xs
xsm
sm
md
lg

มองต่างมุม PM2.5

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ผมเชื่อว่าคงมีผู้อ่านหลายท่านเคยได้รับข้อความจากเพื่อนในไลน์ส่งมาให้เกี่ยวกับข้อคิดเห็นของ ดร.ประวิทย์ จงวิศาล อดีตอจ.ภาควิชาอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เกี่ยวกับประเด็นร้อน PM2.5 มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ซึ่งแม้จะเป็นข้อเขียนที่เก่าแล้ว แต่ก็ได้รับนำกลับมาแชร์ต่ออีกรอบ ผมในฐานะที่เป็น ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ด้านมลพิษทางอากาศ จึงขอเสนอมุมมองทางวิชาการอีกมุมที่มีต่อ ข้อคิดเห็นของ ดร.ประวิทย์ จงวิศาล ทั้งเห็นสอดคล้องและเห็นต่าง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลครอบถ้วนรอบด้านมากที่สุด ผมขออนุญาตคัดลอกข้อความของ ดร.ประวิทย์ พร้อมกับข้อคิดเห็นของผมกำกับตามดังนี้

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
ผมในฐานะเรียนปริญญาเอก Industrial Hygine and Toxicologyมาขอชี้แจงว่า ฝุ่น ขนาด2.5 ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายดังที่แชร์กันทั่วสังคมไทย ยกเว้นคนโรคทางเดินหายใจ เด็กเล็กๆ และผู้ชรามาก

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ผมคิดว่าประโยคที่ว่า PM2.5 “ไม่ได้ทำอันตราย” ต่อร่างกายดูจะย้อนแย้งกับผลงานวิจัยของ องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่มีการรายงานว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศปีละ 7 ล้านคน [1] จากผลงานวิจัยที่ได้เผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports พบว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรที่เพิ่มขึ้นของฝุ่น PM10 และทุกๆ 10 ppb ที่เพิ่มขึ้นของโอโซนจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของคนไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.4% และ 0.78% ตามลำดับ [2] สำทับด้วยงานตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า PM2.5 มีส่วนต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (Premature Mortality) 3.15 ล้านคนทั่วโลกในปี ค.ศ. 2010 โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตในจีน อินเดีย และ ปากีสถาน อยู่ที่ 1.33 ล้านคน 575,000 คน และ 105,000 คนตามลำดับ [3] สำหรับประเด็นที่ว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เด็กเล็กและผู้ชรามาก มีบางส่วนที่สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผมทำเองโดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Aerosol and Air Quality Research ซึ่งพบว่าเพศหญิงจะอ่อนไหวต่อมลพิษทางอากาศมากกว่าเพศชายและกลุ่มเด็กเล็กได้รับผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ [4]

ดร. ประวิทย์ บอกว่า PM2.5 ส่งผลกระทบต่อเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ชรามากเท่านั้น ผมเลยค้นข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนของกลุ่มที่เสี่ยงต่อฝุ่น PM2.5 มาพบว่าองค์การอนามัยโลกได้รายงานจำนวนของเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 4 ขวบในประเทศไทยอยู่ที่ 3,596,000 คนและเด็กอายุ 5-9 ขวบอยู่ที่ 3,844,000 คนส่วนผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 3,506,000 คน [5] รวมกลุ่มผู้เสี่ยง (ซึ่ง ดร.ประวิทย์เองก็ยอมรับ) ต่อPM2.5 รวมที่ 10,946,000 คน คำถามคือชีวิตและสุขภาพของคนไทยเกือบ 11 ล้านคนมันไม่ควรค่าต่อการกังวลใจอย่างงั้นหรือ?

