xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อวสาน “นิสสัน” ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงเป็น “มหากาพย์” ที่สั่นสะเทือนแวดวงรถยนต์โลกอย่างต่อเนื่องสำหรับการดำเนินคดี “คาร์ลอส กอส์น” ประธานและซีอีโอ ของกลุ่มอัลลายแอนซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย “เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ” ผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายรวมกันอยู่ในระดับท็อป 5 ของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ “คาร์ลอส กอส์น” ซึ่งอยู่ระหว่างต่อสู้คดีอื้อฉาว ยักยอกเงินของบริษัท ฉวยโอกาสที่ได้รับการประกันตัวกระทำการเหนือเมฆหลบหนีออกจากญี่ปุ่นไปยัง “เลบานอน” โดยทิ้งปริศนาไว้ให้คนญี่ปุ่นงุนงงว่าทำได้อย่างไร

ที่น่าสนใจคือ ซีอีโอที่ได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกยานยนต์ได้รับการต้อนรับขับสู้ “อย่างอบอุ่น” จาก “ประธานาธิบดี มิเชล อูน แห่งเลบานอน” หลังเดินทางมาถึงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน

แน่นอน เรื่องราวการหลบหนีคดีที่ว่ากันว่า ใช้เวลาวางแผน “นานกว่า 3 เดือน” เป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้คนสงสัย แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นน่าจะอยู่ตรงที่ความเคลื่อนไหวของเขานับจากนี้ว่าจะมี “ข้อมูลเด็ด” อะไรออกมาตอบโต้รัฐบาลญี่ปุ่นหรือไม่

ดังที่เขามีถ้อยแถลงสั้นๆ เมื่อเดินทางถึงเลบานอนว่า...

“ต่อไปนี้ผมจะไม่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นที่ไม่ตรงไปตรงมา สรุปว่าจำเลยมีความผิดตั้งแต่ต้น เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานถูกปฏิเสธ ญี่ปุ่นไม่คำนึงถึงกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องยึดถือ ผมไม่ได้หนีจากกระบวนการยุติธรรม แต่หนีจากความอยุติธรรม และการกดขี่ข่มเหงทางการเมือง”

เป็นถ้อยแถลงที่สั่นสะเทือนกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง และกระทบความสัมพันธ์ระหว่าง “ญี่ปุ่น” กับ “เลบานอน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันก็ต้องจับตามองเช่นกันว่า เส้นทางธุรกิจของ “กลุ่มอัลลายแอนซ์” ซึ่งประกอบไปด้วย “เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ” จะดำเนินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะ “ค่ายนิสสัน” ซึ่งสามารถพลิกสถานะจากความเสี่ยงล้มละลายกลับมายืนหยัดอยู่ในแถวหน้าด้วยฝีมือของ “คาร์ลอส กอส์น”

ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2542 นิสสันประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและขาดทุนสะสมหลายปีจนถึงขั้นวิกฤตเสี่ยงต่อการล้มละลาย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ลามทั่วเอเชีย เรโนลต์จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยและบรรลุข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรกัน และก่อตั้งกลุ่มในชื่อ อัลลายแอนซ์ (Alliance) ขึ้นมา

โดยข้อตกลงชุดแรก เรโนลต์เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 36.8% ในบริษัท นิสสัน มอเตอร์ แลกกับการที่เรโนลต์จัดการหนี้มูลค่า 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับนิสสัน ส่งผลให้นิสสันหลุดพ้นภาวะล้มละลาย หลังจากนั้นสัดส่วนการถือหุ้นของเรโนลต์ในบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เพิ่มขึ้นเป็น 44.4% ส่วนนิสสันเข้าถือหุ้น ในบริษัท เรโนลต์ 15% จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้การถือหุ้นของทั้งสองบริษัทเหมือนเป็นลักษณะของการถือหุ้นไขว้กันทั่วไป แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากหุ้นเรโนลต์ ที่นิสสันถือนั้น ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการโหวตใดๆ ขณะที่หุ้นนิสสันที่เรโนลต์ถือครองสามารถโหวตในห้องประชุมผู้ถือหุ้นได้ มีสิทธิ์เลือกกรรมการและผู้บริหารได้ครบถ้วน

