xs
xsm
sm
md
lg

30 ปีหลังการล้มทรราชโรมาเนีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


นิโคไล เชาเชสคู อดีตประธานาธิบดีแห่งโรมาเนีย
เทศกาลฉลองวันคริสต์มาสเพิ่งผ่านไปได้ไม่กี่วัน ประชาชนโรมาเนียยังไม่เคยลืมว่าอะไรเกิดขึ้นวันนั้น เพราะเป็นวาระสำคัญอย่างยิ่ง เป็นวันสิ้นสุดของระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ซึ่งได้กุมอำนาจในประเทศมายาวนานถึง 42 ปี และผู้นำรัฐบาลจอมโหด

นั่นคือประธานาธิบดี นิโคไล เชาเชสคู ซึ่งถูกประหารชีวิตพร้อมภริยา นางเอเลนา ในวันคริสต์มาสปี 1989 ซึ่งเป็นปีที่คนทั้งโลกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบอบการปกครองหลายประเทศในยุโรปตะวันออกจากคอมมิวนิสต์เป็นระบอบประชาธิปไตย

แต่เป็นประชาธิปไตยซึ่งก้าวไปได้ตามจังหวะช้าหรือเร็วต่างกัน โรมาเนีย ยังไม่ไปไหนได้ไกลนักเพราะประชาชนไม่น้อยยังอยู่ในสภาพยากจน และนับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรปตะวันออก แม้จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปในปี 2007

มองย้อนกลับไป 30 ปี เมื่อวันสิ้นสุดของยุคประธานาธิบดีเชาเชสคู ซึ่งโดนประหารชีวิตโดยการยิงเป้าหลังจากการพิพากษาโดยศาลทหารแบบรวบรัด ชาวโรมาเนียยังจำได้ถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิต เผชิญความขาดแคลนสิ่งจำเป็นทุกอย่าง

ประธานาธิบดีเชาเชสคูบริหารประเทศด้วยระบบเผด็จการกำปั้นเหล็กอยู่ในอำนาจได้นานถึง 21 ปี ล้างผลาญทรัพยากรประเทศเพื่อปรนเปรอความสุขให้ครอบครัวตัวเองอย่างฟุ้งเฟ้อ สร้างอาคารมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อประดับบารมีของตนเอง

ยุคนั้นยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต มีสงครามเย็นยืดเยื้อกับโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และองค์การนาโต หลังจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรมาเนียก็ไม่ต่างจากรัฐหลังม่านเหล็ก มีองค์กรตำรวจลับคอยสอดแนมประชาชน

เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ และท่านผู้นำ ทั้งในเยอรมันตะวันออกซึ่งเป็นรัฐหน้าด่าน

มีกองกำลังตำรวจลับ “ซิเคียวริเตท” ซึ่งเชื่อกันว่ามี 1 คนแทรกซึมอยู่ในประชากรทุก 4 คนของโรมาเนีย การพูดจาเชิงลบแก่รัฐบาลเป็นความเสี่ยงอย่างสูงต่อการโดนจับกุมคุมขังลืม ถูกทรมานอย่างโหดร้ายทารุณ ประชาชนอยู่ในความหวาดกลัว ระแวง

การที่เชาเชสคูผยองอำนาจเพราะระบบโหด แต่ทำตัวซ่า ไม่ยอมก้มหัวให้กับสหภาพโซเวียตก่อนล่มสลายในปีเดียวกัน ทำให้จอมเผด็จการได้รับการยกยอปอปั้นว่าเป็นผู้นำแบบ “มาเวอริก” แต่ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นไม่อยากทำอะไรมาก

นั่นเป็นยุคของผู้นำโซเวียต มิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ การแตกตัวของสหภาพโซเวียตและหลายประเทศในยุโรปตะวันออกประกาศแยกตัวออกจากภายใต้อาณัติ อารักขาของโซเวียต

เชาเชสคูล่มเร็ว หลังจากประชาชนรวมตัวประท้วงนอกเมืองหลวงคือทิมิโซอาราแต่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง การลุกฮือได้ลามไปทั่วประเทศจนถึงกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวง จากนั้นก็เอาไม่อยู่ ประชาชนจะถูกปราบปรามรุนแรง ตายเป็นพัน แต่ก็เอาชนะได้