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
เรากำลังตกอยู่ในวิตกจริตเกินเหตุ เพราะพวกไม่รู้จริง และหาผลประโยชน์จากอุปกรณ์วัดฝุ่น ทีปิดปากปิดจมูก เครื่องกรองอากาศ มีบริษัทยักษ์ใหญ่เตรียมแผ่นกรองอากาศ มาติดกับเครื่องปรับอากาศทั่วไปให้กรองฝุ่นได้ ทำรายได้มากมาย เครื่องกรองอากาศขณะนี้ราคาแพงมาก และขาดตลาด ปั๊มน้ำและอุปกรณ์ฉีดน้ำ เพิ่มยอดขายมากมาย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับ ดร.ประวิทย์ ว่าในทุกวิกฤตย่อมเปิดโอกาสให้กับคนบางกลุ่มเสมอ ซึ่งมันก็เป็นสัจธรรมในแทบเกือบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขายอาวุธที่ได้ประโยชน์จากการก่อสงคราม บริษัทขายยาที่ได้ประโยชน์จากโรคระบาด ซึ่งในทุกสถานการณ์ที่เลวร้ายย่อมมีโอกาสสำหรับคนบางกลุ่มเสมอ แต่ประเด็นที่คู่ควรต่อการตั้งคำถามคือรัฐบาลไทยจะฉกฉวยอะไรจากวิกฤตมลพิษทางอากาศที่กำลังกลายเป็น New Normal ในประเทศนี้? เป็นที่ทราบกันดีว่านวัตกรรมจะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงที่เกิดสงคราม ซึ่งในตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังเจอกับปัญหามลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม เท่าที่ทราบล่าสุด ทาง ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการโพสต์เฟสบุ๊กระดมสมองเพื่อค้นหานวัตกรรมในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศนี้ได้มีการริเริ่มโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขออนุญาตแนะนำผลงานวิจัยที่ทาง Chinese Academy of Sciences ได้คิดค้นขึ้นมาตอบโจทย์ประชาชนในการบรรเทาทุกข์จากปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่นการสร้างหอฟอกอากาศขึ้นมาครั้งแรกของโลกที่เมือง ซีอาน ผลงานวิจัยนี้ได้รับการรายงานในวารสารชื่อดังระดับโลกอย่าง Nature มาแล้ว [6] นี้คือตัวอย่างการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อนำเอาผลงานวิจัยมาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
ผมขอชี้แจงว่า ตระหนักถึงปัญหาได้ แต่อย่าตระหนกจนเกินเหตุ ทำให้ประเทศไทยเสียหายเกินเหตุ ต้องลงทุนการแกัปัญหาเกินควร เช่นแทนที่จะมากวดขันจับรถควันดำ เพราะฝุ่นตัวนี้มาจากรถดีเซลเป็นส่วนใหญ่ และบริเวณก่อสร้างผู้รับเหมาไม่รดน้ำพื้นถนน รัฐต้องมากวดขันจริงจัง ไม่ใช่สั่งปิดโรงเรียน ปิดเรียนแล้วมันหายฝุ่นหรือ โรงเรียนไม่ใช่แหล่งกำเนิดฝุ่น รถดีเซลปิ๊กอับ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วิ่งทั่วบ้านทั่วเมือง นั่นแหละเป็นแหล่งสำคัญของฝุ่นตัวนี้ ผมเคยบอกแล้วว่าฝุ่นตัวนี้ เป็นปัญหาของทั้งโลกและประเทศไทยมานานแล้ว ไม่ใช่เกิดเฉพาะปีนี้

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
การลงทุนในการแก้ปัญหาที่ต้นตอย่อมมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการแก้ที่ปลายเหตุเสมอ ส่วนตัวคิดว่านักวิชาการควรออกมาให้ความคิดในการเสนอแนวทางเพื่อดับต้นเหตุแห่งปัญหา ดั่งคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ว่า “เกิดทุกข์ที่ไหน ต้องดับความทุกข์ที่นั่น” นั้นคือการค้นหาแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศซึ่งมีอยู่หลากหลายและต่อให้เป็นสถานที่เดียวกันแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน วันเวลาเปลี่ยน สัดส่วนของแหล่งกำเนิดก็ย่อมเปลี่ยนไป ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะยกให้แหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครคือไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงของ “ฤดูเผา” เช่นการเผาไร่อ้อยรอบกรุงเทพฯ หรือมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านอันเนื่องจากการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้งก็อาจเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าไอเสียยานพาหนะจากเครื่องยนต์ดีเซล เงื่อนไขทางสภาพอากาศเช่น ความเร็วลม ทิศทางลม สัมประสิทธิ์การระบายของอากาศ (Ventilation Coefficient) ระดับความสูงของชั้น Planetary Boundary Layer (PBL) คือสิ่งที่นักวิชาการด้านมลพิษทางอากาศสายตรงให้ความสำคัญในการตีความ

งานวิจัยด้านล่างเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดซึ่งผมเป็นผู้เขียนเองทั้งหมด สำหรับท่านที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเชิงลึกต่อได้ครับ

Pongpiachan, S. (2013). Diurnal variation, vertical distribution and source apportionment of carcinogenic polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) in Chiang-Mai, Thailand. Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, 14(3), 1851-1863.

