลังทำคลอดแพกเกจเร่งรัดเอกชนทั้งไทยและต่างชาติทุ่มลงทุน
ดังที่ นายสมคิด แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา 2020 ปีแห่งการลงทุน : ทางออกประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า ไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทั้งระเบิดเหนือน้ำที่ส่งออกของไทยลดลงและระเบิดใต้น้ำซึ่งมีหลายลูกรวมกัน ทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวช้าเกินไป รวมไปถึงงบประมาณแผ่นดินล่าช้า ตามมาด้วยระเบิดลูกใหม่คือค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ส่งออกติดลบและการนำเข้าลดลง ไม่เกิดการลงทุน โดยเอกชนลงทุนต่ำมากเพียง 16% ของจีดีพีเท่านั้น จึงเป็นช่องว่างทำให้ค่าเงินแข็ง ดังนั้น หากเอกชนไม่ลงทุนปัญหาเงินบาทก็จะแก้ได้ยาก
ดังนั้น การลงทุนจึงเป็นทางออกของไทย เพราะ 1. ถ้าลงทุนเม็ดเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคองเศรษฐกิจ 2. ถ้ามีการลงทุนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องคิดใหม่ว่าจะร่วมลงทุนอย่างไร 3. ถ้าต้องลงทุนต้องคิดถึงประโยชน์สูงสุดต่อไทย ตรงนี้บีโอไอต้องเฉียบแหลม และทำงานกับสภาพัฒน์ที่ไม่ควรทำหน้าที่แค่ทำนายเศรษฐกิจ แต่ต้องทำงานเชิงพัฒนาร่วมกับบีโอไอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทันสมัยมากขึ้น
ประสานเสียงกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่ารัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในช่วงจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ เช่น การเปลี่ยนหรือนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งจะให้บีโอไอหารือกับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมามาตรการกระตุ้นการลงทุน
วัดกันการตามศักยภาพแม้ไทยจะเจอคู่แข่งตีตื้นชนิดหายใจรดต้นคอ แต่โดยภาพรวมการลงทุนแล้วยังถือว่าไม่พลาดเป้า ดูจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนหรือขอบีโอไอปี 2562 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าทะลุเป้าหมาย โดยมีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท
เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนตรงจากต่างประเทศ ประมาณ 500,000 ล้านบาท และนักลงทุนจากจีนมีการลงทุนสูงสุด 260,000 ล้านบาท แซงหน้านักลงทุนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยจีนลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงถึง 100,000 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาลจีนส่งเสริมให้ออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และมีแนวโน้มที่การลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องจากผลกระทบเรื่องสงครามการค้าและค่าแรงที่สูงขึ้น
แน่นอน พื้นที่คำขอรับการส่งเสริมลงทุนมากสุดก็คือการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีทั้งสิ้น 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยชลบุรี และฉะเชิงเทรา
ขณะที่ยอดขอบีโอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจํานวน 838 โครงการ มูลค่าเงิน ลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท ตามมาด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ ยังคาดการลงทุนในปี 2563 ว่ายังมีแนวโน้มที่ดีเพราะบีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สําหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริง ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 รวมทั้งขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสําหรับเอสเอ็มอี ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563
การกระตุ้นการลงทุนที่จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กระทรวงการคลัง จะร่วมมือกับบีโอไอ เสนอมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน 6 เดือนข้างหน้า โดยอาศัยจังหวะเงินบาทไทยแข็งค่านั้น นายสมคิด ไม่เพียงวางเป้าไปที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่หลักอีอีซี แต่ยังมอบหมายให้บีโอไอเปิดมิติในการลงทุนใหม่ๆ มองอุตสาหกรรมในมิติใหม่ที่จะสร้างเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ให้ได้ โดยมี 4 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่
