xs
xsm
sm
md
lg

อย่าติดกับดัก PM2.5 จนละเลยมัจจุราชเงียบที่แท้จริง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


ภาพจาก pixabay.com
ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


เกือบสิบกว่าปีตั้งแต่ผมจบปริญญาเอกมา ยังไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่คนไทยจะตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของ PM2.5 เท่ากับช่วงเวลาในปี พ.ศ.2562 นับตั้งแต่การที่ระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองทั้ง PM2.5 และ PM10 สูงเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานครในช่วงต้นปีและมาหนักสุดที่ภาคเหนือตอนบนในช่วงใกล้เลือกตั้ง และเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สามก็มีเหตุมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในเขตภาคใต้ เรียกได้ว่าเป็นปีของฝุ่นพิษเลยก็ว่าได้ ส่วนสาเหตุคงไม่ต้องสาธยายกันมาก เพราะหลายท่านคงได้ทราบจากสื่อหลายสำนัก จากคำพูดและการอธิบายของนักวิชาการหลายท่าน ว่าแหล่งกำเนิดมีอะไรบ้าง ล่าสุดทาง กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”(ISBN: 978-616-316-535-0) โดยได้มีการระบุแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองไว้ 5 ส่วนหลักได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และ หมอกควันข้ามแดน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการด้านมลพิษทางอากาศทั่วโลก

ถ้าเปรียบร่างกายของเราเหมือนกับธนาคารและสุขภาพคือเงินที่ถูกฝากไว้ในธนาคาร เหล่าวายร้ายที่กำลังเข้ามาปล้นเงินของเราในธนาคารก็ไม่ต่างอะไรกับ สารพิษและเชื้อจุลินทรีย์ที่แฝงตัวอยู่ในฝุ่น PM2.5 ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆฝุ่น PM2.5 ก็คือยานพาหนะที่โจรผู้ร้าย (สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ โลหะหนัก) ขับเข้ามาปล้นเงิน (สุขภาพ)ในธนาคาร (ร่างกายของเรา)

ความน่ากลัวที่แท้จริงคือ สังคมและสื่อส่วนใหญ่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า โจรผู้ร้ายกำลังขับรถเข้ามาปล้นธนาคารสุขภาพของเรากี่คัน เช่น รายงานส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การรายงานค่า ฝุ่น PM2.5 ว่าสูงเกินมาตรฐานที่ทางกรมควบคุมมลพิษหรือองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้กี่เท่า โดยมิได้ระบุต่อไปว่า โจรผู้ร้าย ที่ซ่อนอยู่ในฝุ่น PM2.5 มีค่าเท่าไหร่?

ประเด็นนี้สำคัญมากซึ่งแม้แต่นักวิชาการด้วยกันเองบางท่านก็ยังละเลยและไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ผมลองสมมุติตัวอย่างแบบสุดโต่งไว้สักกรณี สมมุติว่า การตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่จุดตรวจวัดหนึ่งมีค่า 20 มคก./ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ทั้งทางกรมควบคุมมลพิษและองค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง เราจะสามารถสรุปได้เลยหรือไม่ว่า ค่าสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์และโลหะหนักอีกหลายชนิดจะต้องต่ำกว่าค่ามาตรฐานด้วยเช่นเดียวกัน? คำตอบคือไม่เสมอไปครับ ตามที่ได้อธิบายไว้แล้วในเบื้องต้นว่าค่า PM2.5 เป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดปริมาณของยานพาหนะที่สามารถลำเลียงเหล่าวายร้ายเข้าสู่ปอดของท่าน แต่การที่ค่า PM2.5 สูงไม่ได้หมายความว่าสารพิษจะต้องสูงด้วยและในทางกลับกันการที่มีค่า PM2.5 ต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าค่าสารพิษก็จะต้องต่ำเสมอไป

เหนือสิ่งอื่นใด “ป่า” เองก็ปล่อย PM2.5 ด้วยเช่นกัน!!