Pongpiachan, S., Kositanont, C., Palakun, J., Liu, S., Ho, K. F., & Cao, J. (2015). Effects of day-of-week trends and vehicle types on PM2. 5-bounded carbonaceous compositions. Science of the Total Environment, 532, 484-494.

Pongpiachan, S., Hattayanone, M., Choochuay, C., Mekmok, R., Wuttijak, N., & Ketratanakul, A. (2015). Enhanced PM10 bounded PAHs from shipping emissions. Atmospheric environment, 108, 13-19.

Pongpiachan, S., Tipmanee, D., Khumsup, C., Kittikoon, I., & Hirunyatrakul, P. (2015). Assessing risks to adults and preschool children posed by PM2. 5-bound polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) during a biomass burning episode in Northern Thailand. Science of the Total Environment, 508, 435-444.

Pongpiachan, S. (2016). Incremental lifetime cancer risk of PM2.5 bound polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) before and after the wildland fire episode. Aerosol Air Qual. Res, 16(11), 2907-19.

Pongpiachan, S., & Iijima, A. (2016). Assessment of selected metals in the ambient air PM 10 in urban sites of Bangkok (Thailand). Environmental Science and Pollution Research, 23(3), 2948-2961.

Pongpiachan, S., Hattayanone, M., & Cao, J. (2017). Effect of agricultural waste burning season on PM2. 5-bound polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) levels in Northern Thailand. Atmospheric pollution research, 8(6), 1069-1080.

Pongpiachan, S., Liu, S., Huang, R., Zhao, Z., Palakun, J., Kositanont, C., & Cao, J. (2017). Variation in day-of-week and seasonal concentrations of atmospheric PM 2.5-bound metals and associated health risks in Bangkok, Thailand. Archives of environmental contamination and toxicology, 72(3), 364-379.

Pongpiachan, S., Hattayanone, M., Suttinun, O., Khumsup, C., Kittikoon, I., Hirunyatrakul, P., & Cao, J. (2017). Assessing human exposure to PM10-bound polycyclic aromatic hydrocarbons during fireworks displays. Atmospheric pollution research, 8(5), 816-827.

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
การท่องเที่ยวเราก็ได้รับผลกระทบ มีคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากการฉวยโอกาส และบางกลุ่มต้องการทำลายภาพลักษณ์ประเทศและรัฐบาล

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ผมมองว่า ดร.ประวิทย์ น่าจะมีอคติเกินไป ใช่ว่าทุกคนที่ออกมาโวยวายเรื่องฝุ่น PM2.5 คือกลุ่มคนที่ต้องการโหนกระแส เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง (ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนบางกลุ่มหยิบยก PM2.5 มาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อโจมตีรัฐบาลจริง) สำหรับผม เรื่อง PM2.5 ไม่ควรเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะมันส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มไม่เกี่ยวกับว่าการศึกษาสูงหรือต่ำ จนหรือรวย ทัศนคติทางการเมืองอยู่สีไหนค่ายใด ทุกคนหากขาดอากาศที่หายใจไม่ได้และนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีพึงได้นั่นคือสิทธิในการได้สูดอากาสที่บริสุทธิ์ ในรายละเอียดสามารถติดตามได้ในสมุดปกขาวที่ทางเครือข่ายอากาศสะอาดได้เผยแพร่ออกมาแล้วภายใตการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

รายละเอียดลิงก์
https://thailandcan.org/whitebook/

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
ผมขอเรียนชี้แจงว่าร่างกายเราตามธรรมชาติ ออกแบบมาให้ป้องกันอันตรายจากฝุ่นตัวนี้อย่างดี มิฉะนั้นแล้วมนุษย์คงตายจากฝุ่นหมดแล้ว เรายังอยู่รอดมาได้เพราะร่างกายเราถูกออกแบบป้องกันฝุ่นอย่างดีเลิศ