1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่รองรับการจ้างงานและผลกระทบจากวิทยาการด้านการผลิตที่เปลี่ยนไป เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ต้องการให้เป็นเป้าหมายใหญ่ และท่องเที่ยวไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมโรงแรม ต้องมองการบริหารในทุกรูปแบบและเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย
2.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ที่มีมูลค่าสูงมากในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ งานแอนิเมชัน การพัฒนาดีไซน์ ศิลปะการละคร บีโอไอควรจะเข้ามาวางนโยบายจูงใจให้เพิ่มขึ้นเพื่อดึงการลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาให้ได้
3.อุตสาหกรรมกลุ่มโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบ BCG (Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy) ซึ่งขณะนี้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมขับเคลื่อนแล้ว และต้องการให้บีโอไอวางเป้าให้มุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าวมากขึ้นเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลัก โดยเล็งไปที่กลุ่มทุนยุโรปซึ่งมีความสามารถสูงในเรื่อง BCG แต่ยังเข้ามาลงทุนในไทยต่ำ
4.การลงทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากชุมชนด้านเกษตรแปรรูป ให้มีการลงทุนที่เป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น หลายบริษัทมีแผนงานCSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถปรับส่วนนี้มาส่งเสริม โดยให้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังให้การบ้านบีโอไอเรื่อง โครงการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เพราะโครงการใหญ่ๆ ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเกิดหมดแล้ว เมื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็ต้องมีพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงานออฟฟิศ ที่เป็นสมาร์ทอย่างแท้จริง โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา จะทำคลอดออกมาเป็นแพกเกจ
กล่าวสำหรับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอีอีซี ปี 2563 นี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 จะเร่งเดินสายออกไปดึงการลงทุนและขยายความร่วมมือใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะเจาะรายประเทศและรายมณฑล ซึ่งมีเป้าหมาย 6 พื้นที่ ได้แก่
มณฑลกวางตุ้ง จะเน้นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, ดิจิทัล, รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยตั้งเป้าดึงหัวเหว่ย เข้ามาลงทุนเทคโนโลยี 5 จี และหัวเหว่ย อะคาเดมี่ เข้ามาตั้งวิทยาลัยในไทยผลิตบุคคลกรป้อนเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งบริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน, สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ปักกิ่ง (BGI) และบริษัทMindray ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของจีน เข้ามาลงทุน
ฮ่องกง จะเน้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ดิจิทัล, สตาร์ทอัพ และบุคลากรทักษะสูง ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือกับองค์การพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) และสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และมีหลายบริษัทอยู่ระหว่างการขอรับบีโอไอ โดยบริษัทเป้าหมายที่จะเข้าไปเจรจา ได้แก่ King Wai Group และHong Kong Science Technology Parks Corporation
มณฑลเจ้อเจียง จะเน้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงและอีคอมเมิร์ช ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเจ้อเจียง โดยจะเจรจาเปิดนิคมอุตสาหกรรมรองรับนักลงทุนจากมณฑลเจ้อเจียง 400 บริษัท กับบริษัทฝู่ทงกรุ๊ป กองทุนเกาผิง และ Funs (Beijing) Group Co., Ltd.
