xs
xsm
sm
md
lg

สอบตกมาตรฐานสากล “ซื้อรถตามใจ-ไม่เรียนขับขี่” ออกถนนไปตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดอันดับให้ประเทศไทยลงมาอยู่อันดับ 9 0ากอันดับ 2 ของโลกแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ใช่สถิติที่น่าพึงพอใจ เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงมากถึง 22,491 รายต่อปี โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์

จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก พบว่า จำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศจนถึงปัจจุบันมีประมาณ 38 ล้านคัน เป็นรถจักรยานต์ประมาณ 20 กว่าล้านคัน แต่มีใบอนุญาตขับขี่เพียง 13 ล้านใบเท่านั้น

ประเด็นสำคัญ คือ ระบบที่จะควบคุมการนำรถออกสู่ถนน ถือว่าสอบตกมาตรฐานสากลทั้งหมด


นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) อธิบายว่า เรื่องนี้ถ้าจะเอามาตรฐานสากลมาจับถือว่า ประเทศไทยสอบตกกันหมดเลย ยกตัวอย่าง รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เราใช้ผิดกันมาตลอด ทั้งท่านั่ง ท่าจับมือ การใช้เบรก การเอียง การทรงตัว การซ้อน เพราะเราไม่ได้ถูกสอนให้มีการใช้อย่างถูกวิธีมาตั้งแต่ต้น แล้วปล่อยให้คนของเราเสี่ยงเอาเอง เพราะการไปสอบใบอนุญาตขับขี่ ก็ดูแค่ถอยเข้าถอยออกก็ผ่านแล้ว และปล่อยให้คนของเราไปลองผิดลองถูกเสี่ยงตายกันเองบนถนนมานับศตวรรษ จึงไม่แปลกที่มีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์จำนวนมาก ตรงนี้คือปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า การที่เราจะใช้รถ ตามมาตรฐานสากล จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การพิจารณาประเภทของรถให้ตรงกับภารกิจของงานที่จะใช้ ดังนั้น การจะเลือกซื้อรถมาขับขี่ต้องพิจารณาถึงอายุ เพศ ขนาดรถที่พอดีกับสรีระ น้ำหนัก ความเร็ว ความแรง เป็นต้น แต่บ้านเราข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเลย เพราะเราไม่สนใจ เป็นการถือเอาความสะดวกเข้าว่า ทั้งเน้นเรื่องราคาถูกบ้าง เอาราคาแพงไว้ก่อนบ้าง หรือเอาเรื่องความแรงเป็นหลักบ้าง หรือเอาความเท่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ในเมืองไทย คือ มีการเอารถบิ๊กไบค์ไปจ่ายตลาด หรือการที่ผู้ปกครองให้เด็กนักเรียนขี่บิ๊กไบค์ เป็นการสะท้อนว่า เราไม่สนใจเรื่องมาตรฐานพวกนี้เลย


2.ก่อนการใช้งาน ตามมาตรฐานสากลจะต้องไปเรียน ไปฝึกขับขี่จนชำนาญ จึงค่อยไปสอบเอาใบอนุญาตขับขี่ แต่บ้านเรายิ่งถ้าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากไม่เรียนแล้ว ยังเป็นการลองผิดลองถูกกันเองทั้งประเทศ เพราะเป็นลักษณะของการที่พี่สอนน้อง พ่อสอนลูก ไม่มีการเข้าโรงเรียนไปเรียนขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกต้องเลย ประกอบกับเมื่อฝึกแล้วบ้านเราไปขอใบอนุญาตขับขี่ออกมาก็เป็นแค่แบบเบสิก ยังขาดทักษะความชำนาญ และเอาสติกเกอร์ไปติดท้ายรถว่า มือใหม่หัดขับ แล้วปล่อยออกสู่ท้องถนน เป็นประเทศเดียวในโลกที่ปล่อยให้ประชากรทำเช่นนี้ ปล่อยให้คนไม่มีทักษะความชำนาญขึ้นสู่ถนน แล้วเอาชีวิตของคนเหล่านี้ไปเสี่ยงกับคนส่วนรวม เป็นส่วนที่ขัดกับมาตรฐานสากลอย่างยิ่ง

“เราอยู่ในภาวะใกล้เกลือกินด่าง ภาครัฐออกกฎเกณฑ์ไปสอบใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเป็นแบบเบสิกมาก คือ ถอยเข้าถอยออก สตาร์ท เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาแค่นั้น ทำให้คนไม่สนใจในการเข้าไปขี่หรือไปขับในโรงเรียนสอนขับรถ ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนสอนขับรถไม่น้อย ดังนั้น เมื่อรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ ก็เลยทำตามที่รัฐเปิดช่อง คือ สอนบ้างไม่สอนบ้างก็ออกใบสำคัญให้ บางคนไปสอบก็นั่งดูเล่นโทรศัพท์ ขณะที่ความพร้อมของภาคเอกชนบอกได้เลยว่าล้ำหน้าภาครัฐไปไกลแล้ว ค่ายรถแต่ละค่ายมีสนามฝึกของตัวเอง มีครูฝึก มีรถฝึก มีโปรแกรมฝึกให้ เวลาขายรถออกคูปองมาเลย อย่างมอเตอร์ไซค์ให้ 3 ใบ สามารถไปสนามฝึกขับขี่ปลอดภัยได้ฟรีถึง 3 ครั้ง แต่ปัญหา คือ เมื่อภาครัฐไม่ให้ความสำคัญ ไม่ตรวจไม่จับไม่คัดกรอง ผู้คนใช้มอเตอร์ไซค์เลยไม่ให้ความสำคัญกับการไปเรียน” นายพรหมมินทร์ กล่าว