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
จากบทความอันโด่งดังของ J.R. Petit สังกัด Laboratoire de Glaciologie et Ge´ophysique de l’Environnement ประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อ Climate and atmospheric history of the past 420,000 years from the Vostok ice core, Antarcticaซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นแนวหน้าของโลกอย่าง Nature ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาของก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจัง เนื่องจากตลอด 420,000 ปีที่ผ่านมาไม่มีช่วงใดที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งถูกกักอยู่ในฟองอากาศของชั้นน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ มีค่าความเข้มข้นสูงเกิน 280 ppm [7] ต่างจากปัจจุบันที่ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ล่าสุดอยู่ที่ 414 ppm [8] โดยจดบันทึก ณ วันที่ 22 มกราคม2020 ความหมายคือมนุษย์ใช้เวลาเพียงแค่ 200 กว่าปีหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นมาถึง 134 ppm!! เป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คือผลพวงของการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของฟอสซิลหรือชีวมวล ซึ่งแน่นอนย่อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับสารพิษชนิดอื่นๆที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศรวมทั้งฝุ่นด้วยเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ชัดว่าสภาพอากาศในอดีต (อย่างน้อยก็ 420,000 ปีที่ผ่านมา) มีแนวโน้มที่จะมีการปนเปื้อนของสารพิษชนิดต่างๆน้อยกว่าปัจจุบัน สารพิษส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงทั้งที่มาจากอุตสาหกรรม ธุรกิจการเกษตร รวมทั้งการคมนาคมขนส่ง ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และโลหะหนักที่เป็นพิษชนิดต่างๆด้วยกันทั้งสิ้น [9-13] แน่นอนสมัยที่บรรพบุรุษของเรายังถูกสิงโตไล่ล่าอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสะวันนาในทวีปแอฟริกา ผลพวงจากอารยธรรมมนุษย์ดังที่กล่าวไว้แล้วยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นแนวคิดที่ว่าร่างกายมนุษย์ได้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฝุ่นไว้อย่างดีเลิศจึงไม่ได้ครอบคลุมฝุ่นพิษที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งมีปริมาณที่มากกว่าแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
ฝุ่นขนาดเกิน 10 ไมครอน จะไม่สารถหายใจเข้าไปทางเดินหายใจได้ เพราะมนุษย์มีขนจมูกดักไว้ ส่วนทีเล็กกว่า10ไมครอน ก็ผ่านขนจมูกเข้าไปได้ ยิ่งฝุ่นขนาดเล็กเท่าไร ก็ยิ่งลงไปลึกสู่ปอด อันตรายทุกขนาดที่ลงไปลึก ไม่ใช่กลัวกันที่2.5 ไมครอนเท่านั้น

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ถูกต้องครับตอนนี้ที่ต่างประเทศเขาพูดกันถึง PM1.0 และงานวิจัยหลายชิ้นได้มุ่งเป้าไปที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนกันแล้ว [14-16] ด้วยเหตุผลหลักที่ว่าฝุ่นยิ่งมีขนาดเล็กเท่าไหร่ พื้นที่ผิวสัมผัสยิ่งเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้สามารถจับตัวกับสารพิษได้มากและด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วเลยทำให้เดินทางทะลุผ่านขนจมูกเข้าลึกสู่ปอดได้ง่ายกว่าฝุ่นขนาดเกิน 10 ไมครอน ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วแบบนี้กลไกทางร่างกายที่ถูกออกแบบมา เอาไม่อยู่นะครับ!

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
เมื่อฝุ่นผ่านทางเดินหายใจลงไปได้ ตลอดทางเดินหายใจจะมีเยื่อเมือก คอยจับฝุ่นไว้ ไม่ให้ลงไปลึก ขณะเดียวกันที่เยื่อเมือกจะมีขนเป็นจำนวนมากค่อยกระพือเยื่อเมือกที่จับฝุ่นได้แล้ว ย้อนกลับขึ้นมา ค่อยๆขึ้นมาจนถึงลิ้นปิด-เปิดทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ บริเวณลำคอของเรา จากนั้นเยื่อเมือกที่จับฝุ่นได้แล้ว จะถูกกลืนลงกระเพาะ ฝุ่นปกติจะทนต่อกรดในกระเพาะ ฝุ่นส่วนใหญ่จึงถูกขับออกพร้อมกับอุจจาระส่วนเยื่อเมือกที่จับฝุ่นแล้ว บางส่วนจะถูกขับด้วยการไอ จาม ออกมาเป็นเสมหะออกจากร่างกาย ท่านเคยสังเกตไหม เวลาเดินทางไปบริเวณที่มีฝุ่นมาก เมื่อขากเสมหะออกมาจะมีฝุ่นติดมาด้วย เสมหะคนขายถ่านจะมีสีดำจากฝุ่นถ่านสีคล้ายเฉาก๊วย