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องตัดป่าเพื่อลด PM2.5 ด้วยอย่างนั้นหรือ? อ้าวไหนว่า “ป่า” ช่วยลดฝุ่นไง? คำตอบคือป่าทำหน้าที่ทั้งสร้าง PM2.5 และดักจับฝุ่น PM2.5 ไปพร้อมๆกันครับ ประเด็นนี้คือหัวข้อวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในสายงานมลพิษทางอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการสร้าง ละอองลอยอินทรีย์ทุติยภูมิ หรือ SOA (Secondary Organic Aerosol) ซึ่งจะพัฒนาต่อเป็น PM2.5 ในชั้นบรรยากาศเขตร้อนยังมีไม่มากเท่าที่ควร

ในภาพรวมการมีพื้นที่ป่าเยอะ ๆ ก็สามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศและสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลก็ควรมีองค์ความรู้ด้วยเช่นกันว่า ป่า ในแต่ละพื้นที่ปล่อย PM2.5 ออกมาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละเท่าไหร่? ปัจจัยทางด้านฤดูกาลส่งผลมากน้อยแค่ไหนต่อการปล่อย PM2.5 จากป่า? ป่าในแต่ละจังหวัดปล่อย PM2.5 ออกมาเท่ากันหรือต่างกัน? แล้วถ้าเกิดการเผาป่าขึ้นมาสัดส่วนของฝุ่น PM2.5 ที่ปล่อยออกมาจากต้นไม้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผา? คำถามเหล่านี้นักวิจัยกำลังหาคำตอบกันอยู่ครับ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้สบายใจได้ก็คือองค์ประกอบทางเคมีใน PM2.5 ที่ถูกปล่อยออกมาจากป่ามีความเป็นพิษน้อยกว่า PM2.5 ที่มาจากไอเสียยานพาหนะ ไฟป่า การเผาเศษชีวมวลในที่โล่ง การปิ้งย่าง และ ภาคอุตสาหกรรม มากหลายเท่า

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องทำความเข้าใจในภัยร้ายที่แท้จริงซึ่งซ่อนเร้นอยู่ใน PM2.5 มากขึ้น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมี กฎหมายอากาศสะอาด และหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่คล้ายกับ สำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล หรือมิเช่นนั้นก็ร่วมกันใช้ปอดของพวกเราฟอกอากาศให้กับประเทศนี้ด้วยกันต่อไปครับ

หมายเหตุ: สำหรับท่านผู้อ่านที่อยากค้นคว้าต่อเกี่ยวกับบทบาทของต้นไม้และป่าในการปล่อยและดักจับ PM2.5 สามารถอ่านผลงานวิจัยข้างล่างนี้ได้ครับ

Cao, F., Zhang, S. C., Kawamura, K., Liu, X., Yang, C., Xu, Z., ... & Song, W. (2017). Chemical characteristics of dicarboxylic acids and related organic compounds in PM2. 5 during biomass-burning and non-biomass-burning seasons at a rural site of Northeast China. Environmental pollution, 231, 654-662.

Hong, Z., Zhang, H., Zhang, Y., Xu, L., Liu, T., Xiao, H., ... & Wu, X. (2019). Secondary organic aerosol of PM2.5 in a mountainous forest area in southeastern China: Molecular compositions and tracers implication. Science of the Total Environment, 653, 496-503.

Liu, X., Yu, X., & Zhang, Z. (2015). PM2. 5 concentration differences between various forest types and its correlation with forest structure. Atmosphere, 6(11), 1801-1815.

Mancilla, Y., Herckes, P., Fraser, M. P., & Mendoza, A. (2015). Secondary organic aerosol contributions to PM2. 5 in Monterrey, Mexico: Temporal and seasonal variation. Atmospheric Research, 153, 348-359.

Zhu, W., Luo, L., Cheng, Z., Yan, N., Lou, S., & Ma, Y. (2018). Characteristics and contributions of biogenic secondary organic aerosol tracers to PM2. 5 in Shanghai, China. Atmospheric Pollution Research, 9(2), 179-188.



กำลังโหลดความคิดเห็น