xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2563 ชะตากรรมพนักงานมหาวิทยาลัยจะให้ใครกำหนด?

เผยแพร่:   โดย: ชญานุช วีรสาร



โดย ชญานุช วีรสาร

เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่มีการตรากฎหมายให้มหาวิทยาลัยของรัฐต้องออกนอกระบบ และให้อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ โดยมีพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นผู้ขับเคลื่อนทิศทางของมหาวิทยาลัยแทนข้าราชการ หากมหาวิทยาลัยแห่งใดพร้อมก่อนก็ออกก่อน เปลี่ยนสถานะจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ส่วนที่ค้างคายังไม่ออกจนทุกวันนี้มีไม่ถึงสิบแห่ง (ไม่นับรวมราชภัฏ) ไม่ใช่แค่ไม่พร้อมเท่านั้น แต่ผู้บริหารซึ่งเป็นข้าราชการยังไม่อยากออก เนื่องด้วยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อาจจะอยู่รอรับบำนาญ และต้องการวางนโยบายขับเคลื่อนแทนพนักงาน ทั้งที่เป็นคนส่วนน้อยของมหาวิทยาลัย คงทำใจลำบากถ้าต้องถูกลดบทบาทลง ทั้งที่ให้เวลาทำใจมานานถึง 20 ปีแล้ว ก็ยังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเป็นผู้นำองค์กรเรื่อยมา ผูกขาดอำนาจการบริหารให้พวกพ้องกันเองจนชิน บ้างก็ล้มหายตายจากกันไป บ้างก็โดนปปช.ชี้มูลคดีคอร์รัปชัน แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของข้าราชการได้ เราควรเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ว่า ความอาวุโสหรืออยู่มานานไม่ได้การันตีว่าเป็นคนดีหรือคนเก่ง ดังที่เห็นตัวอย่างกันมาก็เยอะแล้ว

อันที่จริงข้าราชการดีๆ ก็มี หากใจกว้างพอก็ต้องพร้อมและยอมรับการออกนอกระบบ เพื่อมาเป็นพนักงานเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ให้ได้ ถ้าเป็นคนดีคนเก่งมีผลงานเชิงประจักษ์ก็ค่อยกลับขึ้นไปบริหารต่อได้อย่างภาคภูมิ รวมทั้งจะได้เข้าอกเข้าใจสถานะของพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยกันบ้าง ไม่ใช่แบ่งชนชั้นคอยค่อนแคะกันอย่างทุกวันนี้ อย่างไรเสียผู้ที่เป็นข้าราชการเก่า แม้จะแปรสภาพเป็นพนักงานก็ย่อมมีสิทธิ์หลายๆ ด้านมากกว่าผู้ที่เข้ามาเป็นพนักงานโดยตรงอยู่ดี

ผลพวงของการไม่ยอมออกนอกระบบที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีค่าจ้างเงินเดือน 1.5 เท่า (สายสนับสนุน) / 1.7 เท่า (สายวิชาการ) ซึ่งถูกละเลยเพิกเฉยมานาน 20 ปีเช่นกัน มหาวิทยาลัยที่จ่ายแล้วก็หมดปัญหา แต่อีกหลายแห่งที่คาราคาซังอยู่จนพนักงานมหาวิทยาลัยต้องยื่นฟ้องศาลปกครองเป็นรายหัวกันให้วุ่น กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร บางมหาวิทยาลัยฟ้องร้องเกือบ 400 คน หากโจทย์ชนะมหาวิทยาลัยต้องจ่ายคืนหลายร้อยล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย แต่ผู้บริหารก็ยังยิ้มสู้ เข้าข่ายวลีที่ว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ใครทนได้ก็ทนไป หลายคนก็ทนเท่าปีที่มีมติครม. เพราะติดทุนอยู่ ยังไม่นับรวมมติครม.ปรับฐานเงินเดือนย้อนหลังอีกหลายครั้งที่ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยโนสนโนแคร์ โดยผู้บริหารสรุปง่ายๆ ว่า “อยากได้ก็ไปฟ้องเอา” ชนะเมื่อไหร่ค่อยจ่ายคืน พนักงานมหาวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่งก็ได้แต่ก้มหน้ารับกรรมไปไม่กล้าสู้ เพราะเกรงว่าจะตกงานมากกว่าได้เงินของตนคืน

ส่วนกรณีหักหัวคิวเงินเดือนพนักงานของอีกหลายมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ถึงไหน บางมหาวิทยาลัยยอมส่งเงินคืนสำนักงบประมาณนับร้อยล้านบาทขึ้นอยู่จำนวนปีที่หักตามคำสั่งสตง. ขณะที่อีกหลายแห่งตีมึนหักหัวคิวต่อไป แถมไม่คืนด้วย ยังคงเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่อง นึกภาพเอาว่าถ้าวันหนึ่งองค์กรนั้นต้องส่งเงินคืนสำนักงบประมาณ และแพ้คดีด้วย การคลังขององค์กรดังกล่าวจะเป็นอย่างไรจากการบริหารที่ผิดพลาดมา 20 ปี

การออกนอกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างน้อยก็ช่วยปลดล็อคปัญหาที่เป็นอยู่ได้ เพราะปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ “คน” ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่อุ้มกันไปอุ้มกันมา จนเป็นสภาเกาหลัง สภามหาวิทยาลัยหลายแห่งเจอฉายาเดียวกัน ผู้บริหารเลือกกรรมการสภา กรรมการสภาก็เลือกผู้บริหาร ไม่รู้ใครได้ประโยชน์กว่ากัน แต่ที่แน่ๆ พนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่งเสียประโยชน์แน่นอน แทนที่พนักงานมหาวิทยาลัยควรจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนทิศทางของมหาวิทยาลัย แต่มักถูกตีตกไปด้วยจำนวนกรรมการสภาไม่กี่คนที่เป็นผู้ชี้อนาคตของมหาวิทยาลัยเสียเอง

หรือแท้จริงแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายเหลือเพียงแค่ชื่อเสียง แต่ความสามารถของพวกเขาถูกใช้หมดไปนานแล้ว เข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยไม่เข้าใจภาระหน้าที่ของตนว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมสนับสนุนองค์กรไปสู่ความเจริญได้อย่างไร

เมื่อมหาวิทยาลัยย้ายมาสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแล้ว ก็หวังว่าในปี 2563 ครบรอบมติครม. 20 ปีพอดีจะมีความหมายอยู่บ้าง ไม่ใช่พายเรือในอ่าง หาทางขึ้นฝั่งก็ไม่ได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น