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ดร.ประวิทย์ ให้ความสำคัญแต่เฉพาะตัวฝุ่นอย่างเดียวโดยมิได้กล่าวถึงสารพิษที่ติดมากับฝุ่นเลย ไม่ว่าจะเป็นสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานซึ่งถูกระบุไว้ในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯได้กําหนดสาร POPs เบื้องต้น จํานวน 12 ชนิด ประกอบด้วยสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชและสัตว์9 ชนิด คือ aldrin, chlordane, DDT, dieldrin, endrin, heptachlor,hexachlorobenzene, mirex, toxaphene; สารเคมีอุตสาหกรรม 1 ชนิดคือ PCBs; และสาร POPs ประเภทปลดปล่อยโดยไม่จงใจ 2 ชนิด คือ dioxins และ furans [17] ยังไม่รวมโลหะหนักอีกหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น ปรอทเป็นสาเหตุของโรคมินามะตะ แคดเมี่ยมคือต้นตอของโรคอิไตอิไต สารพิษเหล่านี้จะถูกสะสมอยู่ในร่างกายและหลายชนิดยากที่จะถูกขับมันออกมา อีกประการที่สำคัญคือฝุ่นละอองเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดซึ่งมีงานวิจัยออกมายืนยันว่าพบเชื้อเหล่านี้ในฝุ่น PM2.5 [18-20]

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
นี่คือกลไกที่มนุษย์ถูกออกแบบมาสู้กับฝุ่นบนพื้นโลก ถ้าไม่แน่จริงมนุษย์สูญพันธุ์หมดแล้ว โลกเรามีฝุ่นตั้งแต่กำเนิดโลกมาหลายล้านปีแล้ว นอกจากนี้ฝุ่นขนาดเล็กมากๆ มีมวลน้อยมาก จึงไม่สามารถถูกจับโดยเยื่อเมือก ก็จะถูกขับออกจากร่างพร้อมคาร์บอนไดออกไซด์ตอนหายใจออก ท่านเห็นความอัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์หรือยัง? อย่าตระหนกตกใจ สติแตก เกินเหตุ เราจะตกเป็นเหยื่อของคนบางคนตามที่ผมให้ความเห็นมาแล้ว

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ประโยคนี้จะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อ ระดับความเข้มข้นและองค์ประกอบทางเคมีของสารพิษในยุคดึกดำบรรพ์กับปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งก็ได้อธิบายไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่าหลักฐานในแท่งน้ำแข็งที่สถานีขุดเจาะ Vostok ทวีปแอนตาร์กติก กลับพบว่าตลอดระยะเวลา 420,000 ปีที่ผ่านมาไม่มีช่วงไหนที่ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกิน 280 ppmดังนั้นแนวคิดที่ว่ามนุษย์คงสูญพันธุ์หมดแล้วหากไม่สามารถจัดการกับฝุ่นได้ จึงมิได้ครอบคลุมถึงเงื่อนไขที่เกิดขึ้นกับ “ฝุ่น”ในยุคปัจจุบัน และก็ไม่มีสิ่งใดมายืนยันได้อีกเช่นเดียวกันว่ามนุษย์จะมีความอัศจรรย์มากถึงขนาดจัดการกับเหล่าสารพิษอย่าง สารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์และโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาจากฝุ่นในท่อไอเสียยานพาหนะ ปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เตาเผาขยะ/ศพ และการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งได้

ข้อคิดเห็น ดร.ประวิทย์
ผมอ้างอิงจากการเรียนพิษวิทยาปริญญาเอกที่ได้ทุนจากรัฐบาลไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ไม่ได้มโนขึ้นมาเหมือนบางคน
ข้อเสนอแนะสั้นๆของผมคือ ให้รัฐบาลรีบแกัไขที่แหล่งใหญ่ของฝุ่นตัวนี้อย่างจริงจัง และไม่ต้องแพร่ข่าวมากเกินไป จนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ประชาชนต้องร่วมมือกัน และขอให้ดูตัวอย่างจีน ว่าเขาทำอย่างไร จีนปิดโรงงาน แต่ไทยปิดโรงเรียน

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน
ผมเห็นด้วยกับ ดร. ประวิทย์ตรงที่การปิดโรงเรียนคือการเกาไม่ถูกที่คัน สิ่งที่รัฐบาลควรรีบแกัไขคือการควบคุมแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นพิษอย่างจริงจัง จีนปิดโรงงานแต่ไทยปิดโรงเรียน การปิดโรงงานที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม การคุมเข้มรถบรรทุก รถโดยสาร ที่ปล่อยควันดำฟุ้งกระจายทั่วเมือง ธุรกิจการเกษตรที่เป็นต้นตอของปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้ง ตลอดจนมลพิษข้ามพรมแดน คือแหล่งกำเนิดที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ไอเสียจากยานพาหนะของประชาชน

