รอยเตอร์ - คาร์ลอส กอส์น อดีตประธานนิสสัน เข้าพบประธานาธิบดี มิเชล อูน แห่งเลบานอน หลังฉวยโอกาสที่ได้รับการประกันตัวหลบหนีคดีออกจากญี่ปุ่น แหล่งข่าวใกล้ชิด 2 คนเผยวานนี้ (1 ม.ค.)
แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่าว่า กอส์น ได้รับการต้อนรับขับสู้ “อย่างอบอุ่น” จากผู้นำเลบานอนเมื่อวันจันทร์ (29 ธ.ค.) หลังเดินทางจากนครอิสตันบูลกลับมาถึงเบรุต และขณะนี้ก็มีกำลังใจฮึกเหิมและรู้สึกปลอดภัย
บุคคลใกล้ชิด กอส์น ทั้ง 2 คนยังเผยด้วยว่า อดีตบอสนิสสันใช้เวลา “นานกว่า 3 เดือน” ในการวางแผนหลบหนีออกจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของคดีฉ้อโกงที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมยานยนต์โลกมานานกว่า 1 ปี
“มันคือปฏิบัติการที่เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพตั้งแต่ต้นจนจบ” แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุ
ระหว่างเข้าพบผู้นำเลบานอน กอส์น ได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดี อูน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เขาและนาง คาโรล ผู้เป็นภรรยา ระหว่างที่เขาถูกคุมขังอยู่ในญี่ปุ่น พร้อมทั้งขอความคุ้มครองจากรัฐบาลเลบานอนด้วย
ทั้งนี้ การพบปะระหว่าง อูน และ กอส์น ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน และที่ปรึกษาฝ่ายสื่อของทำเนียบประธานาธิบดีเลบานอนก็ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่แหล่งข่าว 2 คนย้ำว่าพวกเขาได้ทราบรายละเอียดทั้งหมดจากปากของ กอส์น เอง
กอส์น ยังไม่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้าพบประธานาธิบดีเลบานอน และยังคงเก็บตัวเงียบภายหลังจากที่มีถ้อยแถลงสั้นๆ เมื่อเดินทางถึงเลบานอนว่า เขา “รอดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมขี้โกงและการประหัตประหารทางการเมืองของญี่ปุ่นแล้ว”
แม้หนังสือเดินทางฝรั่งเศส, เลบานอน และบราซิลของ กอส์น จะยังถูกยึดอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่เลบานอนกลับยืนยันว่าอดีตผู้บริหารรายนี้ "ถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศส" เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย จึงไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ
กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและเลบานอนยืนยันว่าไม่ทราบบริบทแวดล้อมในการหลบหนีของ กอส์น ขณะที่รัฐบาลเลบานอนก็ไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับญี่ปุ่นด้วย
กอส์น ถูกจับกุมครั้งแรกที่กรุงโตเกียวเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2018 และถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงรวม 4 กระทงซึ่งเขาปฏิเสธทั้งหมด รวมถึงข้อหาปกปิดรายได้ที่แท้จริงและแสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเองโดยการโอนเงินทุนของนิสสันให้กับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ในตะวันออกกลางที่บริหารโดยคนรู้จักของเขา
กอส์น ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลเลบานอนอย่างเต็มที่ตั้งแต่ถูกจับในปี 2018 โดยถึงขั้นมีการขึ้นป้ายบิลบอร์ดว่า “เราทุกคนคือ คาร์ลอส กอส์น” เพื่อแสดงจุดยืนเข้าข้างเขา
ภายใต้เงื่อนไขประกันตัว กอส์น จะต้องถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักที่กรุงโตเกียวซึ่งมีกล้องวงจรปิดติดเอาไว้ที่ทางเข้า นอกจากนี้ยังถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับภรรยา คาโรล และถูกจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตหรือช่องทางสื่อสารอื่นๆ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
แหล่งข่าวระบุว่า เอกอัครราชทูตเลบานอนประจำญี่ปุ่นเดินทางไปเยี่ยม กอส์น ทุกวันตลอดระยะเวลาที่เขาถูกคุมขัง
สื่อเลบานอนบางสำนักออกมาเสนอทฤษฎีว่า กอส์น อาจจะซ่อนตัวมาในลังไม้บรรจุเครื่องดนตรี หลังจากที่มีการจัดคอนเสิร์ตส่วนตัวภายในบ้านพัก แต่ภรรยาของเขายืนยันกับรอยเตอร์ว่าแนวคิดนี้เป็นแค่ “นิยาย” พร้อมปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่าสามีเล็ดรอดการสอดแนมอย่างเข้มข้นของรัฐบาลญี่ปุ่นไปได้อย่างไร
แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า แผนการหลบหนีของ กอส์น ถูกวางไว้อย่างรัดกุมและมีคนล่วงรู้เพียงไม่กี่คน โดยบริษัทด้านความมั่นคงเอกชนรายหนึ่งช่วยส่ง กอส์น ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปยังนครอิสตันบูลก่อนจะต่อยังเบรุต และแม้แต่นักบินก็ยังไม่ทราบว่ามี กอส์น อยู่บนเครื่อง
ทนายส่วนตัวเผยว่า กอส์น เตรียมจะเปิดแถลงข่าวที่เบรุตในวันที่ 8 ม.ค. นี้ ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่ากำหนดวันแถลงข่าวยังไม่แน่นอน และ กอส์น ไม่ต้องการเปิดเผยขั้นตอนการหลบหนี เพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้ที่ช่วยเหลือเขาในญี่ปุ่นได้รับความเดือดร้อน
กอส์น ถูกปลดจากเก้าอี้ประธานนิสสัน ภายหลังการตรวจสอบภายในพบการประพฤติมิชอบทางการเงินต่างๆ นานา เช่น การแจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงขณะดำรงตำแหน่งซีอีโอ และ กอส์น ยังโอนเงินทุน 5 ล้านดอลลาร์ของนิสสันไปเข้าบัญชีธนาคารหนึ่งซึ่งเขาได้รับผลประโยชน์
กอส์น วัย 65 ปี เป็นชาวบราซิลเชื้อสายฝรั่งเศส-เลบานอน เขาเกิดที่บราซิลแต่ใช้ชีวิตวัยเยาว์ส่วนใหญ่ในเลบานอน เป็นผู้ที่พลิกฟื้นธุรกิจค่ายรถเรโนลต์ของฝรั่งเศสให้กลับมามีกำไรจนได้ฉายาว่า ‘Le Cost Killer’ ก่อนจะใช้วิธีการเดียวกันฟื้นฟูธุรกิจของนิสสันซึ่งเคยประสบปัญหาขาดทุนสะสมหลายปีจนถึงขั้นเสี่ยงต่อการล้มละลาย