xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! ค่า PM 2.5 เมืองพัทยา สูงถึง 72 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.เมตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผงะ! ค่า PM 2.5 เมืองพัทยา สูงถึง 72 ไมโครกรัมต่อลบ.เมตร เกินกำหนดค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดแจ้งเตือน ปชช.



วันนี้ ( 17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพอากาศโดยทั่วไปของเมืองพัทยา จากการตรวจสอบในแอปพลิเคชั่น Air Visual เมื่อเวลา 15.30 น.ว่าจากการวัดค่าอากาศพบว่า เมืองพัทยา มีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 34 องศาเซลเซียส แรงลม 16.6 กม.ต่อ ชม. ค่า PM 2.5 สูงถึง 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ถูกต่อสุขภาพ หรือสูงกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลก


ทำให้บรรยากาศในพื้นที่เมืองพัทยาโดยทั่วไปขมุกขมัว ไม่สามารถมองทัศนีย ภาพได้อย่างชัดเจน โดยจากเฉพาะจากตึกสูงและพื้นที่อ่าวพัทยา ที่มีลักษณะเหมือนหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ


และเหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรวจสอบหรือประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้น
 
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศหรือ (AQI) คือตัวเลขที่ใช้เพื่อสื่อสารว่าอากาศมีมลภาวะแค่ไหน เมื่อ AQI มีค่าสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งประเทศต่างๆ จะมีดัชนีคุณภาพอากาศเป็นของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติที่ต่างกัน


และมาตราส่วนที่ใช้ในแอปพลิเคชั่น Blueair Friend อ้างอิงจากมาตราส่วนของ Environmental Protection Agency AQI นี้จะถูกแบ่งออกเป็น 6 หมวดที่แสดงถึงระดับของความกังวลทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยค่า AQI ที่มากกว่า 162 แสดงถึงคุณภาพอากาศที่เป็นอันตราย ต่ำกว่า 50 หมายถึงคุณภาพอากาศดี



อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าในช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้เคยทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานราชการทุกภาคส่วน รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายกเมืองพัทยา นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และนายกเทศบาลเมืองทุกแห่ง ระบุว่าค่าฝุ่น P M 2.5 ตามกำหนดองค์การอนามัยโลก ไทยได้มีการกำหนดค่าไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยมีค่าเฉลี่ยรายปีและค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไว้ที่ 25 และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


โดยมีแหล่งกำเนิด ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต และการรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 30 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ PM 2.5


จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง ตามคำเตือนขององค์การอนามัยโลก


และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์คุณภาพอากาศจังหวัดชลบุรี พบว่ามีค่าสูงกว่ามาตรฐานในพื้นที่ ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี ที่มีค่า P M 2.5 เท่ากับ 59 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร , ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา ค่า P M 2.5 เท่ากับ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แบะ ต. บ่อวิน อ.ศรีราชา ค่า P M 2.5 เท่ากับ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร


จึงให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสอด คล้องต่อสถานการณ์ โดยดำเนินการลดแหล่งเกิดฝุ่นควัน ควบคุมการเผาที่จะส่งผลให้เกิดฝุ่นควันในที่โล่งอย่างเข้มงวด เช่น การเผาขยะ หญ้า และเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงการเผาอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน การลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันที่เกิดจากเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล


นอกจากนั้นยังให้เร่งรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากหน่วยราชการและประชาชนในการลดการใช้รถยนต์ เพื่อลดจำนวนยานพาหนะในเขตเมือง ตลอดจนการดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และลดปัญหาฝุ่นละอองบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เขตถนนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการฉีดล้างทำความสะอาดในช่วงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายฯลฯ










กำลังโหลดความคิดเห็น