xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ สหรัฐ-อิหร่าน ไม่ถึงขั้นสงครามโลก แนะคนไทยรับมือเศรษฐกิจผันผวน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการฟันธง เหตุโจมตีระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ไม่ลุกลามถึงขั้นสงครามโลก เหตุเพราะ จีน-รัสเซียไม่ร่วมวง ขณะที่สภาคองเกรสเบรค “ทรัมป์” พาชีวิตชาวมะกันสู่จุดเสี่ยง “รศ.ดร.สมชาย” ชี้สถานการณ์จากนี้คือสงครามตัวแทน อิหร่านใช้กองกำลังในต่างประเทศก่อเหตุ เชื่อไม่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ แนะคนไทยหยุดก่อหนี้ หาอาชีพเสริม รับมือเศรษฐกิจผันผวน ด้าน “ผศ.ดร.ธนวรรธณ์” คาด หากยังคุกรุ่น กระทบท่องเที่ยว -ส่งออก ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะ 35 บาท/ลิตร เศรษฐกิจเติบโตแค่ 2.5%

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกา ตามคำสั่งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่าน และนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้นำกองกำลังฮาชด์ชาบี ของอิรัก เสียชีวิตทันที ได้ส่งผลให้สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียด และหวั่นเกรงกันว่าอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ เนื่องจากเหตุการณ์นี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้อิหร่านถึงขั้นประกาศจะล้างแค้น และชาวอิหร่านร่วมกันบริจาคเงินเป็นค่าหัวในการสังหารประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่สภาอิรักก็เห็นชอบร่างกฎหมายให้สหรัฐถอนกองกำลังที่ประจำการอยู่ราว 5,200 นาย ออกจากอิรักเช่น ด้านสหรัฐรีบตอบโต้ทันควัน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่า สหรัฐฯมีเป้าหมายโจมตี 52 แห่งในอิหร่านหากอิหร่านกล้าตอบโต้สหรัฐ

เหตุการณ์ครั้งนี้จะลุกลามบานปลายถึงขั้นกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงหรือไม่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและประเทศยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างไรบ้าง และคนไทยควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ?

ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะลุกลามบานปลายหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูท่าทีของทั้งสองฝ่ายก่อน หากภายในเดือน ม.ค. นี้ ไม่มีสงครามระหว่างสองประเทศ โอกาสเกิดสงครามก็น้อยมาก หากเป็นการตอบโต้ในลักษณะก่อการร้ายก็ต้องดูว่ามีก่อการร้ายที่ไหน บานปลายหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าคงไม่มีผลทางจิตวิทยามากนัก

“ หากมีการรบระหว่างสหรัฐและอิหร่านถึงขั้นแตกหักรุนแรง ดึงอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้องสถานการณ์ก็จะยิ่งเลวร้าย แต่เชื่อว่าสหรัฐเองไม่อยากให้เกิดสงคราม แต่อาจสร้างสถานการณ์ให้ดูน่ากลัวเพื่อที่จะขายอาวุธ จะเห็นได้ว่าล่าสุดสภาคองเกรสหรือสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกำลังจะมีมติจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีโดนอลด์ ทรัมป์ ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่านภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากไม่พอใจที่นายทรัมป์ไม่ได้ขออนุมัติก่อนที่จะปฎิบัติการโจมตี ที่สำคัญปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ชาวอเมริกันตกเป็นเป้าและอยู่ในอันตราย” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ฟันธงว่า สงครามโลกหรือเต็มรูปแบบมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากปัจจัย 3 ประการ คือ

1.สหรัฐฯไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสงคราม แต่กลับกันหากเกิดสงครามสหรัฐจะเสียหายหนักมาก ทั้งระบบเศรษฐกิจ งบประมาณ และชีวิตผู้คน

2.อิหร่านตกเป็นรองสหรัฐมาก ไม่มีกำลังพอจะประกาศสงครามโดยใช้อาวุธเข้าถล่มแบบประเทศมหาอำนาจ

3.จีนและรัสเซีย ซึ่งดูเหมือนให้การสนับสนุนอีหร่านไม่เข้ามาร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ โดยจีนเพียงแค่ประนามการใช้ความรุนแรงของสหรัฐและระบุว่าจะสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง ขณะที่รัสเซียประนามสหรัฐฯต่อการสังหารผู้นำอิหร่านว่าป็นการเพิ่มความตึงเครียดไปทั้งภูมิภาค แต่ไม่ได้ประกาศจะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับอิหร่าน เนื่องจากจีนและรัสเซียต่างก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนการร่วมซ้อมรบของจีน รัสเซีย และอิหร่าน เมื่อปลายปี 2562 ก็เป็นแค่การร่วมมือเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่งสัญญาณให้สหรัฐฯเกรงใจเท่านั้น

