การสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ของอิหร่าน กลายเป็นปัจจัยใหม่ ซึ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจปีนี้ ส่อเค้าว่า จะเลวร้ายเกินกว่าที่เคยประเมินกันไว้ และไม่ง่ายที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรับมือผลกระทบรุนแรงที่กำลังตามมา
ตลาดหุ้น ราคาทองคำ และราคาน้ำมันเกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หรือทันทีที่สหรัฐฯ ส่งโดรนสังหารนายพลกอเซ็ม
และเมื่ออิหร่านเปิดปฏิบัติการตอบโต้ โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก ทำให้คาดหมายว่า ศึกระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านคงจะไม่จบลงง่าย
ชนวนสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก่อตัวขึ้นแล้ว โดยไม่มีใครทำนายได้ว่า เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายอย่างไร ยืดเยื้อขนาดไหน และผลกระทบทางเศรษฐกิจจะร้ายแรงเพียงใด
เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอยู่แล้ว ถ้าถูกผลกระทบจากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านเข้ามาอีก จึงหวั่นกันว่า อาจเกิดวิกฤตขึ้นได้
ประมาณการเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ ตัวเลขที่ตั้งไว้ตัวเลขต่ำอยู่แล้ว โดยคาดว่าจีดีพีจะโตประมาณ 2.8% ภายใต้สมมติฐานว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนคลี่คลาย การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกิน 2%
แต่ประมาณการจีดีพี ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะวิกฤตหนัก และยังไม่ได้รวมผลกระทบจากชนวนสงครามสหรัฐฯ กับอิหร่าน จนอาจจะทำให้การเซ็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต้องเลื่อนออกไป
ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องตั้งทีมขึ้นมาทางแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรทั้งประเทศ เพราะผลผลิตภาคเกษตรจะเสียหายหนัก ทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ และส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศที่ตกต่ำอยู่แล้ว
ส่วนวิกฤตในตะวันออกกลางครั้งใหม่ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิต โดยสินค้ามีแนวโน้มที่จะปรับราคาขึ้น
ข้าวของจะแพงขึ้น ท่ามกลางภาวะที่ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และทำให้ยอดขายสินค้าทรุดลงต่อเนื่อง
การส่งออกที่พยายามผลักดันให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 2% นั้น อาจต้องทบทวนประมาณการกันใหม่ เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงคราม ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะทำให้การส่งออกลดลง เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจะยกเลิกการเดินทาง
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านในขณะนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยไม่อาจประเมินได้ว่า จะใช้เวลาสถานการณ์การตอบโต้ระหว่างทั้งสองฝ่าย จะยาวนานเท่าไหร่
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ หาความแน่นอนไม่ได้ นักลงทุนคงชะลอการตัดสินใจ เว้นวรรคการลงทุน ผู้บริโภคหยุดการใช้จ่าย ทำให้การค้าและการลงทุนทั่วโลกซบเซา เศรษฐกิจเงียบเหงา
แม้ไม่เกิดเหตุการณ์สังหารนายพลอิหร่าน เศรษฐกิจไทยก็ย่ำร่อแร่อยู่แล้ว โดยปีนี้ประเมินว่า สถานการณ์จะไม่ดีขึ้นกว่าปีก่อนมากนัก โดยกำลังซื้อยังตกต่ำ การส่งออกไม่ฟื้น การลงทุนไม่สดใส เมื่อเกิดกรณีสหรัฐฯ กับอิหร่าน ทำให้เกิดความกังวลว่า เศรษฐกิจปีนี้จะทรุดหนักกว่าปีที่แล้ว
เริ่มต้นศักราชใหม่เพียงไม่กี่วัน ข่าวร้ายชิ้นใหญ่ก็ถล่มใส่ซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้ามาอีก จนต้องทบทวนประเมินภาวะเศรษฐกิจกันใหม่ เพราะทุกอย่างมีแนวโน้มเลวร้ายลง
ตลาดหุ้นที่มองกันว่า น่าจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,700 จุด ตอนนี้เริ่มมีมุมมองจากบริษัทโบรกเกอร์บางแห่งว่า นักลงทุนมีโอกาสได้เห็นดัชนีหุ้นหลุดต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด
จีดีพีที่มองกันว่า จะโต 2.8% ถ้าศึกสหรัฐฯ อิหร่านยืดเยื้อ อาจต้องปรับลดประมาณการกันใหม่ตั้งแต่ต้นปีกันเลย เช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งปรับประมาณการกันหลายรอบ จากจีดีพีโต 4% สุดท้ายปลายปีปรับลดเหลือเพียง 2.5%
ใครที่ประกาศว่า ปีนี้ไม่มีการเผาจริง อาจต้องปรับทัศนคติใหม่เสียแล้ว เพราะสถานการณ์รอบด้านกำลังบ่งชี้ว่า ปีนี้แหละจะต้องเผากันจริงๆ
ปีนี้แหละเศรษฐกิจจะทรุดหนักจนถึงจุดวิกฤต ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงและลุกลามในวงกว้างกว่าวิกฤตต้มย้ำกุ้งเมื่อปี 2540
ดังนั้นทุกคนจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่กำลังคืบคลานเข้ามา โดยชนวนวิกฤตถูกจุดขึ้นแล้ว หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งสังหารนายพลของอิหร่าน
สถานการณ์ที่กำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งปลอบใจ สร้างภาพเรียกความมั่นใจให้ประชาชน แต่จะต้องประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริง และยอมว่า ศึกระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน เพิ่งเริ่มต้นขยายวงและสร้างความหวาดผวาไปทั่วโลกอีกระยะหนึ่ง โดยไม่อาจหยั่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้
สัญญาณเศรษฐกิจที่ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลา “เผาจริง” โดยมีภาวะสงครามสหรัฐฯ กับอิหร่านเป็นตัวจุดชนวน ต้องส่งต่อถึงประชาชน เตือนให้เตรียมตัวรับมือผลกระทบที่จะรุนแรงยิ่งกว่าปีก่อน