xs
xsm
sm
md
lg

เป็นปีที่ไม่ราบรื่นที่อังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในการพระราชทานพรเนื่องในวันคริสต์มาสปีนี้ ได้สะท้อนถึงการยอมรับขององค์พระประมุขแห่งอังกฤษว่า เป็นปีที่ Bumpy หรือไม่ราบรื่น, มีความขรุขระ ทั้งในเหตุการณ์ทางการเมืองของชาติ และในด้านพระราชวงศ์

ทรงเป็นถึง head of state หรือประมุขสูงสุดของประเทศและเครือจักรภพ แต่ก็ทรงยอมรับความจริงถึงความร้าวฉานที่เกิดขึ้น ทั้งในอังกฤษเองและในสหราชอาณาจักร

ในอังกฤษนั้น เรื่อง Brexit ทำให้แตกแยกกันระหว่างกลุ่มคนอังกฤษที่อยากออกจากอียูกับพวกที่ยังอยากอยู่กับอียู หรือพวกที่อยากออกจากอียูแบบ Soft Brexit กับพวกที่อยากออกแบบ Hard Brexit จนแทบจะกินเลือดกินเนื้อกันในสภา (แต่ไม่ถึงกับม็อบชนม็อบหรือปะทะกันข้างถนนแบบฮ่องกงหรือที่อื่นๆ) จนนำสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งครม.ใหม่ตามลำดับ

ส่วนความไม่ราบรื่นของพระราชวงศ์นั้น จริงๆ เริ่มต้นตั้งแต่มกราคมโน่น เมื่อพระราชสวามี Duke Phillips ด้วยพระชนมายุมากถึง 97 พรรษา (ย่าง 98) ขณะนั้น ได้ทรงฝ่าคำทัดทานของสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูง ที่ได้ขอร้องไม่ปรารถนาให้ท่านทรงขับรถยนต์ส่วนพระองค์ด้วยพระองค์เอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยท่านทรงขับรถออกมาจากพระตำหนักซานดริงแฮม (ซึ่งเป็นพระตำหนักที่องค์พระประมุขจะประทับทุกฤดูหนาว) แล้วได้ทรงขับไปชนรถยนต์ของชาวบ้านซึ่งมีหญิงสองคนนั่งอยู่ถึงได้รับบาดเจ็บคอเคล็ด และมือขวาหักต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ท่าน Duke Phillips ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรนัก เพียงแต่ได้ประทับตัวแข็งทื่อด้วยความตกพระทัยอยู่ในรถแต่เพียงลำพัง

เหตุการณ์นี้เป็นข่าวครึกโครมมากในหน้านสพ.อังกฤษ และในเครือจักรภพ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่าน Duke ท่านไม่สมควรที่จะทรงขับรถเองด้วยพระชนมายุมากแล้ว แต่ก็ทรงดื้อรั้นเนื่องเพราะท่านยังอยากที่จะทำอะไรด้วยพระองค์เอง ภาษาชาวบ้านคือ ไม่ยอมรับความแก่ของตนเองนั่นแหละ ด้วยทรงเคยเป็นทหารเรือที่เข้มแข็ง ทรงรับราชการช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่างกล้าหาญ และทรงสามารถขับเฮลิคอปเตอร์ได้จนถึงพระชนมายุ 90 จนตอนหลังทางการเขาไม่ยอมต่ออายุใบอนุญาตให้ขับเครื่องบินต่อไปจากเหตุผลพระชนมายุของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านก็ยังปรารถนาจะขับเรือบินอยู่

สำหรับการขับรถยนต์นั้น จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเมื่อต้นปีนี้เอง ทำให้ทางการได้ยึดใบขับขี่ของท่านไปเลย

อีกเรื่องสำหรับพระราชวงศ์ที่ไม่ราบรื่นก็คือ กรณีที่สื่ออังกฤษบางฉบับ (The Mail, Telegraph ซึ่งเป็นฉบับขวามากๆ) ได้ลงข่าวที่ค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์และกดดัน Duchess of Sussex พระชายาของ Prince Harry ในช่วงที่เธอกำลังทรงพระครรภ์แรก (คงหมายถึงการตั้งข้อสงสัยถึงทารกในพระครรภ์ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณไปทางพระบิดาหรือจะถ่ายทอดออกมาทางพระมารดาซึ่งมีเชื้อสายผิวดำ!)

ในที่สุด ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชเชสเมแกน ก็ได้เปิดเผยความในใจด้วยการให้สัมภาษณ์หลังประสูติกาลของพระโอรสองค์น้อย Archie (ที่น่ารักน่าชังเหลือเกิน) ว่า เธอได้รับความกดดันอย่างแสนสาหัส รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในราชสำนักก็ค่อนข้างหนักหนาสำหรับเธอ...และก็นำมาสู่การยื่นฟ้องนสพ.หลายฉบับที่ลงข่าวที่เกินเลยความเป็นจริง...ซึ่งต่อมาเจ้าชายแฮร์รีก็ทรงยื่นฟ้องสื่อด้วยเช่นกัน พร้อมประทานสัมภาษณ์ว่า ทรงเห็นใจพระชายาที่โดนละเมิดเรื่องส่วนพระองค์เสมอ-และยังมีการเปิดเผยถึงความคิดเห็นของพระองค์ที่อาจมองโลกแตกต่างกับพระเชษฐาคือ เจ้าชายวิลเลียม องค์รัชทายาทลำดับที่ 2 ของพระราชวงศ์

