"โสภณ องค์การณ์"
ขณะที่คนทั้งโลกกำลังเฝ้าจับตาดู ความขัดแย้งระหว่าง “สหรัฐอเมริกากับอิหร่าน” ว่าจะยืดเยื้อหรือนำไปสู่ภาวะวิกฤตลุกลามร้ายแรงมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ หรือไม่ ประเทศของเราเองก็ยังมีประเด็นความห่วงกังวลเกี่ยวกับ สภาวะการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและภาคส่วนอื่นๆ ด้วย
คำถามที่ได้ยินโดยทั่วไปก็คือ เศรษฐกิจของประเทศปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะเผาจริงหรือเก็บกระดูกกันแน่ และคำตอบที่ได้รับฟังมาขึ้นอยู่กับว่า มาจากใคร และสังกัดอยู่องค์กรหรือภาคส่วนของรัฐหรือเอกชน มีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่
เริ่มจากหน่วยงานที่พยากรณ์ภาพเศรษฐกิจซึ่งดูแล้วจะเอาให้ภาพสวยที่สุดก็คือ ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวในอัตรา 2.7% จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 2.5% และก็เป็นที่รู้กันว่าการตั้งเป้าต้องให้ดูดีไว้ก่อนแล้วมาปรับลดภายหลัง
ยิ่งมีสถานการณ์ความขัดแย้งยืดเยื้อระดับนานาชาติเช่นสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และปัญหาสงครามการค้ากับจีน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วไปในโลกก็ยิ่งทำให้โอกาส ที่จะไปได้สวยสำหรับไทยนั้นดูยากเย็นเพราะลำพังปัจจัยภายในก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
ความเป็นจริงที่รู้กันโดยทั่วไปก็คือว่าอัตราการขยายตัวของไทยปีที่ผ่านมาเป็นรองบ๊วยแค่สิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งอยู่ระดับศูนย์หรือติดลบ ขณะที่ประเทศอื่นยังมีอัตราการขยายตัวในขั้นที่น่าพอใจ
เมื่อคำนึงถึงภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยใน ระดับสากล และหลายประเทศก็มาจากเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในภาวะขยายตัวเนื่องจากมีฐานต่ำมาก่อนไม่ต่างจากประเทศไทยในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นเสือตัวใหม่สุดท้าย กลายเป็นแมวป่วยเรื้อรังไม่คล่องแคล่วปราดเปรียว เพราะการดำเนินนโยบายผิดทิศผิดทางและการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างน่ากลัวว่าจะทำให้ฐานรากผุกร่อนถึงขั้นเสื่อมทรุดจนยากแก่การแก้ไขได้ง่ายๆ
เมื่อพิจารณาดูโครงสร้างอำนาจการเมือง เศรษฐกิจและสังคม คงยากที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดลงกว่าที่เป็นอยู่เพราะระบบเส้นสายเครือญาติ เพื่อนพ้องน้องพี่ นโยบายที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มและความบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาทำให้ปิดโอกาสสำหรับคนดีมีฝีมือใจซื่อมือสะอาดเข้ามามีโอกาสกุมอำนาจบริหารประเทศได้
ยิ่งคนจากกองทัพประเภททหารการเมืองผันตัวเข้าสู่วงการเมือง เต็มรูปแบบ และพยายามจัดโครงสร้างเพื่อการสืบทอดอำนาจผ่านระบบการเลือกตั้งด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้คนดีมีฝีมือหมดโอกาส และการเมืองไทยตัดสินกันด้วยเงินและอำนาจนิยม เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด
นั่นเป็นเรื่องระยะยาวจะแก้ไขได้หรือไม่ก็ตามแต่มีส่วนทำให้ความยากลำบากในการจัดการปัญหาการทุจริตยังคงอยู่ทั้งยังจะมีคนเข้าร่วมขบวนการ ทุจริตคดโกง เมื่อเห็นผลเร็วและกระบวนการทางกฎหมายอ่อนแอไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้เพราะการช่วยเหลือกันเป็นเครือข่ายนั่นเอง
ถ้าแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เรื่องอื่นถือว่าเป็นเรื่องเล็กเพราะการคอรัปชั่นได้ทำลายทรัพยากรของประเทศทุกด้านรวมทั้งโอกาสที่จะพัฒนา ไปบนเส้นทางที่เหมาะสมกับโครงสร้างในด้านทรัพยากรของประเทศเช่นเกษตรกรรม.อุตสาหกรรมการค้าการท่องเที่ยวเป็นต้น
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ต้องทำในสิ่งที่ทำได้ตามสภาพ และเมื่อวกมาถึงประเด็นที่คนอยากรู้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมีคำตอบสั้นๆ เข้าใจง่าย คือเอาเพียงแค่ประคองสภาพไม่ให้เสื่อมทรุดไปมากกว่าปีที่ผ่านมาก็ถือว่าสุดยอดแล้วและโอกาสที่จะทำหน้าอย่างนั้นก็ถือว่าต้องใช้ความพยายามเพราะปัจจัย ด้านลบยังคงมีอยู่
