ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รู้ซึ้งแก่ใจกันดีว่าการก้าวเข้าสู่ “สังคมวัยชรา” ของไทยในสภาพ “แก่ก่อนรวย หรือทั้งแก่ทั้งจน” ที่ไล่ล่าตามมาทันในเวลานี้ เป็นสภาพการณ์ที่น่าหนักอกหนักใจทั้งตัวผู้สูงวัย ลูกหลานญาติมิตร รวมทั้งรัฐบาลที่ห่วงใยแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายได้ตามสมควรหรือไม่
“ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ ครม.ให้ความเป็นห่วงมากที่สุด เพราะผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แม้จะมีเงินอุดหนุนจากรัฐ-เบี้ยยังชีพ ก็ไม่เพียงพอจึงต้องเร่งให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เริ่มต้นออมเงินเพื่อรับรอบวัยเกษียณในอนาคต....” นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อบอกว่ารัฐบาลเป็นห่วงนะ หลังจากร่ายยาวถึงรายงานการคาดการณ์ประมาณการประชากรของไทย พ.ศ.2553-2583 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอต่อครม.
ตามรายละเอียดที่สภาพัฒน์เสนอครม. จะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าอีกไม่นานเมืองไทยจะมีคนแก่เต็มบ้านเต็มเมือง ขณะที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานจะมีจำนวนลดน้อยถอยลง โดยสภาพัฒน์คาดประมาณประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี ซึ่งในปี 2583 ประมาณการว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน
สำหรับประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (ร้อยละ 16.9) ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน (ร้อยละ 12.8) ในปี 2583 ส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด
สอดคล้องกับตัวเลขที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และปี 2574 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เพราะจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
รายงานของสภาพัฒน์ บอกชัดว่า ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน (ร้อยละ 65) ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน (ร้อยละ 56) ในปี 2583 ขณะอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563
นั่นหมายความว่า Productivity หรือค่าเฉลี่ยของประสิทธิภาพการผลิตจะต่ำลง เพราะมีคนสูงวัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ตัวแปรอีกหนึ่งที่สภาพัฒน์รายงานต่อครม. คือ อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน
แปลความจากข้อมูลข้างต้นได้ว่า ผู้หญิงสูงวัยอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น แต่นั่นหมายถึงจะมีภาระจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นด้วย เพราะโรคของผู้หญิงจะซับซ้อนกว่าผู้ชาย ดูง่ายๆ จากค่าเบี้ยประกันสุขภาพ เพศหญิง จะสูงกว่าชาย และอายุยิ่งเยอะ เบี้ยยิ่งแพง
สำหรับการเตรียมรับมือ รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติตามวาระแห่งชาติข้างต้น ยังเป็นแผนที่ยังขาดความชัดเจน ทั้งกรอบระยะเวลา งบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนการวัดประสิทธิผล ความชัดเจนในการดูแลผู้สูงวัยของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้เวลานี้มีเพียงเบี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 600 บาท เท่านั้น
ประเด็นเรื่องหลักประกันรายได้ยามชรา หากพิจารณาจากระบบสวัสดิการเพื่อรองรับกลุ่มคนทำงานในปัจจุบัน 37 ล้านคน พบว่า กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีระบบสวัสดิการ มีจำนวน 2 ล้านคน พนักงานเอกชนที่มีระบบประกันสังคมรอง 15 ล้านคน ขณะที่อีก 20 ล้านคน เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้าง และแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับ รัฐบาลได้ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ส่งเสริมให้ออมต่อเนื่องไว้ใช้หลังเกษียณ โดยรัฐเติมเงินให้อีกส่วนหนึ่ง
แต่กองทุนการออมแห่งชาติ ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น เมื่อดูจากงบที่ได้รับจัดสรร และจำนวนประชาชนที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน โดยรายงานผลการดำเนินงานของ กอช. ที่รายงานต่อครม.เมื่อเดือนกันยายน 2562 ระบุว่า กอช.ได้รับจัดสรรงบจากรัฐบาล จำนวน 144 ล้านบาท มีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกจำนวน 610,683 คน โดยปี2562 กอช.ได้รับจัดสรรงบ 299 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกให้ได้ 700,000 คน และปี 2563 ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ 1,766 ล้านบาท ตั้งเป้ามีสมาชิก 1.4 ล้านคน
สภาพทั้งแก่ทั้งจน ทำให้เสียงเรียกร้องจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งผลักดันร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” เพื่อยกระดับให้ประชาชนทุกคนเมื่ออายุถึง 60 ปี มีสิทธิได้รับบำนาญแห่งชาติอย่างเสมอภาคกันโดยไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติ ครม. โดยเปลี่ยนเงินจ่ายเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท เป็น 3,000 บาทขึ้นไปต่อเดือนอ้างอิงตามเส้นความจน แต่รัฐบาล ปัดว่าเป็นไปได้ยากเพราะจะเป็นภาระการคลังมากเกินไป
นอกเหนือจากเรื่องการออมหรือระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงแล้ว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในภาคระบบสาธารณสุขของไทยเพิ่มขึ้นปีละ 12% ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปี ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของไทยสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบั่นทอนรายได้ของคนในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวราว 195,784 บาทต่อปี
ในอีกมุมหนึ่งนั่นหมายความว่า ภาระของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งดูแลประชาชนอยู่ในระบบนี้กว่า 48 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้งบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเพิ่มขึ้นแต่ภาพรวมยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี สะท้อนว่าประเทศไทยยังสามารถจ่ายได้เพิ่มอีก โดยล่าสุด บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เคาะงบ “บัตรทอง” เพื่อเสนอต่อครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ที่จำนวน 202,704.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,388.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 จากงบฯ ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 190,366 ล้านบาท
ต้องถือว่ายังดีที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับสังคมผู้สูงวัย ส่วนระบบรัฐสวัสดิการเบี้ยยังชีพต่อหัวที่หวังเพิ่มขึ้นคงต้องเข็นกันอีกนาน และคนไทยส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นสังคมวัยชราที่ทั้งแก่ทั้งจน