xs
xsm
sm
md
lg

คนพึ่งป่า ป่าพึ่งคน : เหตุผลในการอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



คำว่า ป่า หมายถึงพื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด

ป่าเป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติ อันมีค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นแหล่งสมุนไพรและเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายต่างๆ ดังนั้น ป่าจึงเป็นทรัพยากรมีค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิม และนี่เองคือที่มาของการออกกฎหมายกำหนดเขตคุ้มครองป่า และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยการห้ามตัดไม้ทำลายป่าและห้ามล่าสัตว์

ป่าในภูมิประเทศอันเป็นเขตร้อนชื้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะของความเป็นป่าคือ

1. ป่าโปร่ง (Forest) หมายถึงพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ไม่หนาทึบ แสงแดดสามารถส่องลงถึงด้านล่างได้ ทำให้พื้นดินแห้ง คนสามารถเดินเข้าไปหาของป่า และล่าสัตว์ได้โดยไม่ยากลำบากนัก

2. ป่าทึบหรือป่าดงเดิม (Jungle) หมายถึงป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ จนแสงแดดส่องลงไม่ถึงด้านล่าง จึงทำให้พื้นดินชื้นแฉะคนเข้าไปได้ยาก

ป่าในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นป่าโปร่งส่วนใหญ่ จึงง่ายต่อการที่คนจะเข้าไปบุกรุกต้นไม้ทำลายป่า และล่าสัตว์ ด้วยเหตุนี้พื้นที่ป่าของประเทศลดน้อยลงทุกปี ถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่คอยรักษาป่าทำงานป้องกัน และปราบปรามผู้กระทำผิด ประจำอยู่ในเขตวนอุทยานทั่วประเทศก็ตาม ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. จำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลรักษาป่ามีอยู่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนพื้นที่ป่าที่จะต้องดูแล

2. ในจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอยู่น้อยนั้น ก็ยังมีเจ้าหน้าที่บางคนบางกลุ่มปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม และสร้างสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการเข้าไปตัดไม้และล่าสัตว์ เข้าทำนองเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

3. มีการบุกรุกเข้าไปตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชน ในบางแห่งมีวัดหรือสำนักสงฆ์อยู่ด้วย

ในกรณีนี้เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือ

1. มีชุมชนเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายกำหนดเป็นอนุรักษ์ และเมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้วก็ยากที่จะให้ชุมชนออกไป

2. มีชุมชนเกิดขึ้นภายหลังที่กฎหมายประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ และชุมชนที่ว่านี้มีทั้งที่บุกรุกเข้าไปตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และสถานที่รองรับการท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกเพื่อทำสถานที่รองรับการท่องเที่ยว

3. ชุมชนซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และวัดอันเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ตั้งอยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง แต่เขตของชุมชนหรือวัดติดต่อกับเขตป่าคุ้มครอง ความขัดแย้งระหว่างผู้คนในชุมชนกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้คนในชุมชนเข้าไปหาของป่า หรือแม้กระทั่งกับพระสงฆ์ซึ่งเข้าไปธุดงค์ในเขตป่าคุ้มครอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าไปตัดต้นไม้ทำลายป่าหรือล่าสัตว์ ตรงกันข้ามชุมชนและวัดมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ป่าได้ ถ้าเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในชุมชน และกับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับวัดป่า และชุมชนที่อยู่รอบๆ วัดป่าหลายแห่งในภาคอีสาน โดยมีวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ของหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เป็นตัวอย่างที่ดี

ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมที่หลวงพ่อทำ ทั้งในด้านการพัฒนาทางด้านจิตใจ โดยการสอนให้ทุกคนที่มาหาหลวงพ่อให้อยู่ในศีล มุ่งมั่นในการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญา แสวงหาความจริงตามแนวทางของพระพุทธองค์ และในการพัฒนาวัตถุ โดยการจัดหาทำกิน ทำใช้มาให้วัด โรงเรียน รวมไปถึงชุมชนและการมอบเงินที่มีผู้มาถวายหลวงพ่อให้แก่โรงพยาบาลหลายแห่ง

นอกจากช่วยพัฒนาคนแล้ว หลวงพ่อยังมีเมตตาเผื่อแผ่ไปยังสัตว์ป่าด้วยการจัดทำแหล่งโป่งเทียม และปลูกหญ้าให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างและกระทิงได้อาศัยไม่ต้องไปรบกวนพืชผลของชาวบ้าน

แต่ถึงกระนั้น หลวงพ่อยังถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนมองว่า หลวงพ่อรบกวนสัตว์ด้วยการพาญาติโยมเข้าไปในเขตป่า อันเป็นที่อยู่อาศัยของมัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยเข้าไปกับหลวงพ่อ ทุกครั้งที่หลวงพ่อเข้าไป สัตว์ป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทิงยืนมองรถหลวงพ่อไม่เคยหนีหรือเข้ามาทำร้าย

ดังนั้น กรมป่าไม้น่าจะได้นำสิ่งที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม แห่งวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชุมชนและวัดเป็นกลไกในการอนุรักษ์ป่า น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า ทำให้เกิดความขัดแย้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น