อ้างอิง
[1] https://www.who.int/phe/eNews_63.pdf
[2] Guo, Y., Li, S., Tawatsupa, B., Punnasiri, K., Jaakkola, J. J., & Williams, G. (2014). The association between air pollution and mortality in Thailand. Scientific reports, 4, 5509.
[3] Giannadaki, D., Lelieveld, J., & Pozzer, A. (2016). Implementing the US air quality standard for PM2.5 worldwide can prevent millions of premature deaths per year. Environmental Health, 15(1), 88.
[4] Pongpiachan, S., & Paowa, T. (2015). Hospital out-and-in-patients as functions of trace gaseous species and other meteorological parameters in Chiang-Mai, Thailand. Aerosol and Air Quality Research, 15(2), 479-493.
[5] https://population.un.org/wpp/DataQuery/
[6] https://www.nature.com/articles/d41586-018-02704-9
[7] Petit, J. R., Jouzel, J., Raynaud, D., Barkov, N. I., Barnola, J. M., Basile, I., ... & Delmotte, M. (1999). Climate and atmospheric history of the past 420,000 years from the Vostok ice core, Antarctica. Nature, 399(6735), 429.
[8] https://www.co2.earth/daily-co2
[9] Zechmeister, H. G., Dullinger, S., Hohenwallner, D., Riss, A., Hanus-Illnar, A., & Scharf, S. (2006). Pilot study on road traffic emissions (PAHs, heavy metals) measured by using mosses in a tunnel experiment in Vienna, Austria. Environmental Science and Pollution Research, 13(6), 398.
[10] Mandalakis, M., Gustafsson, Ö., Alsberg, T., Egebäck, A. L., Reddy, C. M., Xu, L., ... & Stephanou, E. G. (2005). Contribution of biomass burning to atmospheric polycyclic aromatic hydrocarbons at three European background sites. Environmental science & technology, 39(9), 2976-2982.
[11] Shih, S. I., Lee, W. J., Lin, L. F., Huang, J. Y., Su, J. W., & Chang-Chien, G. P. (2008). Significance of biomass open burning on the levels of polychlorinated dibenzo-p-dioxins and dibenzofurans in the ambient air. Journal of hazardous materials, 153(1-2), 276-284.
[12] Nzihou, A., & Stanmore, B. (2013). The fate of heavy metals during combustion and gasification of contaminated biomass—a brief review. Journal of hazardous materials, 256, 56-66.
[13] Gunawardena, J., Egodawatta, P., Ayoko, G. A., & Goonetilleke, A. (2012). Role of traffic in atmospheric accumulation of heavy metals and polycyclic aromatic hydrocarbons. Atmospheric environment, 54, 502-510.
[14] Warheit, D. B., Sayes, C. M., Reed, K. L., & Swain, K. A. (2008). Health effects related to nanoparticle exposures: environmental, health and safety considerations for assessing hazards and risks. Pharmacology & therapeutics, 120(1), 35-42.
[15] Warheit, D. B. (2004). Nanoparticles: health impacts?. Materials today, 7(2), 32-35.
[16] Love, S. A., Maurer-Jones, M. A., Thompson, J. W., Lin, Y. S., & Haynes, C. L. (2012). Assessing nanoparticle toxicity. Annual review of analytical chemistry, 5, 181-205.
[17] http://infofile.pcd.go.th/haz/POPsNews.pdf
[18] Cao, C., Jiang, W., Wang, B., Fang, J., Lang, J., Tian, G., ... & Zhu, T. F. (2014). Inhalable microorganisms in Beijing’s PM2. 5 and PM10 pollutants during a severe smog event. Environmental science & technology, 48(3), 1499-1507.
[19] Hu, L. F., Zhang, K., Wang, H. B., Li, N., Wang, J., Yang, W. H., ... & Li, J. S. (2015). Concentration and particle size distribution of microbiological aerosol during haze days in Beijing. Huan jing ke xue= Huanjing kexue, 36(9), 3144-3149.
[20] Cappitelli, F., Fermo, P., Vecchi, R., Piazzalunga, A., Valli, G., Zanardini, E., & Sorlini, C. (2009). Chemical–physical and microbiological measurements for indoor air quality assessment at the Ca’Granda Historical Archive, Milan (Italy). Water, air, and soil pollution, 201(1-4), 109-120.



กำลังโหลดความคิดเห็น