“ ทรัมป์ประเมินผิดเพราะคิดว่าการใช้ความรุนแรงจัดการอิหร่านจะช่วยเรียกคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันว่าเขาเป็นผู้นำที่เด็ดขาด และการเล่นงานนายทหารคนสำคัญของอิหร่านจะทำให้อิหร่านไม่กล้าหือกับสหรัฐ แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงการกระทำของทรัมป์เพราะเกรงว่าจะพาอเมริกาเข้าสู่สงคราม ขณะที่การโจมตีอิหร่านกลับทำให้พันธมิตรของอิหร่าน โดยเฉพาะกองกำลังที่อยู่ในประเทศต่างๆไม่พอใจซึ่งส่งผลให้อีหร่านยิ่งเข้มแข็งขึ้น” รศ.ดร.สมชาย ระบุ


รศ.ดรสมชาย ยังได้ประเมินสถานการณ์นับจากนี้ว่า จากปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้อิหร่านและสหรัฐเลือกตอบโต้กันในรูปแบบของสงครามตัวแทน โดยอิหร่านจะอาศัยกองกำลังพันธมิตรในประเทศต่างๆซึ่งอิหร่านเคยให้การช่วยเหลือและสนับสนุน เช่น กองกำลังกบฏฮูตีในเยเมน กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในลบานอน กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ให้เข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐในประเทศต่างๆเพื่อลดทอนอำนาจของสหรัฐ และโจมตีพลเมืองสหรัฐที่อยู่ในประเทศต่างๆเพื่อสร้างความหวาดกลัว อีกทั้งจะเล่นงานประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย โดยเน้นเล่นงานเรื่องน้ำมันซึ่งเป็นผลประโยชน์หลักของซาอุฯ ขณะที่สหรัฐจะโจมตีกองกำลังต่างๆที่สนับสนุนอิหร่านเช่นกัน อย่างไรก็ดีอิหร่านจะไม่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ (ช่องแคบที่กั้นระหว่างอิหร่านกับโอมาน เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ)ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันของประเทศในตะวันออกกลาง เนื่องจากเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับอีกหลายประเทศและยังเป็นข้ออ้างให้สหรัฐเข้าโจมตีอิหร่านอย่างชอบธรรม

“เป้าหมายแรกของอิหร่านคือการลดอิทธิพลของสหรัฐในตะวันออกกลาง จะเห็นได้ล่าสุดอิหร่านได้โจมตีฐานทัพสหรัฐ 2 แห่งที่อยู่ในอิรัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายกำลังทหารของสหรัฐแล้วยังต้องการกดดันให้คนอเมริกันกว่า 3,000 คนที่อยู่ในอิรักให้อพยพออกไป อีกทั้งยังทำให้บางกลุ่มในอิรักที่สนับสนุนสหรัฐไม่กล้าเคลื่อนไหวอีกด้วย” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

ส่วนการใช้กำลังตอบโต้กันระว่างสหรัฐกับอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกและประเทศไทยอย่างไรนั้น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ วิเคราะห์ว่า ปฏิบัติการโจมตีระหว่างสหรัฐกับอิหร่านในครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากหากย้อนไปดูการตอบโต้ระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ต่างจากครั้งนี้ที่รัฐบาลสหรัฐและอิหร่านปฏิบัติการตอบโต้กันทันควัน อิหร่านประกาศชักธงรบเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะนานแค่นั้นขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลอิหร่าน รัฐบาลบาลสหรัฐ และประเทศพันธมิตรของทั้งสองประเทศ

“ หากสถานการณ์ยังคุกรุ่นต่อเนื่องก็คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับตัวสูงขึ้น 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวสูงขึ้น 5-10 บาทต่อลิตร หรืออยู่ที่ประมาณลิตรละ 35 บาท ความวิตกต่อการสู้รบกันของทั้งสองประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยเพราะหากคนรู้สึกหวาดกลัวก็จะไม่กล้าท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสถานการณ์ที่อึมครึมและทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 2.5% เท่านั้น ” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

อิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐในอิรัก
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ที่ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน และตลาดหุ้นปั่นป่วนในระยะสั้นๆ ขณะที่เศรษฐกิจโลกซึ่งมีปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่แล้วก็ยิ่งมีปัญหาจากสถานการณ์สู้รบระหว่างสหรัฐและอิหร่านซึ่งส่งผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนนี้จะส่งผลต่อการค้า การลงทุนและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ถึง 3%

สำหรับแนวทางในการรับมือของคนไทยต่อสถานการณ์ดังกล่าวนั้น รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ขณะที่ประเทศไทยก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 78.8% ของ GDP อยู่ในอันดับ 2 ของเอเชีย มีปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก คนรวยแค่ 1% ครอบครองสินทรัพย์กว่า 60% ของประเทศ ประกอบกับรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน โดยดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน ซึ่งไม่ใช่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพราะไม่ได้สร้างความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการหารายได้ให้แก่ประชาชน รัฐบาลปล่อยให้มีการผูกขาดในหลายๆเรื่อง ทำให้ธุรกิจรายย่อยไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้และตายไปในที่สุด

ดังนั้นสิ่งที่ประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางและรากหญ้าต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนคือ 1.ห้ามก่อหนี้ 2.ทำงานให้หนักขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 3.หาความรู้เพิ่มเติม 4.พยายามหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น