คนที่เข้าร่วมในการประท้วงขับไล่ผู้นำทรราชบอกว่าบนถนนมีแต่เลือดกระจายไปทั่ว!เชาเชสคูและพวกประเมินอารมณ์ของประชาชนพลาดอย่างแรง เมื่อเห็นประชาชนเต็มถนนก็ยังพยายามประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงให้ แต่ก็สายไปเกินกว่าที่จะควบคุมได้

นั่นเป็นเพราะทหารส่วนหนึ่งได้กลับใจเข้าร่วมกับประชาชน ล้มผู้นำเชาเชสคู ซึ่งพยายามหลบหนีออกนอกประเทศพร้อมนางเอเลนาทางเฮลิคอปเตอร์ ผลสุดท้ายถูกจับตัวเอามาขึ้นศาลทหาร มีพิธีกรรมสั้นๆ แม้ทั้งคู่จะไม่ยอมร่วม แต่ก็ถูกยิงเป้าหลังจากนั้น

เชาเชสคูเริ่มความผยองอำนาจหลังจากใช้หนี้คืนต่างประเทศหมดในปี 1980 จากนั้นได้จัดการภาคเศรษฐกิจด้วยการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ทำให้เกิดความขาดแคลนในสินค้าอุปโภค บริโภค อาคารบ้านเรือน ร้านค้า อยู่ในความสลัว แสงสว่างไม่เพียงพอ

ทั้งสามีภรรยาผู้กุมอำนาจไม่ใส่ใจ สร้างความอัครฐานในการเป็นอยู่หรูหรา สร้างที่พัก สระว่ายน้ำปรนเปรอความสุข เป็นสุดยอดของอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป ขณะที่ประชาชนอดอยากแร้นแค้น อยู่ไปแต่ละวันด้วยความกลัว มองไม่เห็นอนาคตสดใส

จากความฟู่ฟ่า กดขี่รีดนาทาเร้นประชาชน ผลสุดท้ายต้องตายอย่างน่าอนาถ เป็นทรราชที่ถูกเกลียดชังโดยประชาชน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในความยากลำบาก แม้แต่ 30 ปีผ่านไป คนส่วนใหญ่ไม่มีชีวิตดีขึ้น เพราะการพัฒนาไม่กระจายไปทั่วประเทศ

คนโรมาเนียมากกว่า 4 ล้านคนอพยพไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก หลังจากเข้าร่วมกับอียู เพื่อแสวงหาอนาคตและชีวิตที่ดีกว่า คนชนบทส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อยู่กับสภาพแร้นแค้น เข้าไม่ถึงระบบแก๊สหุงต้ม ยังต้องใช้ถ่านไม้หุงอาหาร

กระแสของความไม่พอใจได้เกิดขึ้นอีกรอบ ประชาชนเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ทำให้คนโรมาเนียนึกถึงเหตุการณ์ 30 ปีก่อนของการปฏิวัติโดยประชาชน คนส่วนหนึ่งยังมองว่าฆาตกรที่สังหารคนบนถนนในยุคนั้น ยังไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

คดีความเพื่อหาทางเอาผิดสมุนทรราชเป็นไปด้วยความล่าช้า แม้คดีถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อหาเหตุการณ์ตายของ 862 คน และมีพยาน 5 พันคนพร้อมให้ปากคำเป็นพยาน แต่การพิจารณาคดีรอบแรกถูกกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020

คนโรมาเนียยังเผชิญความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ หลายคนยังเสียดายวันเวลาในยุคคอมมิวนิสต์เพราะยังมีไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคพร้อมกว่าปัจจุบันเพราะการพัฒนาไม่เข้าถึงหลายพื้นที่ แม้แต่แคว้นทรานซิลเวเนีย

แม้เศรษฐกิจได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็เป็นอยู่ในเขตเมืองประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของคนในชนบทโรมาเนียยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ทำให้รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งโดยระบบเศรษฐกิจใหม่ทุนนิยมเสรี ความไม่พอใจก่อตัวอีกรอบ

ในปี 2017 คนโรมาเนียได้เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การลุกฮือในปี 1989 มาปีนี้ คนส่วนหนึ่งก็ยังมีความสุขกับเทศกาลคริสต์มาส


กำลังโหลดความคิดเห็น