ช่วงคริสต์มาสปีนี้ ครอบครัวของเจ้าชายแฮร์รีได้แหวกม่านประเพณี โดยไม่ได้ไปร่วมฉลองคริสต์มาสกับพระอัยกา คือสมเด็จพระราชินีนาถ ที่พระตำหนักซานดริงแฮม แต่กลับเสด็จไปพักผ่อนยังประเทศแคนาดาโน่น ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่า คงยังทรงอึดอัดที่จะเผชิญหน้ากับพระเชษฐาและพระอัยกา

พอถึงพฤศจิกายน เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสลำดับที่สองขององค์พระประมุข และทรงเป็นพระโอรสที่ทูลกระหม่อมแม่ทรงโปรดมากที่สุด (เป็นที่ประจักษ์ในสื่ออังกฤษ) ก็ได้พระราชทานสัมภาษณ์รายการ News Night ของ BBC ถึงเรื่องราวฉาวโฉ่ของอดีตนักการเงินมือฉกาจของวอลล์สตรีท ที่มีพฤติกรรมเลวร้ายด้านจริยธรรม คือนายเจฟฟรีย์ เอ็พสตีน ที่จบชีวิตด้วยการผูกคอตายในห้องขังหลังถูกตำรวจนิวยอร์กจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ และค้ากามกับผู้เยาว์ และเจ้าชายแอนดรูว์ทรงเป็นเพื่อนสนิทสนมกับนายเจฟฟรีย์ ขนาดมีรูปภาพท่านกับเด็กหญิงวัย 15 ปีที่ถ่ายร่วมกับท่านเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และเด็กหญิงคนนั้นตอนนี้กลายเป็นสาวใหญ่ ได้ร่วมกับเด็กหญิงอีกหลายคนในวันนั้น ที่เคยถูกเป็นเหยื่อกามนายเจฟฟรีย์ เพื่อยื่นฟ้องนายเจฟฟรีย์ถึงอาชญากรรมที่เขาได้ก่อขึ้นกับเด็กหญิงเหล่านั้น รวมทั้งปฏิเสธความรับผิดชอบหรือความเห็นใจใดๆ ต่อพวกเธอที่ตกเป็นเหยื่อของนายเจฟฟรีย์ เอ็พสตีน

ในรายการ News Night ปรากฏว่า เจ้าชายแอนดรูว์ได้กล่าวสรรเสริญชื่นชมนายเจฟฟรีย์ว่า ท่านได้เรียนรู้ด้านธุรกิจการเงินจากเขา และการได้รู้จักกับนักธุรกิจสำคัญๆ ของโลกที่อยู่ในแวดวงการเงินของเจฟฟรีย์ก็มีประโยชน์ และทรงปฏิเสธเต็มที่ว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพวกเด็กสาว


เท่านั้นเอง เจ้าชายแอนดรูว์จึงถูกกดดันจากมกุฎราชกุมารเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และสมเด็จพระราชินีนาถ ให้ทรงประกาศอำลาจากพระราชภารกิจต่างๆ รวมทั้งการเป็นองค์อุปถัมภ์ขององค์การกุศลเกือบ 300 แห่ง (เพราะสถาบันและองค์การต่างๆ ที่เคยให้การสนับสนุนด้วยเงินทุกๆ ปีแก่องค์กรเหล่านี้ เริ่มอึดอัดที่จะมีชื่อเสียงเกลือกกลั้วหรือให้การสนับสนุนต่อบุคคลที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีงามต่อสังคม-จึงไม่ยอมต่อสัญญาของการบริจาคเงินต่อไป)

เพราะต้องตัดนิ้วเพื่อรักษาอวัยวะ เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถ ทรงครองพระองค์เป็นที่เคารพยิ่งของชาวอังกฤษและเครือจักรภพ ไม่ว่าจะมีกี่โพล ทั้งในอังกฤษเอง ในประเทศออสเตรเลีย และในแคนาดา การลงประชามติก็มีแต่สะท้อนถึงความเคารพรักองค์พระประมุขของอังกฤษอย่างไม่เสื่อมคลาย

ดังนั้น สมาชิกในพระราชวงศ์ที่แตกแถวและกำลังดึงราชวงศ์ไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องการดำรงความดีงาม ก็ต้องถูกห้ามปฏิบัติพระราชภารกิจ-รวมถึงจะถูกตัดเงินปีที่ทางรัฐบาลได้จัดถวายสำหรับพระราชภารกิจในงานองค์กรต่างๆ ถึง 300 แห่งด้วย เช่น งานเลขานุการ และผู้ประสานงาน เป็นต้น

แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ก็ทรงขมวดพระราชดำรัส ด้วยความหวังว่า ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ก็จะมีก้าวเล็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อนำทางไปสู่ความปรองดองสามัคคีในอนาคต เหมือนดังพระประสูติกาลของพระเยซูคริสต์ที่เป็นก้าวเล็กๆ ในรางหญ้าที่เมืองเบธเลแฮม ที่เจริญเติบโตเป็นมหาบุรุษที่พยายามชี้นำทางพามนุษยชาติไปสู่สันติสุข และความร่มเย็นของโลกตลอดหลายพันปีที่ผ่านมานั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น