3.เมื่อขึ้นสู่ถนนแล้ว จะต้องมีกลไกที่ดีในการคัดว่า ใครไม่มีประสิทธิภาพไม่ให้ขึ้นหรืออกสู่ท้องถนน หรือใครที่ขึ้นไปแล้ว เมื่อกระทำความผิดบ่อยๆ ก็ต้องเอาออกจากถนน แต่บ้านเราพบว่า กลไกตรงนี้ไม่มีประสิทธิภาพ สะท้อนได้จาก เรายังปล่อยให้เด็กอายุ 15 ปีใช้มอเตอร์ไซค์กันทั้งประเทศ เด็กตัวเล็กๆ ขี่มอเตอร์ไซค์กันไปโรงเรียน กลุ่มคนทั่วไปที่ขับรถก็ไม่แน่ใจว่า มีใบขับขี่ครบหรือไม่ เพราะกลไกเราไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง จะเช็กกันก็เมื่อชนแล้วตายเท่านั้น

“ถ้ากลไกดีพอต้องสกัดกั้น คัดกรองผู้คนไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ออก แต่กลไกของเราไม่ทำงานเลย มีค่าเท่ากับศูนย์ เมื่อเกิดเหตุไปแล้ว ชนคนตายไปแล้ว ก็ประสบปัญหา ไม่สามารถตัดสินหรือไม่สามารถระบุได้ว่า ใครผิดถูกได้อย่างชัดเจน กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบแทบจะบอกได้ว่าล่ม ถ้ามีเงินก็มีแรงสู้หน่อย ถ้าไม่มีก็ขาดแรงไปสู่ในชั้นศาล และคนผิดไม่ได้ถูกคัดออกจริง คนผิดยังสามารถกลับมาขับรถได้เหมือนเดิม ยิ่งเป็นคนผิดที่มีเงิน มีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต แทบแตะไม่ได้เลย จึงไม่แปลกที่คนไทยตายบนถนนปีละ 2 หมื่นกว่าราย” นายพรหมมินทร์ กล่าว


นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า ตนมองว่า ภาครัฐต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการฝึกการขับขี่ก่อนมาสอบรับใบอนุญาต และต้องเป็นการเรียนอย่างจริงจัง เพื่อให้คนที่จะออกสู่ถนนมีความชำนาญจริงๆ มีวินัย จะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ซึ่งทุกวันนี้มีการพัฒนาหลักสูตร “ทักษะการขับขี่เชิงป้องกัน (Defensive Driving) แล้ว ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ยุโรปใช้กันแล้ว และตอนนี้ทาง สคอ.ก็มีความร่วมมือกับ “ฮอนด้า” ในการทำหลักสูตรฝึกในเชิงป้องกันแล้ว

“การฝึกทักษะขับขี่เชิงป้องกัน ไม่ใช่ฝึกเพื่อเอาใบอนุญาตขับขี่เท่านั้น แต่ฝึกเรียนฝึกขับแบบให้มีชีวิตรอดและปลอดภัย ซึ่งต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือ หลักสูตรทั่วไปแค่ขี่เป็น ขี่ได้ แต่ขับขี่เชิงป้องกัน หมายความว่าขณะที่ขี่ต้องมีการคิดวิเคราะห์ถึงสภาพถนน การจราจร การใช้งานร่วมกัน สภาพรถตัวเองไปตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ฮอนด้ามีสนามทุกภาค 4 สนามใหญ่ และในระดับจังหวัด เอเยนต์ที่ขายก็มีสนามฝึกที่พอดีกับสภาพพื้นที่ ส่วนรถยนต์ สคอ.ก็ไปจับมือกับโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ของบริษัทในเครือเอสซีจี ซึ่งเป็นสนามฝึกขนาดใหญ่ สามารถเข้าไปฝึกขับรถยนต์ รถบรรทุก รถลาก รถพ่วงจูง และเป็นหลักสูตรแบบการขับขี่เชิงป้องกันด้วย” นายพรหมมินทร์กล่าว


นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า การผลักดันเรื่องหลักสูตรทักษะขับขี่เชิงป้องกัน อาจต้องเริ่มจากเอาคนที่ทำผิดก่อน คนที่กระทำความผิดเป็นต้นว่า ประสบอุบัติเหตุ ทำให้เสียชีวิต คดีเมา คดีเร็ว เมื่อเสียค่าปรับถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ในบทส่งท้ายการบังคับใช้กฎหมาย คือ อาจมีการยึดและพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งตรงนี้เปิดวงเล็บไว้ว่า กรณีถูกพักใช้ใบอนุญาต คะแนนที่ตำรวจทำเป็น 12 แต้ม ถ้าไปเข้าฝึก เข้าเรียน โรงเรียนสอนขับรถที่ได้มาตรฐาน กรมขนส่งทางบกรับรอง ก็มีสิทธิเอาคะแนนมาเคลียร์แต้มได้ ก็อาจจะเป็นหนทางนี้ในการที่จะขอให้เข้าฝึกด้วยหลักสูตรทักษะขับขี่เชิงป้องกัน ไม่ใช่หลักสูตรทั่วไป

แต่ที่น่าห่วงก็คือ ถ้าเป็นของภาครัฐก็ต้องไปดูว่าหลักสูตรได้มาตรฐานหรือไม่ และเอาจริงเอาจังกับการสอนมากน้อยแค่ไหน เพราะมิเช่นนั้นก็อาจมีสภาพไม่ต่างจากเดิม คือ นั่งจิบกาแฟ เล่นโทรศัพท์ แล้วออกใบอนุญาต ชีวิตคนบนถนนก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี!!




















กำลังโหลดความคิดเห็น