xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยเรื่อง “ดิน-ฟ้า-อากาศ” กับความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท


รถดัมพ์ขนหิมะเทียมมาเทตามจัตุรัสแดง และหลายพื้นที่ในกลางใจเมืองหลวง  เช่น ถนนอารบัต ถนนตเวียร์สกายา


ปิดฉากสัปดาห์แรกของปีนี้...คงต้องขออนุญาตไปหาเรื่อง “เบาๆ” มาว่ากันบ้างแล้ว เพราะปีที่แล้วตลอดทั้งปี มีแต่เรื่อง “หนักๆ” เรื่องที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า ไปด้วยกันทั้งสิ้น เริ่มต้นปีนี้ยังไม่ทันเท่าไหร่ ยังต้องหันไปหยิบเอาเรื่อง “เผาสถานทูตอเมริกา” ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก มาพูดจาว่ากล่าวกันซะแต่เริ่มแรก เพราะฉะนั้น...วันนี้ อาจต้องขอเลเพลาดพาด ไปว่ากันเรื่อง “ดิน-ฟ้า-อากาศ” ดูมั่งก็แล้วกัน...

แต่ก็นั่นแหละ...แม้แต่เรื่อง “ดิน-ฟ้า-อากาศ” ก็ยังไม่รู้ว่าจะ “หนัก” หรือจะ “เบา” กันในระดับไหน แบบไหน เพราะความวิปริตผิดเพี้ยนของอุณหภูมิอากาศ อันเนื่องมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่ถูกพูดถึงกันมานานแล้ว มาถึง ณ ขณะนี้...ดูๆ มันจะส่งผลแบบจริงๆ จังๆ หรือแบบออกจะ “หนัก” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันถึงได้เกิดข่าวคราวช่วง “ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่” ว่าประเทศที่อยู่เหนือสุด บนสุด อย่างประเทศรัสเซีย ที่ถือเป็นดินแดนแห่งหิมะ เป็นถิ่นที่อยู่ของพวก “หมีขาว” อะไรทำนองนั้น เอาไป-เอามา...ดันไม่มีหิมะ หรือขาดแคลนหิมะในช่วงหน้าหนาว ช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ เอาดื้อๆ...

จากเดิมทีที่เคยต้องเจอหิมะหนาเป็นคืบๆ หรือเป็นศอก เป็นวา ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว...แต่ปรากฏว่าปีนี้ อุณหภูมิอากาศในประเทศรัสเซีย หรือในกรุงมอสโก กลับมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7.6-7.7 องศา พอๆ กับภาคเหนือ หรืออีสานบ้านเฮา ในช่วงระหว่างนี้ หรือเป็นอุณหภูมิที่อุ่นสุดในรอบศตวรรษ หรือรอบ 133 ปี ของคุณน้ารัสเซียเอาเลยถึงขั้นนั้น ท้องฟ้าปลอดโปร่งโล่งแจ้ง แทบไม่เห็นหิมะหล่นใส่พื้นที่ใดๆ กันเลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้ชาวรัสเซียประเภท “หัวใส” เลยต้องไปขนเอาหิมะเทียม ประเภทที่เรียกๆ กันว่า “Artificial Snow” หรือ “Fake Snow” ก็แล้วแต่ มาถม มาเท ใส่ถนนหนทาง ไม่ว่าแถวจัตุรัสแดง ถนนอารบัต ถนนตเวียร์สกายา ไปจนถึงสวนสาธารณะบางแห่ง ฯลฯ เพื่อให้เกิดสีสันบรรยากาศแบบเดิมๆ ได้มั่ง...

ส่วนแถบๆ ประเทศที่อยู่ใต้สุด ล่างสุด อย่างออสเตรเลีย...หนีไม่พ้นต้องร้อนกันในระดับฉิบหายวายวอด ต้องเจอกับฉากเหตุการณ์ “ไฟป่า” ที่ดุเดือดเลือดพล่านมาตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่แล้ว และยืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่งปีใหม่ ฟ้าใหม่ แต่ท้องฟ้าออสเตรเลียไปจนถึงนิวซีแลนด์โน่นเลย ก็ยังคงเป็นท้องฟ้าเก่าๆ คือฟ้าที่ออกไปทางสีส้ม อันเนื่องมาจากควันไฟที่แพร่กระจายครอบคลุมไปถึงดินแดนด้านล่าง ไม่ว่าจะเป็นเกาะแทสมาเนียที่ถูกไฟป่าเผาผลาญตามไปด้วย และนิวซีแลนด์ที่แม้จะไม่ถึงกับเกิดไฟป่า แต่ท้องฟ้าก็ยังต้องถูกปกคลุมไปด้วยควันไฟที่ลุกโพลงต่อเนื่องมาเกือบ 3 เดือน 4 เดือนเข้าไปแล้ว...

ว่ากันว่า...พื้นที่ในประเทศออสเตรเลียที่ถูกไฟป่าเผาผลาญในคราวนี้ ใหญ่โตและกว้างขวางพอๆ กับประเทศบางประเทศ อย่างเช่นประเทศเบลเยียม เอาเลยถึงขั้นนั้น คือเป็นเนื้อที่ประมาณ 18-25.3 ล้านไร่ บรรดารัฐต่างๆ โดยเฉพาะแถวๆ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต่างต้องอพยพหลบลี้หนีภัยจากฤทธิ์ของไฟป่า ชนิดปั่นป่วนวุ่นวายกันไปเป็นแถบๆ ระดับอุณหภูมิอากาศโดยเฉลี่ยที่ผู้คนชาวออสซีต้องเจออยู่ในขณะนี้ อยู่ที่ประมาณ 40-47 องศา เรียกว่า...ร้อนในระดับต้องแก้ผ้า โดดลงตุ่ม ลงอ่างกันไปเป็นรายๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึง “ผลกระทบ” ที่จะตามมา ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ สังคม ที่กำลังส่งผลให้ “ภาวะโลกร้อน” อาจกลายเป็นตัวเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ “ระเบียบโลก” ทั้งโลกเอาเลยก็เป็นได้...

