xs
xsm
sm
md
lg

จากงานวิจัย : กิน “อาหาร” ต้านฝุ่นพิษ PM2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


ภาพจาก pixabay.com
ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


ดูเหมือนว่าปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 จะกลายเป็น New Normal หรือความปกติในรูปแบบใหม่ ที่คนไทยจำต้องทนอยู่กับมันซึ่งหากจะจับจากอารมณ์คนรอบข้างก็จะมีตั้งแต่กลุ่มที่ อ่อนไหวมากเป็นพิเศษจนถึงกลุ่มที่ไม่สนไม่แคร์อะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยากต่อการปฏิเสธคือ เรื่องฝุ่นกลายเป็นอีกหนึ่ง “ตัวชี้วัด” ที่ทั้งฝ่ายค้านและประชาชนทั่วไปกำลังจับตามองว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่? ฝ่ายบริหารจึงต้องเผชิญกับทั้งฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และฝุ่นการเมืองที่กำลังตลบอบอวลคอยบ่อนทำลายสุขภาพจิตของผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อนประเทศอยู่ทุกครั้งที่มีการแจ้งข่าวว่าค่า AQI หรือค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงเกินมาตรฐาน


สำหรับประชาชนที่มีฐานะหากเป็นไปได้การซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ประจำบ้านก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะข้างในฝุ่นมีสารพิษหลากหลายชนิดรวมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพรวมอยู่ด้วย นอกจากการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นแล้วอีกมาตรการที่สำคัญคือการทานอาหารเสริมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐควรให้ความรู้กับประชาชนด้วยเช่นกัน ผู้เขียนได้ทำการทบทวนวรรณกรรมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกทานอาหารบางชนิดรวมทั้งอาหารเสริมเช่นวิตามิน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากการได้รับมลพิษทางอากาศไว้ดังนี้

• สารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane)

ในผักบล็อกโคลีจะอุดมไปด้วยสารกลูโคราฟานิน (glucoraphanin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เนื่องจากช่วงที่ค่ามลพิษทางอากาศสูง สารพิษจำนวนมากจะเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจก่อให้เกิด ปฏิกิริยาการอักเสบ (Inflammatory Response) อันเนื่องจากภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) หรือการที่เซลล์ในร่างการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ (Free Radical) ดังนั้นการทานผักบล็อกโคลีเป็นประจำในช่วงที่ค่า AQI สูงจึงเท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ในระดับหนึ่งแต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือผักบล็อกโคลีจะต้องไม่ผ่านกรรมวิธีปรุงสุกในระยะเวลาที่นานเกินไปเนื่องจากอาจลดปริมาณของสารซัลโฟราเฟน ให้ลดต่ำลงได้ [1-3] นอกจากการรับประทานผักบล็อกโคลีแล้ว ผู้อ่านยังมีทางเลือกอื่นซึ่งสามารถรับ สารซัลโฟราเฟน ได้เช่นการเลือกอาหารที่มีผักคะน้า ผักกวางตุ้ง แขนงผัก ดอกกะหล่ำ และ หัวบีต เป็นต้น

• วิตามินซี (Vitamin C) และวิตามินอี (Vitamin E)

ยังเป็นที่ถกเกียงกันอยู่ในกลุ่มนักวิชาการว่าวิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสุขภาพในช่วงที่คุณภาพอากาศแย่ได้จริงหรือ?

งานวิจัยของ Ian S. Mudway จาก King’s College London พบว่า วิตามินซีและ วิตามินอี อาจช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศด้านอื่น แต่ไม่ใช้กับกรณีของโอโซน [4] เหรียญมีสองด้าน ลูกเต๋ามีหกด้าน ทุกอย่างมีดีมีเสียในตัวมันเอง โอโซน ก็เช่นเดียวกัน โอโซนช่วยฆ่าเชื้อโรคร้ายในอากาศได้ แต่ในขณะเดียวกันหากเราสูดเอาโอโซนในปริมาณที่มากเกินไปมันกลับกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย เพราะอาจก่อให้เกิดอาการ โรคหอบหืด (Asthma) เจ็บแน่นหน้าอก อาการระคายเคืองคอ อาการไออย่างรุนแรงได้ ทางสำนักพิทักษ์สิงแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US-EPA จึงให้คำนิยามเกี่ยวกับโอโซนไว้สั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “ดีงามเมื่ออยู่สูง แต่เลวร้ายเมื่ออยู่ต่ำ” ความหมายคือเมื่อโอโซนอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) หรือชั้นบรรยากาศของโลกที่มีระยะตั้งแต่ความสูง 10 กิโลเมตรถึง 50 กิโลเมตร โอโซนจะทำหน้าที่คอยดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอันตรายอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งเท่ากับทำหน้าที่คอยเป็นโล่ป้องกันไม่ให้ผิวมนุษย์ถูกทำร้ายด้วยแสงยูวี ในช่วงที่เกิดวิกฤตคุณภาพอากาศ ระดับความเข้มข้นของโอโซนอาจพุ่งสูงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในบางพื้นที่ ซึ่งการทานวิตามินซีและวิตามินอี อาจไม่ช่วยอะไรมาก

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงที่ค่าฝุ่นพุ่งขึ้นสูงจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) ก็เพิ่มขึ้นตามตัว [5-7] จึงเป็นที่มาของการศึกษาว่า วิตามินซีและวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วงที่เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศได้หรือไม่? น่าเสียดายที่งานวิจัยหลายชิ้นยังไม่พบผลสำเร็จที่เด่นชัดของสองวิตามินนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอันเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศ [8-10] อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่อาศัยใน เม็กซิโกซิตี้ กลับพบว่าอาการโรคหอบหืดอันเนื่องจากสัมผัสกับโอโซนในระดับความเข้มข้นที่สูง สามารถทุเลาลงได้ด้วยการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอี [11] สำทับด้วยงานวิจัยของ Isabelle Romieu จากสถาบันวิจัย Instituto Nacional de Salud Publica ซึ่งยืนยันว่าการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอีในประมาณที่มากกว่าต้องการในแต่ละวัน สามารถช่วยทุเลาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก [12] ความไม่ลงรอยในผลงานวิจัยของสองกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทำให้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ว่าการทาน วิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้จริงหรือไม่ ซึ่งคงต้องรอผลงานวิจัยอีกจำนวนมากมายืนยันเพื่อออกเป็นมาตรการป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสำหรับภาครัฐในอนาคต แต่หากผู้อ่านท่านใดอยากหาผลไม้ที่วิตามินซีและวิตามินอีสูงมารับประทานเพื่อความสบายใจ (แม้ว่าจะมีนักวิจัยบางกลุ่มออกมายืนยันว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรมากก็ตาม) ในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันก็ควรลองพิจารณากลุ่มผักผลไม้ต่อไปนี้

ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
ฝรั่ง (228 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [13]) กีวี (93 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [14]) พริกหยวก (128 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [15]) สตอเบอรี่ (59 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [16]) ส้ม (53 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [17])

ผักผลไม้ที่มีวิตามินอีสูง
เมล็ดทานตะวัน (26.1 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [18]) อัลมอนด์ (25.6 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [19]) อะโวคาโด (2.1 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [20]) ผักปวยเล้ง (2.1 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [21])

• โอเมก้า 3 (Omega 3)

ผลงานวิจัยจากการทดลองให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวน 65 คนทดลองทานน้ำมันปลาในปริมาณ 2.5 กรัมต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน พบว่า PM2.5 ส่งผลกระทบน้อยมากต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรภาวะสุขภาพเช่น ระดับการอักเสบในร่างกาย (Blood Inflammation) การแข็งตัวของเลือด (Coagulation) การทำงานของหลอดเลือดหัวใจ (Endothelial function) และภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานน้ำมันปลา ความหมายคือสารโอเมก้า 3 ที่อยู่ในน้ำมันปลาสามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสู้กับฝุ่นพิษในอากาศได้ [22]

วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง
เมล็ดแฟลกซ์ หรือเมล็ดลินิ (22,813 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [23]) ปลาแซลมอน (2,501 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [24]) ถั่ววอลนัท (9,080 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [25]) น้ำมันคาโนลา หรือ น้ำมันเรพสีด (9,137 มิลิกรัมต่อ 100 กรัม [26])

สรุปคือ ยังมีความเห็นต่างระหว่างกลุ่มนักวิชาการที่มองเห็นประโยชน์ในการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอีสำหรับลดความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มมองว่าสองวิตามินนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก การรับประทานผักที่อุดมไปด้วย สารซัลโฟราเฟน เช่น บล็อกโคลี คะน้า กวางตุ้ง ควบคู่ไปกับวัตถุดิบที่มีโอเมก้า 3 สูงอย่างเช่น ปลาแซลมอน หรือ ถั่ววอลนัท น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการปรุงอาหารสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายไว้สู้กับฝุ่นพิษในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควัน

เอกสารอ้างอิง
[1] M. Nestle, Broccoli sprouts in cancer prevention, Nutrition reviews, 56 (1998) 127-130.
[2] Y. Zhang, P. Talalay, C.G. Cho, G.H. Posner, A major inducer of anticarcinogenic
protective enzymes from broccoli: isolation and elucidation of structure, Proceedings of the
National Academy of Sciences of the United States of America, 89 (1992) 2399-2403.
[3] M.A. Riedl, A. Saxon, D. Diaz-Sanchez, Oral sulforaphane increases Phase II antioxidant
enzymes in the human upper airway, Clinical immunology, 130 (2009) 244-251.
[4] Mudway, I. S., Behndig, A. F., Helleday, R., Pourazar, J., Frew, A. J., Kelly, F. J., & Blomberg, A. (2006). Vitamin supplementation does not protect against symptoms in ozone-responsive subjects. Free Radical Biology and Medicine, 40(10), 1702-1712.
[5] Peters, A., Liu, E., Verrier, R. L., Schwartz, J., Gold, D. R., Mittleman, M., ... & Dockery, D. W. (2000). Air pollution and incidence of cardiac arrhythmia. Epidemiology, 11(1), 11-17.
[6] Brook, R. D., Rajagopalan, S., Pope III, C. A., Brook, J. R., Bhatnagar, A., Diez-Roux, A. V., ... & Peters, A. (2010). Particulate matter air pollution and cardiovascular disease: an update to the scientific statement from the American Heart Association. Circulation, 121(21), 2331-2378.
[7] Pope III, C. A., Burnett, R. T., Thurston, G. D., Thun, M. J., Calle, E. E., Krewski, D., & Godleski, J. J. (2004). Cardiovascular mortality and long-term exposure to particulate air pollution: epidemiological evidence of general pathophysiological pathways of disease. Circulation, 109(1), 71-77.
[8] N.R. Cook, C.M. Albert, J.M. Gaziano, E. Zaharris, J. MacFadyen, E. Danielson, J.E.
Buring, J.E. Manson, A randomized factorial trial of vitamins C and E and beta carotene in the
secondary prevention of cardiovascular events in women: results from the Women's Antioxidant
Cardiovascular Study, Archives of internal medicine, 167 (2007) 1610-1618.
[9] Y. Ye, J. Li, Z. Yuan, Effect of antioxidant vitamin supplementation on cardiovascular
outcomes: a meta-analysis of randomized controlled trials, PloS one, 8 (2013) e56803.
[10] H.D. Sesso, J.E. Buring, W.G. Christen, T. Kurth, C. Belanger, J. MacFadyen, V. Bubes,
J.E. Manson, R.J. Glynn, J.M. Gaziano, Vitamins E and C in the prevention of cardiovascular
disease in men: the Physicians' Health Study II randomized controlled trial, Jama, 300 (2008)
2123-2133.
[11] Romieu, I., Sienra-Monge, J. J., Ramírez-Aguilar, M., Téllez-Rojo, M. M., Moreno-Macías, H., Reyes-Ruiz, N. I., ... & Hernández-Avila, M. (2002). Antioxidant supplementation and lung functions among children with asthma exposed to high levels of air pollutants. American journal of respiratory and critical care medicine, 166(5), 703-709.
[12] Romieu I, Sienra-Monge JJ, Ramı´rez-Aguilar M et al. Antioxidant supplementation and lung functions among children with asthma exposed to high levels of air pollutants. Am J Respir Crit Care Med 2002; 166: 703–709
[13] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/173044/nutrients
[14] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/168153/nutrients
[15] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170108/nutrients
[16] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/167762/nutrients
[17] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169097/nutrients
[18] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170563/nutrients
[19] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170567/nutrients
[20] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/171705/nutrients
[21] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/168463/nutrients
[22] Lin, Z., Chen, R., Jiang, Y., Xia, Y., Niu, Y., Wang, C., ... & Yin, G. (2019). Cardiovascular benefits of fish-oil supplementation against fine particulate air pollution in China. Journal of the American College of Cardiology, 73(16), 2076-2085.
[23] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169414/nutrients
[24] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/175168/nutrients
[25] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170187/nutrients
[26] https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/172336/nutrients



กำลังโหลดความคิดเห็น