ทั้งนี้ เมื่อเรโนลต์อยู่ในฐานะที่ควบคุมกิจการของนิสสันทั้งหมด ทีมบริหารจากเรโนลต์จึงได้เข้าร่วมบอร์ดบริหารของนิสสัน และมีชื่อของ “คาร์ลอส กอส์น” เข้ามาร่วมทำหน้าที่บริหารงานของนิสสัน นับตั้งแต่ปี 2542 พร้อมประกาศแผนปรับปรุง และพลิกฟื้นกิจการกลับมามีกำไรให้ได้ โดยในปี 2543 คาร์ลอส กอส์น ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน (President) และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (COO) หลังจากนั้น ในปี 2544 คาร์ลอส กอส์น ขยับตำแหน่งเป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)

หลังจากกอส์นเข้ามาบริหารได้เพียง 3 ปีกว่า ในปี 2545 นิสสันประกาศผลประกอบการกลับมามีกำไรพร้อมล้างหนี้สะสมทั้งหมดได้ และเดินหน้าทำกำไรอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลจากความสามารถในการพลิกกิจการของนิสสันที่แทบจะล้มละลายให้กลับมามีกำไรนั้น ทำให้กอส์นได้รับรางวัลยกย่องมากมาย รวมถึงมีชื่อ กอส์น อยู่ใน Japan Automotive Hall of Fame (หอเกียรติยศด้านยานยนต์ของญี่ปุ่น)ด้วย ในปี 2548

เรียกว่า ตลอดช่วงเวลาที่ คาร์ลอส กอส์น บริหารงานและดำรงตำแหน่งสูงสุดในบริษัท นิสสัน มอเตอร์ สามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นรายนี้ได้ ก่อนที่เขาจะลงจากตำแหน่ง ซีอีโอ ในปี 2560 โดยคงไว้เพียงตำแหน่ง ประธานของนิสสัน มอเตอร์ เท่านั้น และแต่งตั้งให้ “ฮิโรโตะ ไซคาวะ” เข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอแทน

หลังจากนั้น เพียงปีกว่าๆ คาร์ลอส กอส์น ถูกจับคาสนามบินที่ประเทศญี่ปุ่น ตามรายงานข่าวนี้สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก ด้วยข้อหากระทำความผิดเกี่ยวกับการเงินของประเทศญี่ปุ่น และเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ข้อหาที่ คาร์ลอส กอส์น ต้องเผชิญก็คือ มีการนำเงินของทางบริษัทไปใช้ “ส่วนตัว” จำนวนมหาศาล และมี “พฤติกรรม” ที่ไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง

ทั้งเช่าบ้านพักหรูใน 4 ประเทศคือ นครรีโอเดจาเนโรของบราซิล กรุงเบรุตของเลบานอน กรุงปารีสของฝรั่งเศส และกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ โดยนายกอส์น ใช้บ้านพักเหล่านี้โดยไม่มีเหตุผลทางธุรกิจ

ทั้งการให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับให้ตัวเองและครอบครัวในการเดินทางท่องเที่ยว เป็นมูลค่าหลายสิบล้านเยน

รวมถึงมีข้อมูลที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ NHK ด้วยว่า คาร์ลอส กอส์นอาจยักยอกเงินที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจัดสรรไว้ให้กับผู้บริหารคนอื่น ๆ ไปเป็นของตัวเอง ซึ่งทางนิสสัน มอเตอร์ ตรวจพบว่าได้จ่ายค่าตอบแทนแก่บรรดาผู้บริหารน้อยกว่าตัวเลขที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยมีส่วนต่างปีละประมาณ 1,000 ล้านเยน หรือราว 300 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของนิสสัน มอเตอร์ ได้อนุมัติให้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่บรรดาผู้บริหารรวมประมาณ 3,000 ล้านเยนต่อปี หรือราว 900 ล้านบาท แต่ยอดเงินที่จ่ายจริงให้แก่บรรดาผู้บริหารในแต่ละปีนั้น น้อยกว่ายอดรวมที่ได้รับการอนุมัติราว 1 ใน 3

ประเด็นก็คือ คาร์ลอส กอส์น ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดส่วนแบ่งเงินค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารแต่ละคน จึงต้องสงสัยว่าเงินส่วนต่างนี้ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นรายรับของนายกอส์นเอง

คาร์ลอส กอส์น ผู้พลิกฟื้นนิสสันให้พ้นวิกฤตที่วันนี้ตกเป็น “จำเลย” ในคดีฉ้อโกงจนต้องหนีออกจากญี่ปุ่นไปพึ่งใบบุญเลบานอน

