ครม.ตั้ง “ทวี เกศิสำอาง” ข้ามห้วยจากกรมทางหลวงนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และขยับ “สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” ขึ้นอธิบดีกรมรางฯ “ศักดิ์สยาม” เผยอธิบดีกรมรางฯ คนใหม่กำลังเร่งปิดดีลเจรจาเงื่อนไขรถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 ธ.ค.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 ราย คือ 1. นายทวี เกศิสำอาง รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวง (ทล.) ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมท่าอากาศยาน (ทย.)
2. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมการขนส่งทางราง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางมีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรางของประเทศ ซึ่งขณะนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมราง อยู่ระหว่างการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) มูลค่า 38,558.35 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้าไทยเอ็นจิเนียริ่งและไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) ประเด็นเงินกู้ สกุลเงินและใช้วันใดในการกำหนดอัตราค่าเงิน
โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมเจรจา ซึ่งจะได้ข้อยุติในวันนี้ (3 ธ.ค.) จากนั้นจะนัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ต่อไป
ส่วนการแต่งตั้ง นายทวี เกศิสำอาง จากรองอธิบดีกรมทางหลวงไปเป็นอธิบดีกรมท่าอากาศยานนั้น นายศักดิ์สยามยืนยันว่าเป็นการคัดสรรตามคุณสมบัติที่เหมาะสม
@ตั้ง “ทวี” คุมกรมท่าอากาศยาน ช่วยเร่งงานก่อสร้างแก้เบิกจ่ายงบล่าช้า
ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมมีกระบวนการคัดสรร และผู้บริหารทุกคนของกระทรวงคมนาคมมีความสามารถในการบริหารได้ทุกหน่วย โดยทำงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ ได้
นายทวี เกศิสำอาง มีความรู้ความสามารถด้านวิศวะ ซึ่งเดิมเป็นข้าราชการกรมทางหลวง จากนั้นเคยลาออกไปทำงานที่ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ช่วงที่เริ่มโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อช่วยในการกำกับการก่อสร้างสนามบิน เป็นเวลากว่า 2 ปี จากนั้นกลับมารับราชการที่กรมทางหลวงจนเป็นรองอธิบดีฯ
เดิมกรมท่าอากาศยานมีหน้าที่ในการกำกับดูแล (Regulator) และบริหารสนามบิน (Operator) จากกระทั่งมีเรื่องธงแดง ICAO จึงปรับโครงสร้างองค์กร แยกงานกำกับดูแล และตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขึ้นมาทำหน้าที่ออกกฎระเบียบ กติกา และใบอนุญาตต่างๆ ส่วนกรมท่าอากาศยาน ทำหน้าที่บริหารสนามบินอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันมีแผนแม่บทพัฒนาเพิ่มศักยภาพสนามบินภูมิภาค 29 แห่ง ซึ่งต้องการผู้บริหารที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเพราะจะมีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยานมีปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่อาจจะติดขัด และต่ำกว่าเป้าหมาย ดังนั้น เชื่อว่านายทวีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายและติดตามงานก่อสร้างที่ล่าช้า จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับกรมการขนส่งทางราง อธิบดีคนใหม่ถือว่าเข้าใจโครงการด้านระบบรางเพราะได้ร่วมทำแผนงาน แผนแม่บทรถไฟฟ้าและรถไฟไทย-จีนมาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ กรมรางฯ ยังมีภารกิจในการทำกฎหมายลูก ด้านขนส่งทางรางอีก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งการคัดสรรระดับรองอธิบดี (ระดับ 9) ของหน่วยงานราชการอีก 7 ตำแหน่ง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมราง เป็นต้น