xs
xsm
sm
md
lg

ออสซี่บังคับอพยพ-ใช้ภาวะฉุกเฉิน หวั่นคลื่นร้อน40องศาทำไฟป่ายิ่งลาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รถยนต์ต่อแถวกันยาวเพื่อออกจากเมืองเบตแมนส์เบย์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยบ่ายหน้าขึ้นเหนือเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.)  ทั้งนี้ทางการในรัฐนี้ตลอดจนรัฐวิกตอเรียที่อยู่ติดกัน ประกาศบังคับอพยพนักท่องเที่ยวและประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง ก่อนที่คลื่นร้อนอีกระลอกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมทั่วออสเตรเลียในวันเสาร์ (4)
เอเจนซีส์ - ออสเตรเลียประกาศวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) บังคับอพยพนักท่องเที่ยวและประชาชน ให้ออกจากชุมชนชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ก่อนที่คลื่นร้อนจะเคลื่อนเข้าปกคลุมทั่วประเทศในวันเสาร์ (4) พร้อมอุณหภูมิสุดโหดทะลุ 40 องศาเซลเซียส และลมกรรโชกที่จะโหมกระพือไฟป่าให้รุนแรงขึ้นอีกหลายเท่า

อุณหภูมิสูงและกระแสลมแรงทำให้ขณะนี้มีไฟป่าปะทุกว่า 200 จุดในหลายเมืองของรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย

บริเวณหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้พื้นที่เสี่ยงของ 2 รัฐนี้ มีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด เช่นเดียวกับในปั๊มน้ำมัน และอาหารหลักอย่างขนมปังและนมขาดตลาด ขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวพยายามกักตุนเสบียงเตรียมพร้อมสำหรับการหลบภัยหรือการอพยพไปยังเมืองที่ปลอดภัยกว่า

ประชาชนกว่า 50,000 คนไม่มีไฟฟ้าใช้ และบางเมืองขาดแคลนน้ำดื่ม หลังไฟป่าลุกลามกว้างขวางทำลายเมืองต่างๆ และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คนในวันส่งท้ายปีเก่า

วันพฤหัสบดี (2) เกลดิส เบเรจิกเลียน นายกรัฐมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถบังคับอพยพประชาชนเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ (3) นับเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 3 ของรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของออสเตรเลียในช่วงฤดูไฟป่านี้

แถลงการณ์นี้มีขึ้นหลังจากบริการดับเพลิงชนบท (อาร์เอฟเอส) ของนิวเซาท์เวลส์ ประกาศ “เขตอพยพนักท่องเที่ยว” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200 กิโลเมตรจากเบตแมนส์เบย์ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เลียบแนวชายฝั่งไปจรดรัฐวิกตอเรียที่อยู่ติดกันซึ่งขอให้ประชาชนอพยพเช่นเดียวกัน

รายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าครั้งนี้ที่ถือเป็นหนึ่งในฤดูไฟป่าที่รุนแรงที่สุดของออสเตรเลีย อย่างน้อย 18 คน และคาดว่า ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่รัฐวิกตอเรียระบุว่า มีประชาชนสูญหาย 17 คน

นักท่องเที่ยวได้รับคำเตือนให้ออกจากพื้นที่ประสบภัยก่อนวันเสาร์ซึ่งคาดการณ์ว่า คลื่นร้อนระลอกใหม่จะปกคลุมทั่วประเทศ พร้อมลมกรรโชกและอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อันจะทำให้เกิดสภาวะที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เลวร้ายพอๆ กับหรือเลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นในวันอังคาร (31 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในวิกฤตไฟป่าครั้งนี้

นักท่องเที่ยวและประชาชนจำนวนมากไม่มีไฟฟ้าและระบบสื่อสารใช้ตลอดเวลา 2 คืน เจ้าหน้าที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า ขณะนี้มีถนนบางสายสามารถใช้งานได้แล้ว


แอนดรูว์ คอนสแตนซ์ รัฐมนตรีคมนาคมรัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุว่า นี่เป็นการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทางหลวงที่มุ่งหน้าไปยังเมืองซิดนีย์เนืองแน่นด้วยรถยนต์ขณะที่ประชาชนหลายพันหลายหมื่นคนพยายามหนีออกจากพื้นที่เสี่ยง

ร็อบ โรเจอร์ส รองผู้บัญชาการอาร์เอฟเอสนิวเซาท์เวลส์ ประกาศว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่มีกำลังเพียงพอที่จะสามารถดับหรือแม้แต่ควบคุมไฟป่าที่ลุกลามอยู่ขณะนี้ได้ จึงต้องการให้แน่ใจว่า จะไม่มีประชาชนอยู่ในบริเวณที่จะเผชิญไฟป่า

ทั้งนี้ มีบ้านเรือนที่ได้รับการยืนยันว่า เสียหายจากไฟป่าในช่วงไม่กี่วันนี้ มีจำนวนถึง 400 หลัง และคาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถเข้าถึงชุมชนที่ขณะนี้ยังถูกตัดขาด

ทางด้านเรือของกองทัพเรือ 2 ลำเดินทางถึงเมืองมอลลาคูตา ที่ประชาชนจำนวนมากหนีไฟป่าไปรวมตัวกันที่ชายฝั่งในวันส่งท้ายปีเก่า โดยจะเริ่มอพยพเด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงวัยก่อนจำนวน 1,000 คนในช่วงเช้าวันศุกร์ จากทั้งหมดราว 4,000 คนซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

ขณะเดียวกัน เครื่องบินของกองทัพร่วมปฏิบัติการกับหน่วยกู้ภัยในการหย่อนเครื่องยังชีพลงไปให้ประชาชนในพื้นที่ที่ถูกตัดขาด รวมทั้งช่วยประเมินความเสียหายจากไฟป่า

วิกฤตไฟป่าครั้งนี้เผาทำลายบ้านเรือนกว่า 1,300 หลังและพื้นที่กว่า 5.5 ล้านเฮกตาร์ทั่วออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเนื้อที่ใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศเดนมาร์กหรือประเทศเนเธอร์แลนด์

ชานเมืองซิดนีย์และเมืองเมลเบิร์นที่มีประชาชนอาศัยอยู่หลายล้านคน ถูกไฟป่าเผาทำลายเช่นเดียวกัน

หมอกควันจากไฟป่าปกคลุมกรุงแคนเบอร์ราเมืองหลวงของออสเตรเลีย และลอยไปไกลถึงนิวซีแลนด์ ซึ่งทำให้อากาศเหนือธารน้ำแข็งกลายเป็นสีน้ำตาล

วิกฤตไฟป่าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจุดชนวนการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการทันทีเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิจัยระบุว่า เป็นตัวการทำให้ฤดูไฟป่ายาวนานและรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ที่ถูกกดดันอย่างหนักจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ฮาวายทั้งที่ออสเตรเลียเผชิญไฟป่ารุนแรง ตลอดจนการย้ำสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน ยังคงปกป้องนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนว่า มีความเหมาะสมแล้ว

ในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากไฟป่าลุกลามรุนแรงระลอกล่าสุด มอร์ริสันประกาศว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการต่อสู้กับไฟป่า การอพยพและทำให้ประชาชนปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น