ป้ายบิลบอร์ดซึ่งมีภาพและข้อความสนับสนุน คาร์ลอส กอส์น ในกรุงเบรุต ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ปี 2018 (แฟ้มภาพ – AFP)
นอกจากนี้ ในรายงานทางการเงินของนิสสันที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ระบุว่าในปี 2557 นายคาร์ลอส กอส์นในฐานะประธานบริษัทมีรายรับราว 9.1 ล้านดอลลาร์ต่อปี, ในปี 2558 มีรายรับราว 9.5 ล้านดอลลาร์, ปี 2559 มีรายรับราว 9.7 ล้านดอลลาร์ แต่จู่ ๆ ปีที่แล้วรายรับของเขาที่รายงานกลับลดลงเหลือเพียง 6.5 ล้านดอลลาร์อย่างน่าประหลาด

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้รับค่าตอบแทนราว 1.9 ล้านดอลลาร์ต่อปีจากการเป็นกรรมการของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ทั้งนี้มิตซูบิชิได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือนิสสัน มอเตอร์ หลังเผชิญกรณีอื้อฉาวแจ้งอัตราการประหยัดน้ำมันของรถยนต์เป็นเท็จเมื่อ 2559 รวมถึงเขายังมีรายได้จากเรโนลด์ ค่ายรถยนต์ที่มีฐานในฝรั่งเศสอีกด้วย

อัยการเขตโตเกียวแถลงเหตุผลในการจับกุม คาร์ลอส กอส์นว่า ข้อกล่าวหาที่สำคัญคือการรายงานรายได้ต่ำเกินจริงถึงราว 44.5 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ยังไม่รวมส่วนที่ต้องสงสัยว่าเขานำเงินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว และยักยอกค่าตอบแทนของผู้บริหารคนอื่น ซึ่งทางบริษัทและผู้เสียหายจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษเป็นคดีที่แยกต่างหาก

ฮิโรโตะ ซาอิกาวะ ซีอีโอของนิสสัน แถลงข่าวในคืนวันเดียวกันว่า ภายหลังได้รับเบาะแสข้อมูลจากบุคลากรภายใน บริษัทก็ได้ดำเนินการสอบสวนนานหลายเดือน และพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการเงินมากมายหลายอย่างตลอดระยะเวลา 5 ปีนับจากปีการเงิน 2010 ทั้งของคาร์ลอส กอส์น และเกร็ก เคลลี่ กรรมการตัวแทนของนิสสัน โดยมีทั้งแจ้งเงินเดือนผลตอบแทนของกอส์นต่ำเกินจริงต่อหน่วยงานรับผิดชอบของทางการ และการใช้ทรัพย์สินของบริษัทผิดวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ ฮิโรโตะ ซาอิกาวะ เชื่อว่าการรวบอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียวคือหนึ่งในปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

ย้อนกลับไปราว 6 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการจับกุมเกิดขึ้น มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับทิศทางใหม่ของกลุ่มอัลลายแอนซ์ โดยจะมีการรวมกันของทั้งสามแบรนด์ เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างทั้งการบริหารงานและผู้ถือหุ้น โดยอาจจะรวมไปถึง “แบรนด์” ด้วย

“ผมจะต้องคุยกับบอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นของทั้งสามแบรนด์ ถึงแผนการควบรวมกิจการของทั้ง 3 แบรนด์ โดยเริ่มจากนิสสันและเรโนลต์ก่อน เราจำเป็นต้องทำเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก ผมทราบดีว่ามันยาก แต่ผมจะทำเพื่อความมั่นคง” คาร์ลอส กอส์น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงทิศทางในอนาคตของกลุ่มอัลลายแอนซ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561

สอดคล้องกับจังหวะเวลาที่ทางนิสสันรายงานว่า เริ่มต้นตรวจสอบการดำเนินการด้านการเงินที่ผิดปกติของคาร์ลอส กอส์น ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการจับกุมดังที่เป็นข่าว

แน่นอนว่า มีเพียงบอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นเท่านั้นที่ทราบดีว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ แต่แล้วเมื่อเกิดเหตุกับ คาร์ลอส กอส์น แผนการควบรวมกิจการดังกล่าว ย่อมต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่มีกำหนด

อย่างที่ทราบดีกันว่า เรโนลต์คือผู้กุมอำนาจเหนือนิสสันในการบริหารงาน แล้วใครคือผู้มีอำนาจบริหารคุมเรโนลต์ โดยตำแหน่งแล้ว ชื่อของ คาร์ลอส กอส์น เป็นทั้งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ก่อนถูกจับ) แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเรโนลต์ คือ รัฐบาลฝรั่งเศส โดยครองสัดส่วน 15.01 % ดังนั้น คนที่มีอำนาจสูงสุด คือ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส “เอมมานูเอล มาครอง” นั่นเอง ซึ่งได้มีการออกกฎหมายพิเศษ “Florange Law” ทำให้หุ้นของรัฐบาลถืออยู่มีสิทธิมากกว่าหุ้นปกติอื่นๆ