ส่วนมณฑลเหอหนาน จะเน้นในสาขาเมืองการบิน และโลจิสติกส์ทางอากาศ ซึ่ง อีอีซี ได้ลงนามร่วมมือกับรัฐบาลมณฑลเหอหนานและคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าอากาศยานเจิ้งโจว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านมหานครการบิน โดยจะขยายความร่วมมือไปสู่การร่วมลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ทางอากาศ เจิ้งโจว- ลักแซมเบอร์ก-อู่ตะเภา
ไต้หวัน จะเน้นในสาขาเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เศรษฐกิจสีเขียว และการแพทย์และเภสัชกรรมอัจฉริยะ ซึ่งวางเป้าจัดตั้งพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเฉพาะนักลงทุนไต้หวัน จำนวน 600 ไร่ ที่นิคมฯอมตะ ขณะที่เกาหลีใต้ จะเน้นในสาขาอุตสาหกรรมดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ อาหาร และอุตสาหกรรมความงาม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2560 - 2562 ได้มีการลงทุนจริงในพื้นที่อีอีซีกว่า 1,221,026 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 18,694 ล้านบาท และการลงทุนภาครัฐ 1,202,332 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1.8 แสนตำแหน่ง และมีโรงงานเกิดใหม่ 2,647 โรง
นอกจากนี้ ในปี 2563 จะเร่งดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) โดย อีอีซีไอ ได้ลงทุนระบบนิเวศนวัตกรรมครบวงจรรองรับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม และเตรียมกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วยความร่วมมือของรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ของวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง คาดว่าจะเปิดให้นักลงทุนเช่าพื้นที่ได้ภายในปี 2564
ส่วน อีอีซีดี ตั้งเป้าที่จะพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็น Digital Innovation Hub ของอาเซียน โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนพร้อมเอกสารประกอบการคัดเลือกได้ภายในเดือนมกราคม 2562
การดึงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลยังวาดหวังให้เกิดการเชื่อมโยงลงสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยนายสมคิด ให้นโยบายแก่ สกพอ. ในการดำเนินงานของอีอีซี ปี 2563 ว่า จะเน้นขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชนเพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่อีอีซี โดยจะขยายท่องเที่ยวพื้นที่รอง และสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมชนเชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ สร้างรายได้ชุมชน ปีละ 1.2 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี
รูปธรรมที่นายสมคิด ยกตัวอย่าง เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านตะพง จังหวัดระยอง ท่องเที่ยววัฒนธรรม ทางน้ำ จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่องเที่ยวสุขภาพ นันทนาการ จังหวัดชลบุรี พร้อมเชื่อมเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลกโดยเป็นจัดหาสินค้าและบริการ ซัพพลายให้นักลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย พร้อมส่งเสริมไปตลาดโลกด้วยอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกร่วมกับ อบจ.ระยอง ปี 2563 โดยเตรียมพื้นที่ 23 ไร่ รองรับที่ตำบลมาบข่า จังหวัดระยอง
ตามเป้าหมายการลดจำนวนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 แสนคน ให้หมดไปภายใน 3 ปี จากประชากรในพื้นที่อีอีซีที่มีทั้งหมดประมาณ 3.4 ล้านคน โดยจะยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างงานให้คนรุ่นใหม่ เร่งการจัดฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม จัดหางานในพื้นที่ร่วมกับจังหวัด อปท. เอกชน และชุมชน และจ้างงานผู้สูงอายุ
ในด้านการศึกษา จะพัฒนาทักษะบุคลากร ปรับเข้าสู่ Demand Driven เอกชนร่วมจ่าย : ในรูปแบบของ EEC Model คือ แบบเรียนฟรี มีงานทำ และแบบจ่ายน้อยมีโอกาสทำงาน โดยมีแผนพัฒนาบุคลากรเร่งด่วน 20,000 คน จำนวน 120 หลักสูตร ให้ตรงความต้องการงานภายใน 1 ปี สร้างบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชน และผลิตอาชีวะมาตรฐานอินเตอร์
พร้อมทั้งพัฒนา 3 เกาะ ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด เป็นพื้นที่ตัวอย่าง สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ลดความขัดแย้งและร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ อย่างยั่งยืน และจะดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่ Circular Economy พัฒนาต้นแบบกำจัดขยะครบวงจร ขยะเกิดใหม่ และสะสมในพื้นที่ต้องหมดไปใน 12 ปี
ในวันที่นายสมคิด ไปมอบนโยบายให้กับ สกพอ. ยังประกาศจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ โดยให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหอก โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการลงทุน ช่วยเหลือเศรษฐกิจเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก ระดับชุมชน เชื่อมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จากอีอีซี ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบีโอไอ ร่วมกับทุน และเครื่องมือของ ธ.ก.ส.
“ผมจะตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการคลัง จะทำ ธ.ก.ส.ให้มีบทบาทใหญ่ เทียบกระทรวงเกษตรฯ ปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้เกิดให้ได้สัก 3-4 แสนราย ..... จะเอากระทรวงการคลัง เป็นฐานในการทำงาน จะหาที่ดินของกรมธนารักษ์ จัดทำพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงการเกษตร-อุตสาหกรรม ให้ชุมชน ให้ชาวบ้านมีรายได้ จะทำให้เป็นรูปธรรมเป็นรูปเป็นร่างให้ได้ ภายใต้การทำงานของคณะทำงานที่จะทำงานเชื่อมโยงกัน” นายสมคิด ลั่นวาจา เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่การพัฒนาพื้นที่เฉพาะอีอีซีเท่านั้น เวลานี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจัดทำยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เฉพาะในรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งภาคเหนือ (NEC) และภาคใต้ (SEC) ภายใต้รูปแบบการบริหารและสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอีอีซีในอีกไม่ช้า
ในการผลักดันพัฒนาพื้นที่เฉพาะ การดึงทุนใหญ่เชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่จะทำคลอดออกมาเป็นระยะ เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถกำหนดปัจจัยเงื่อนไขเอื้ออำนวย มีโอกาสทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังมีปัจจัยที่ควบคุมได้ยากที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก
เอาง่ายๆ อย่างเช่นในเวลานี้ก็คือเรื่องภัยแล้ง ที่เป็นปัญหาวนเวียนซ้ำซากมาทุกปี แม้จะมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานย่อยหลายสิบองค์กร กระจายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ตาม
สถานการณ์ภัยแล้ง ขณะนี้รัฐบาลประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง 18 จังหวัด มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรรวม 54 จังหวัด และยังมีปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด รวมทั้งข้าวนาปรังที่เกษตรกรปลูกไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยและเสี่ยงเกิดภัยแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 ทำให้น้ำต้นทุนในแม่น้ำ เขื่อน อ่าง ห้วยหนองคลองบึง ลดต่ำลงจนถึงขั้นแห้งเหือดเป็นหาดทราย วิกฤตในระดับน้ำเค็มหนุนกระทบการผลิตน้ำประปา มีเสียงเตือนไม่ให้ปลูกพืช ทำนาปรังที่ใช้น้ำมาก และแก้ปัญหาด้วยการขุดดินแลกน้ำ ลอกคูคลอง ซึ่งแม้ว่าจะขุดก็ใช่ว่าจะมีน้ำมาเติมต้องตั้งหน้ารอฟ้าฝน
สำหรับการแก้ปัญหา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา รับทราบปัญหาและมีแผนเฉพาะหน้าแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงภัยแล้งเร่งด่วนเดือนมกราคม-เมษายน เป็นช่วงที่แล้งมาก จากนั้นเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม โดยรัฐบาลจัดสรรงบกลาง 3,000 ล้านบาท และงบแต่ละกระทรวงรวม 6,000 กว่าล้านบาท ดำเนินการ 3,378 โครงการ ทั้งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จัดหาแหล่งน้ำบนผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา, ฟื้นฟูแหล่งน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ครอบคลุมพื้นที่ 1,000,000 - 2,000,000 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 942 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนว่าจ้างแรงงานซึ่งประสบภัยแล้งทำการเกษตรไม่ได้ มารับจ้างทำงานมีรายได้เสริม โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมวงเงิน 3,100 ล้านบาท ระยะเวลา 3-7 เดือน และให้กรมชลประทาน ขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 40,000 บ่อ รวมถึงยังมีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และแก้มลิงรวม 421 โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและเพิ่มการเก็บกัก
ฝ่าวิกฤตแล้งท่ามกลางแรงกดดันรอบด้าน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เชื่อมกับเศรษฐกิจระดับเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นโจทย์หินที่รอลุ้นให้สำเร็จ