ส่วนบ้านเรา หรือไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา...ที่อยู่ระหว่างกลางๆ แม้ว่าจะได้หนาวติดปลายนวมกันไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่หลังจากนี้ คงหนีไม่พ้นต้องหันมาเผชิญกับความร้อนและความแล้ง อย่างเป็นระบบและเป็นกิจการชนิดมิอาจปฏิเสธได้เลย เพราะถึงจะพอได้หนาวกันเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อลองดื่ม ลองชิม “น้ำประปา” ก็สามารถรับรู้ได้ไม่ยากว่า...ชักออกอาการ “เค็ม” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า...ขนาดเอาไปต้ม เอาชงกาแฟ ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าเผลอใส่เกลือแทนใส่น้ำตาลกันเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะปริมาณความเค็มมันเลยไปกว่ามาตรฐานตามปกติอย่างเห็นได้โดยชัดเจน อันเนื่องมาจากต้นสายปลายเหตุ ที่ถูกอรรถาธิบายโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ว่าเป็นเพราะปริมาณน้ำเค็มในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มันแผ่ซ่านลุกลามมาถึงสถานีสูบน้ำบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยากันไปเป็นแถบๆ หรือเป็นเพราะปริมาณน้ำจืดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามันเริ่มลดๆ ลงไป เพราะ “ฝนแล้ง” หรือปริมาณน้ำฝนที่เคยมีมา มันต่ำไปกว่า “เกณฑ์ปกติ” เกือบ 24 เปอร์เซ็นต์ จากปกติที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 43 มิลลิเมตรในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มา ณ ขณะนี้...มันมีปริมาณโดยเฉลี่ยอยู่แค่ 25 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง...

พูดง่ายๆ ว่า...ยังไม่ทันได้ “หนาว” บรรยากาศ “ภัยแล้ง” ก็เริ่มเข้ามาเคาะประตูบ้านกันซะแล้ว บรรดา “เขื่อน” หลักๆ ประมาณ 4 เขื่อน ในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าเขื่อน “ภูมิพล” “สิริกิติ์” “แควน้อย” และ “ป่าสักชลสิทธิ์” เมื่อบวกรวมปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้การได้ ก็เหลืออยู่เพียงแค่ 4,461 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าปริมาณที่ต้องการ ซึ่งควรจะอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นอย่างน้อย ไปเกือบพันๆ ล้านเอาเลยถึงขั้นนั้น ปริมาณน้ำจืดที่ลดน้อยมันเลยกลายเป็นเปิดทางให้น้ำเค็มแผ่ซ่านเข้ามาถึงสถานีสูบน้ำ และส่งผลให้การดื่มกาแฟที่ชงมาจากน้ำประปาต้มแล้ว เลยกลายเป็นกาแฟเติมเกลือแทนเติมน้ำตาล ไปด้วยประการละฉะนี้แล...

การที่ “ภัยแล้ง” มันมาเร็ว และทำท่าว่าจะมาแรงอยู่พอสมควร สำหรับบ้านเราในปีนี้...มันเลยทำให้เรื่องของ “ดิน-ฟ้า-อากาศ” จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องนำไปใคร่ครวญ นำไปคิดคำนวณควบคู่ไปกับการคำนวณทางโหราศาสตร์ หรือทางรัฐศาสตร์ก็แล้วแต่ แม้ว่าเรื่องประเภทนี้...มันอาจไม่ค่อยถูกนำมาเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ กันในทางการเมือง เศรษฐกิจ โดยทั่วไปมากมายสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ใน “ประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ” บรรดา “ความเปลี่ยนแปลง” ทั้งหลาย ไม่ว่าในอาณาจักร ในจักรวรรดิใดๆ ก็ตามที มักต้องมีเรื่องของ “ดิน-ฟ้า-อากาศ” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น และโดยเฉพาะช่วงหลังๆ หรือช่วงที่ “ภาวะโลกร้อน” ได้ปรากฏตัวให้เห็นอย่างเป็นทางการ เป็นระบบและเป็นกระบวนการยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เรื่องของ “ดิน-ฟ้า-อากาศ” หรือ “การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ” อาจกลายเป็นตัว “จุดชนวน” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้านอย่างเห็นได้ชัดเจน และอย่างเป็น “วิทยาศาสตร์” มากซะยิ่งกว่า “โหราศาสตร์” ไม่รู้กี่เท่า ต่อกี่เท่า...

การหยิบเอาเรื่องทำนองนี้มาพูดจาว่ากล่าวกันเอาไว้มั่ง จึงเป็นสิ่งที่น่าคิด น่าสะกิดใจ ซะยิ่งกว่าการหันไปฟัง “หมอดู” หรือ “หมอเดา” ที่ว่ากันไปตามเรื่อง ตามราว ตามความ “ซาดิสต์” หรือ “โรแมนติก” ของแต่ละคน แต่ละราย เป็นไหนๆ และใครที่หันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ซะแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะได้ชื่อว่าผู้ตั้งอยู่ใน “ความไม่ประมาท” อันเป็นเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ “ความตาย” หรือ “ความเปลี่ยนแปลง” ใดๆ ได้ทุกเมื่อนั่นเอง...
กำลังโหลดความคิดเห็น