เมื่อ คาร์ลอส กอส์นถูกจับกุม ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ในฐานะที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเรโนลต์ จึงรู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของพันธมิตรระหว่างเรโนลต์และนิสสัน”

ขณะที่ โอซามุ มาสุโกะ ซีอีโอของมิตซูบิชิ กล่าวอย่างตรงไปตรงมามากกว่าว่า พันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ คงจะยากลำบากสำหรับการบริหารจัดการเมื่อปราศจากบุคคลที่เป็นศูนย์รวมอย่างกอส์น “ผมไม่คิดว่าจะมีใครคนอื่นอีกแล้วในโลกนี้ที่จะเหมือนกับกอส์น ซึ่งสามารถบริหารทั้งเรโนลต์, นิสสัน, และมิตซูบิชิได้”

ทั้งนี้ ฮิโรโตะ ไซคาวะ เคยส่งสัญญาณถึงประธานาธิบดีของฝรั่งเศส “เอมมานูเอล มาครอง” ให้ลดการควบคุมนิสสันลง และคืนสิทธิ์ในการโหวตของหุ้นเรโนลต์ที่นิสสันถือครองอยู่ให้กับนิสสันด้วย เพราะนิสสันมีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ 15.01 % รวมถึงสละสิทธิ์ในการควบคุมกลุ่มอัลลายแอนซ์บ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้รับการตอบรับจาก เอมมานูเอล มาครอง แต่อย่างใด

สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้นิสสันอยู่ในภาวะอึดอัดอย่างมาก และหากย้อนกลับไปดู สิ่งที่ คาร์ลอส กอส์น ทำกับนิสสันในด้านดีคือ พลิกผลการดำเนินการให้กลับมามีกำไรได้ แต่อีกด้านคือ การลดคนงาน ลดฐานการผลิต และลดซัพพลายเออร์ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การปรับภาษาหลักที่ใช้ในองค์กรจากภาษาญี่ปุ่น เปลี่ยนมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แน่นอนว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบกระเทือนด้านจิตใจคนญี่ปุ่นและแบรนด์ญี่ปุ่นมิใช่น้อย

เรียกว่า ในมุมมองนิสสันแล้ว แทบจะเป็นผู้ถูกกระทำจากฝ่ายของเรโนลต์เพียงฝั่งเดียว โดยที่ตัวเองไม่มีสิทธิ์มีเสียงแต่อย่างใด ทั้งยังมีส่วนของการขยายกิจการ ซึ่งนับตั้งแต่เรโนลต์เข้ามาได้อาศัยเครือข่ายของนิสสันขยายกิจการของเรโนลต์ไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนืออย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ของนิสสัน ที่เรโนลต์ได้หยิบนำไปใช้ได้ในฐานะพันธมิตร

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า การจับกุม คาร์ลอส กอส์น ดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น ทางเรโนลต์จึงมิได้ทราบเรื่องแต่อย่างใด และทำให้ทีมทนายความของเรโนลต์ ฝรั่งเศส ส่งจดหมายถึงนิสสันแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ของนิสสัน ที่ได้ทำลงไปในการหาหลักฐานเกี่ยวกับความผิดของกอส์น ในขณะที่นิสสันมีการเรียกประชุมบอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้นในวาระพิเศษเกี่ยวกับปลด คาร์ลอส กอส์น และแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความขัดแย้งของสองสมาชิกในกลุ่มอัลลายแอนซ์ที่ชัดเจนขึ้น

ถึงตรงนี้ เรื่องราวอันสลับซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่าง “นิสสัน-เรโนลต์” อันมีผลมาจากคดีคาร์ลอส กอส์นยังคงป็นจับตามองว่า สุดท้ายแล้วจะดำเนินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่คาร์ลอส กอส์นหลบหนีคดีจากญี่ปุ่นไปประเทศเลบานอน

อดีตซีอีโอผู้มีสมญานามว่า “Le Cost Killer” จะมีข้อมูลเด็ดสะระตี่ชนิด CONSPIRACY THEORY ออกมาแฉให้โลกได้รับรู้ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังคดีอื้อฉาวที่สั่นสะเทือนโลกธุรกิจยานยนต์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะใดบ้าง

รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจของค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ค่าย

โปรดติดตามด้วยความระทึกใจ.


กำลังโหลดความคิดเห็น