ต้องมาพิจารณาความเป็นจริงของสภาพปัจจุบันก็คือโดยรวมแล้วประชาชนขาดกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ รวยกระจุก จนกระจาย ฐานรากเศรษฐกิจอยู่ในสภาพตายซากยากที่จะฟื้นโดยง่ายถ้าไม่มีมาตรการที่เหมาะสมและมีพลังเพียงพอ
ปัจจุบันเศรษฐกิจฐานรากแทบไม่เหลือ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลในการจัดระเบียบสังคมทำให้ผู้ค้ารายย่อยหมดทางทำมาหากินและส่งผลกระทบถึงสมาชิกครอบครัวและเครือข่ายเช่นผู้ผลิต ผู้ค้าส่งผู้ค้าปลีกและผู้ซื้อ
การจัดระเบียบสังคมเพื่อให้บ้านเมืองดูสะอาดเรียบร้อยแต่ประชาชนระดับล่างซึ่งรายได้น้อยขณะที่ยังมีภาระอยู่เต็มที่ต้องกู้หนี้ยืมสินทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึง 80% ของจีดีพีนับว่าเป็นระดับน่าตกใจ การอัดฉีดเงินในโครงการต่างๆโดยเฉพาะประชานิยมไม่ประสบความสำเร็จเพราะวงเงินน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาที่จะต้องแก้ไข
ความยากลำบากในการที่จะให้คนระดับล่างเข้าถึงทุนเพื่อทำธุรกิจก็ทำให้โอกาสที่จะฟื้นตัวได้ยากเหมือนปัญหาไก่กับไข่ เช่นหาเงินทุนได้ลำบากเพราะสถาบันการเงินไม่ให้กู้ เมื่อทำธุรกิจแล้วถ้าไม่มีคนซื้อสินค้า ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับยังชีพใช้หนี้คืน สถาบันการเงินมีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย
จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็คือธุรกิจเอสเอ็มอีระดับล่างอยู่ในสภาพที่ตายซากไปแล้ว ถือว่าเป็นฐานรากขนาดใหญ่เกี่ยวโยงกับผู้คนมากมายและเป็นตัววัดเพื่อจะให้รู้ว่าคนทั่วไประดับล่างนั้นยังพออยู่ได้ พอมีพอกินหรืออัตคัดแร้นแค้นจนลำบาก
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนบ่งชี้ชัดส่วนหนึ่งมาจากหนี้นอกระบบเพราะไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้ การที่สถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆไม่ยอมปล่อยกู้เพราะกลัวจะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้สินเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องตั้งวงเงินสำรองและเป็นภาระอีก
ธนาคารหรือสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาก แต่พยายามประคับประคองไม่กลายเป็นหนี้เสียซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับตัวเองและความมั่นคงของภาคสถาบันการเงินดังที่เคยเกิดขึ้นช่วงก่อนปี 2540
เมื่อเกิดวิกฤตลดค่าเงินบาทมีสถาบันการเงินมากกว่า 50 แห่งล้มและธนาคารพาณิชย์ต้องขายหุ้นให้นักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อความอยู่รอด
ขณะนี้ความกังวลก็คือปัญหาจากเอสเอ็มอีระดับล่างก็อาจจะลามไปถึงเอสเอ็มอีระดับกลาง ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่มีการใช้แรงงานหลาย 100 คน ที่ผ่านมาข่าวร้ายเกี่ยวกับการปิดงาน เลิกจ้างมีอยู่เป็นระยะเกิดปัญหาการว่างงานเป็นภาระต่อสังคม
ด้วยเหตุนี้โอกาสที่ผู้มีธุรกิจที่เรียกว่าสตาร์ทอัพจะเริ่มได้นั้นยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีเงินทุนพื้นฐานของตัวเอง และธนาคารยังกำหนดเงื่อนไขว่าผู้จะกู้ยืมนั้นจะต้องประกอบธุรกิจมาไม่น้อยกว่าสองปีดังนั้นคำว่าสตาร์ทอัพจึงแทบเป็นไปไม่ได้ในประเทศไทยสำหรับสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้
รัฐบาลจะทำอย่างไรตามแผนอัดฉีดหรือกระตุ้น ที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่าทำไม่ได้ผล ส่วนประชาชนที่ไม่มีทางเลือกก็จำเป็นต้องยอมรับสภาพและจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมว่าเอื้ออำนวยหรือไม่
ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ได้ ประชาชนอยู่ได้ ยังไม่ถือว่าเป็นวิกฤติแต่ถ้าประชาชนอยู่ไม่ได้ ก็อย่าหวังว่ารัฐบาลจะอยู่ได้
นี่คือสภาวะที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนจะต้องเผชิญในปีนี้ เลี่ยงอย่างไรก็ไม่ได้ ใครจะอยู่ใครจะไป ก็ต้องรอดู