xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “เสือดำ” สัตว์ที่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” ล่ายิงกลางทุ่งใหญ่ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทำความรู้จัก “เสือดำ” สัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า ในวันที่ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ถูกจับกุมในข้อหาล่าเสือดำในทุ่งใหญ่นเรศวร

กรณีการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 63 ปี ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกอีก 3 คน คือ นายยงค์ โดดเครือ อายุ 65 ปี พนักงานอิตาเลียนไทย, นางนที เรียมแสน อายุ 43 ปี และนายธานี ทุมมาศ อายุ 56 ปี พร้อมอาวุธปืน และซากเสือดำถูกชำแหละและถลกหนัง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

ข้อมูลจากเว็บไซต์โลกสีเขียวระบุว่า สำหรับเสือดำนั้นเป็นเสือชนิดเดียวกันกับเสือดาว มีสีดำทั่วทั้งตัว เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึม มักพบได้มากในป่าร้อนชื้นในเอเชีย เช่น ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเบงกอลหรือชวา ในประเทศไทยพบได้ในทางตะวันตก ใต้ท้องของเสือดำมีสีจางเล็กน้อย ผิวสีดำของเสือดำไม่ได้มีสีดำสนิท และยังคงมีลายแบบเสือดาวอยู่ด้วยซึ่งจะเห็นชัดเวลาต้องแสงแดด

ทั้งเสือดำ และเสือดาว แม้ว่าจะมีขนาดเล็กเทียบกับเสือชนิดอื่น แต่มันมีพละกำลังมากอย่างเหลือเชื่อ มีกะโหลกหนัก มีโพรงสำหรับกล้ามเนื้อกรามขนาดใหญ่ มีหนวดและคิ้วยาวเป็นพิเศษช่วยในการปกป้องดวงตา และช่วยในการเคลื่อนไหวยามค่ำคืน ทนแล้งได้ดี สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินน้ำได้หลายวัน โดยอาศัยน้ำจากเหยื่อที่มันกินเท่านั้น สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน

นิสัยของเสือดาวและเสือดำ เป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก ไม่ค่อยชอบน้ำแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่มักชอบออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในบางครั้งก็อาจหากินในเวลากลางวันได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์รบกวน และตัวเมียที่เลี้ยงลูกก็มักต้องออกหากินบ่อยครั้งกว่าปกติจนต้องมีการหากินในเวลากลางวันด้วย ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว มักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหรือหลืบหิน

อาหารของเสือดาวส่วนใหญ่ในเขตร้อนเป็นสัตว์กีบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น เก้ง กวางดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของประเทศไทย พบว่าเสือดาวกินสัตว์จำพวกลิงมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเสือโคร่งในการล่าสัตว์กีบ เช่น เก้ง อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะป่าเบญจพรรณในห้วยขาแข้งมีเรือนยอดค่อนข้างโปร่งทำให้พวกลิงค่างต้องลงพื้นดินบ่อยครั้ง จึงตกเป็นเหยื่อของเสือดาวได้ง่าย

จากการติดตามเสือดาวตัวผู้ ด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย พบว่า เสือดาวเดินทางเฉลี่ยประมาณวันละ 2 กิโลเมตร และในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ตื่นตัวประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ หากินได้ทุกเวลาไม่จำเป็นว่าต้องกลางวันหรือกลางคืน แต่เสือดาวที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะหากินตอนกลางคืนมากกว่า

เรื่องราวของเสือดำในประเทศไทยเคยเป็นข่าวฮือฮาเมื่อราว พ.ศ. 2521 เมื่อปรากฏข่าวว่ามีเสือดำตัวหนึ่งเพ่นพ่านอยู่แถวมักกะสัน พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร จนเป็นที่หวาดกลัวของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จนได้ชื่อว่า “เสือดำมักกะสัน” แต่อีก 2 ปีต่อมาก็ปรากฏว่าเป็นเสือดำที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ซื้อมาในราคา 3,000 บาท และนำมาปล่อยไว้เองเพื่อผลทางจิตวิทยา ก่อนจะจับไปปล่อยไว้ในป่าห้วยขาแข้ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทย เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีบทลงโทษดังนี้

- ล่า จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มีสัตว์ หรือซากของสัตว์ไว้ในครอบครอง จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ค้าสัตว์ ซากของสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- หากล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- หากล่าสัตว์ ในเขตกำหนดห้ามล่าสัตว์ป่า จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


กำลังโหลดความคิดเห็น