เอเจนซีส์ - เลบานอนได้รับ “หมายแดง” จากตำรวจสากลในวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) ให้ควบคุมตัว คาร์ลอส กอส์น อดีตประธานนิสสัน ที่หลบหนีคดีออกมาจากญี่ปุ่น แต่ยังไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการว่าจะตอบสนองอย่างไร ขณะเดียวกัน ตุรกีได้จับทั้งนักบินและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 7 คน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนเรื่องที่อดีตเจ้าพ่อวงการรถยนต์ผู้นี้ สามารถเดินทางผ่านเมืองอิสตันบูล ของตุรกี เข้าไปยังเลบานอน โดยที่ฝ่ายตุรกีไม่รู้เบาะแส
สำนักข่าวแห่งชาติของทางการเลบานอนรายงานข่าวว่า รัฐมนตรียุติธรรม อัลเบิร์ต ซาร์ฮาน เป็นผู้ที่ประกาศว่า อัยการแผ่นดินของเลบานอนได้รับ “หมายแดง” จากตำรวจสากลในคดีคาร์ลอส กอส์น แล้ว
“หมายแดง” ของตำรวจสากลนี้ แม้ไม่ถือเป็นหมายจับ แต่ก็เป็นคำขอให้ตำรวจทั่วโลกควบคุมตัวบุคคลที่ถูกระบุในหมายเอาไว้ชั่วคราว ระหว่างรอการดำเนินคดีเพื่อส่งตัวฐานเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หรือเพื่อให้มีการมอบตัว หรือการดำเนินการทางกฎหมายในทำนองเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของเลบานอนยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้
แหล่งข่าววงการยุติธรรมเลบานอนเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ในคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา เมื่อเลบานอนได้รับ “หมายแดง” เกี่ยวกับพลเมืองเลบานอนซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในประเทศ จะไม่มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ แต่จะมีการยึดพาสปอร์ต และตั้งวงเงินให้ประกันตัวออกไป
ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีกล่าวว่า แหล่งข่าววงการยุติธรรมเลบานอนของตนได้พูดออกมาก่อนแล้วว่า เลบานอนกับญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะส่งตัวกอส์นซึ่งถือสัญชาติทั้งเลบานอน, ฝรั่งเศส, และบราซิล กลับไปดำเนินคดีที่ญี่ปุ่นได้
ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด 2 รายเปิดเผยในวันพุธ (1) ว่า หลังจากกอส์นหลบหนีออกจากญี่ปุ่น และเดินทางถึงนครอิสตันบูล ของตุรกี ก็ได้เดินทางต่อมาจนึงกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ไม่เพียงเท่านั้น กอส์น ยังได้เข้าพบประธานาธิบดีมิเชล อูน ของเลบานอนในวันจันทร์ (29 ธ.ค.)โดยได้รับการต้อนรับขับสู้ “อย่างอบอุ่น”
ระหว่างเข้าพบผู้นำเลบานอน กอส์น ได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดี อูน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เขาและนาง คาโรล ผู้เป็นภรรยา ระหว่างที่เขาถูกคุมขังอยู่ในญี่ปุ่น พร้อมทั้งขอความคุ้มครองจากรัฐบาลเลบานอนด้วย
ทั้งนี้ การพบปะระหว่าง อูน และ กอส์น ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน และที่ปรึกษาฝ่ายสื่อของทำเนียบประธานาธิบดีเลบานอนก็ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่แหล่งข่าว 2 คนย้ำว่าพวกเขาได้ทราบรายละเอียดทั้งหมดจากปากของ กอส์น เอง
บุคคลใกล้ชิด กอส์น ทั้ง 2 คนยังเผยด้วยว่า อดีตบอสนิสสันใช้เวลา “นานกว่า 3 เดือน” ในการวางแผนหลบหนีออกจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของคดีฉ้อโกงที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมยานยนต์โลกมานานกว่า 1 ปี
“มันคือปฏิบัติการที่เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพตั้งแต่ต้นจนจบ” แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุ
ระหว่างเข้าพบผู้นำเลบานอน กอส์น ได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดี อูน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เขาและนาง คาโรล ผู้เป็นภรรยา ระหว่างที่เขาถูกคุมขังอยู่ในญี่ปุ่น พร้อมทั้งขอความคุ้มครองจากรัฐบาลเลบานอนด้วย
โดยที่แหล่งข่าวระบุว่า เอกอัครราชทูตเลบานอนประจำญี่ปุ่นเดินทางไปเยี่ยม กอส์น ทุกวันตลอดระยะเวลาที่เขาถูกคุมขัง
สื่อเลบานอนบางสำนักออกมาเสนอทฤษฎีว่า กอส์น อาจจะซ่อนตัวมาในลังไม้บรรจุเครื่องดนตรี หลังจากที่มีการจัดคอนเสิร์ตส่วนตัวภายในบ้านพัก แต่ภรรยาของเขายืนยันกับรอยเตอร์ว่าแนวคิดนี้เป็นแค่ “นิยาย” พร้อมปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่าสามีเล็ดรอดการสอดแนมอย่างเข้มข้นของรัฐบาลญี่ปุ่นไปได้อย่างไร
แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า แผนการหลบหนีของ กอส์น ถูกวางไว้อย่างรัดกุมและมีคนล่วงรู้เพียงไม่กี่คน โดยบริษัทด้านความมั่นคงเอกชนรายหนึ่งช่วยส่ง กอส์น ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปยังนครอิสตันบูลก่อนจะต่อยังเบรุต และแม้แต่นักบินก็ยังไม่ทราบว่ามี กอส์น อยู่บนเครื่อง
ทางด้านโฆษกตำรวจตุรกีแถลงวันพฤหัสบดีว่า บุคคล 7 คนที่ถูกตุรกีควบคุมตัวเอาไว้นั้น เป็นนักบิน 4 คน ที่เหลือเป็น 2 เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินที่สนามบิน กับคนงานขนส่งสินค้าอีก 1 ราย ทั้งหมดคาดว่าจะถูกนำตัวไปขึ้นศาล
เว็บไซต์ข่าว Hurriyet ของตุรกี อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยแดนเติร์กที่ระบุว่า ตำรวจชายแดนของตุรกีไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ากอส์นเดินทางมาตุรกี ซึ่งเครื่องบินลำนั้นไปถึงสนามบินอาตาเติร์กในอิสตันบูลตอนเวลา 5.30 น. ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น
ข้อมูลเที่ยวบินในเวลานั้นบ่งชี้ว่า กอส์นใช้เครื่องบินเอกชนสองลำในการเดินทางหลบหนี ลำแรกใช้บินไปอิสตันบูล จากนั้นย้ายไปเครื่องบินอีกลำเพื่อเดินทางต่อไปยังเลบานอน
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ทางการญี่ปุ่นเองที่ยอมให้กอส์นถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศสอีกเล่มหนึ่ง สำหรับใช้ในประเทศญี่ปุ่นกรณีที่จำเป็น นอกเหนือจากหนังสือเดินทาง 3 เล่ม (ฝรั่งเศส, เลบานอน และบราซิล) ที่โดนยึดไปแล้ว ซึ่งนั่นน่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมเจ้าหน้าที่เลบานอนถึงยืนยันว่าอดีตผู้บริหารนิสสันรายนี้ "ถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศส" เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย