xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2563 คนไทยเครียดเรื้อรัง ค่าใช้จ่ายรักษา พุ่ง 21.5 หมื่นล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กราฟิกแสดงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง 9 ประเทศ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากถามว่า สถานการณ์ทางด้าน “สุขภาพ” ของคนไทยเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพมีตัวเลขมากน้อยขนาดไหนในปี 2562 และจะมีพัฒนาการในปี 2563 นี้ไปในทิศทางใด

ก็ต้องตอบว่า ปัญหาใหญ่ที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ ความเจ็บป่วยจาก “ปัญหาความเครียดเรื้อรัง” ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบมีมูลค่าสูงถึง 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ21,500 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 4.3 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพทั้งหมดกันเลยทีเดียว

ข้อมูลรายงานการศึกษาเรื่อง “CHRONIC STRESS : ARE WE REACHING HEALTH SYSTEM BURN OUT?” หรือ “ความเครียดแบบเรื้อรัง : เรากำลังเข้าสู่ระบบสุขภาพที่มอดไหม้หรือไม่?” โดย บมจ. ซิกน่า ประกันภัยชื่อดังระดับโลก เปิดเผยผลการศึกษาปรากฏการณ์ความเครียด ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของประชากร 9 ประเทศ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ และไทย

รายงานบ่งชี้ถึงผลกระทบของความเครียดที่ส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพของประชากรใน 9 ประเทศ มีค่าใช้จ่ายต่อปีสำหรับการดูแลรักษาความเจ็บป่วย พบว่า ประชากรประเทศออสเตรเลีย มีจ่ายค่าดูแลรักษาความเจ็บป่วยจากปัญหาความเครียดสูงสุด 22,911 ล้านดอลลาร์ฯ รองลงมาคือ ฮ่องกง 3,758 ล้านดอลลาร์ฯ , สิงคโปร์ 2,342 ล้านดอลลาร์ฯ, เกาหลีใต้ 13,083 ล้านดอลลาร์ฯ, ไต้หวัน 4,648 ล้านดอลลาร์ฯ, ไทย 717 ล้านดอลลาร์ฯ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1,866 ล้านดอลลาร์ฯ ,อังกฤษ 14,794 ล้านดอลลาร์ฯ และสหรัฐอเมริกา 133,200 ล้านดอลลาร์ฯ

ดร.ดอน ซู ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของซิกน่า กล่าวว่าผู้คนมักละเลยสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่ส่งผลมาจากความเครียดเรื้อรัง หลายคนพบเจอแต่กลับคงเพิกเฉยต่อการรักษาที่ถูกต้อง จนกระทั่งพบอาการผิดปกติทางร่างกาย อีกทั้ง ปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชากรในหลายๆ ประเทศยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก ซึ่งรายงานการศึกษาวิจัยฯ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการเจ็บป่วยจากความเครียด ตั้งแต่การขาดลางานของพนักงานในองค์กร ตลอดจนการลดลงของรายได้ภาษีของประเทศ นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกทำให้ทราบถึงอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของผลกระทบด้านสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากความเครียดในระบบสุขภาพของประชากรโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ รายงานผลการสำรวจ เรื่อง “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ประจำปี 2019″ หรือ “2019 Cigna 360 Well-Being Survey” ของซิกน่า ประกันภัย ซึ่งจัดทำต่อเนื่องกว่า4 ปีแล้ว โดยสำรวจพฤติกรรมผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการเงิน และด้านการทำงาน จากกลุ่มตัวอย่างใน 23 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรีเลีย, นิวซีแลนด์, ซาอุดิอาระเบีย, แคนาดา, เม็กซิโก, บราซิล, สเปน, ไต้หวัน, ฮ่องกง ฯลฯ รวมทั้ง ไทย

นายจูเลียน เมงกัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิกน่าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้อำนวยการด้านการดูแลให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศของซิกน่า กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวฯ พบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก มีความเครียดมาจากการทำงาน และประชากรในภูมิภาคเอเชียกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความเครียดเหล่านั้นได้

ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจากความเครียด พบว่า ผู้เข้ารับบริการมีปัญหาทางร่างกายที่ไม่สามารถอธิบายที่มาของสาเหตุได้ หรือพบอาการผิดปกติทางร่างกายซึ่งมีผลมาจากความเครียด และผลการวิจัยยังพบว่าการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ในภาพรวมของประเทศไทย สิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือ เรื่อง ความมั่นคงทางการเงิน สูงถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยปัญหาเรื่องงาน 35 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศมีความเครียดสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากทั้ง 23 ประเทศที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ และ91 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนเองมีความเครียด โดยค่าเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์

รายงานเปิดเผยว่า คนไทยจำนวนกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่าความเครียดที่กำลังเผชิญเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้

รายงานเปิดเผยต่อไปว่า คนไทยวัยทำงาน 81 เปอร์เซ็นต์ มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ซึ่งความเครียดในสถานที่ทำงานจะส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่น่าหดหู่มากขึ้น อีกทั้ง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อสุขภาพเกิดการเจ็บป่วยได้มากขึ้น พบว่าในกลุ่มคนที่มีความเครียด มีสัดส่วนป่วยเป็นโรคหัวใจสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะความเครียด ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจ 9 เปอร์เซ็นต์


อย่างไรก็ตาม กลุ่มพนักงานออฟฟิศ กำลังเผชิญปัญหาในการทำงาน เรียกว่า “Presenteeism” หรือการมาทำงานแม้จะเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่สภาพร่างกายและจิตใจไม่พร้อม เนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงาน (Job security) จำนวนงานที่มากเกินไป (Overloaded work) วัฒนธรรมองค์กร (Work culture) ที่อาจกดดันให้พนักงานต้องแสดงความทุ่มเท หรือแม้แต่การไม่ยอมรับความจริงของตัวพนักงานเอง (Denial) ที่ทำให้ฝืนร่างกายตนเองเข้ามาทำงาน

โดยคนไทยช่วงอายุระหว่าง 35 - 49 ปี หรือที่เรียกว่า “กลุ่มแซนด์วิชเจเนอเรชั่น” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระหน้าต่างๆ กว่าช่วงวัยอื่นๆ ต้องรับมือกับปัญหาในชีวิตทุกๆ ด้าน กำลังเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพในวิถีชีวิตประจำวัน

ตามข้อมูลข้างต้น คนไทย91 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่ามีความเครียด แต่มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เข้าพบ นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาความเครียดของตนเอง

รายงานของซิกน่าวิเคราะห์บทสรุปว่า ประเทศมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดี ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 และสามารถถ่ายทอดการรักษาได้ดี ครอบคลุมผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยมีการร่วมจ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีระบบการดูแลผู้ป่วยนอกที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการคุมค่าใช้จ่ายในระบบให้ไม่สูงเกินไป และยังคงไว้ซึ่งบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ผู้ป่วยด้วยโรคจากความเครียด ที่ต้องแอดมิทในโรงพยาบาลมีตัวเลขค่อนข้างน้อย และมีตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบสุขภาพและระบบประกันสุขภาพของไทย มีผลอย่างมากในการรักษาโรคที่เกิดจากความเครียด

กล่าวสำหรับ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย อยู่ที่ 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ21,500 ล้านบาท) คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด โดยผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดส่วนใหญ่ใช้ประกันสุขภาพของรัฐ และใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในหลายประเทศ

รายงานฯ ดังกล่าวระบุถึงข้อเสนอแนะการรับมือปัญหาสุขภาพจิต โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกรณรงค์ให้ประชาชนตื่นรู้ เพื่อสามารถตรวจคัดกรองตัวเองจากความเครียด รวมทั้ง สร้างระบบให้นักจิตวิทยาให้สามารถเข้าถึงผู้ที่มีโอกาสป่วยจากโรคเครียดได้ง่ายขึ้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ว่า จากการสำรวจกระแสความสนใจของคนไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับหลักวิชาการ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ได้แก่

1.ความเครียดหรือซึมเศร้า โดยปี 2562 พบว่า ทุก 1 ชั่วโมง มีคนพยายามฆ่าตัวตาย 6 ราย กลุ่มเด็กและเยาวชนฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 300 ราย สาเหตุที่วัยรุ่นเครียดอันดับหนึ่งมาจากความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว เพื่อน หน้าที่การงาน และช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์คือ วันอังคาร 4 ทุ่ม และ วันศุกร์ 1 ทุ่ม หากมีคนเข้าไปรับฟังอย่างตั้งใจจะช่วยลดอัตราการคิดสั้นได้ 50%

2.ภัยคุกคามออนไลน์ โดยพบเยาวชนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ปี 2562 พบเด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 3.กลัวท้องมากกว่าติดโรค โดยพบอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 3 เท่า 4.E-Sport เป็น 1 ใน 5 อาชีพในฝันของเด็กไทย ทั้งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเกมและพนันออนไลน์ 5.ชีวิตบนท้องถนน พบคนไทยใช้หมวกนิรภัยไม่ถึง 50% โดยเฉพาะเด็กเล็กไม่สวมหมวกนิรภัย 92%

6.พฤติกรรมการกิน โดย 3 อันดับการเสียชีวิตของคนไทยมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด มีสาเหตุจากพฤติกรรมการกิน 7.กัญชาเมื่อเป็นยารักษาโรค ซึ่งได้รับอนุญาตใช้ทางการแพทย์ 4 โรค ขณะที่โลกออนไลน์ระบุสรรพคุณการรักษาโรคของกัญชาไปไกลมากกว่าที่รับรอง 8.ข่าวปลอมด้านสุขภาพ หรือ Fake News 9.ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นเดือน ม.ค.-มี.ค. และ 10.ขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน พบคนไทยผลิตขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในปี 62 พบว่า เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ และ 25% เคยนัดเพื่อนที่รู้จักในออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ดังนั้นสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง

อย่างไรก็ดี แม้อัตราคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน สาเหตุสำคัญคือไม่ใส่ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2561 พบว่า นักเรียนม.5 และ ปวช. 2 เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับแฟนมีการใช้ถุงยางทุกครั้งไม่ถึง 50% ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใช้ถุงยาง 100% ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับพนักงานบริการ หญิงหรือผู้ชายอื่น เหตุผลที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางเมื่อเจาะลึกในโลกออนไลน์คือ ถุงยางราคาแพง อายไม่กล้าซื้อ ใช้วิธีอื่น เช่น ฝังยาคุม ดังนั้นเพื่อลดการติดโรค

สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ ประเด็นที่น่าจับตาคือ "Fake News สุขภาพ" จากการสำรวจบนโลกออนไลน์พบว่า 5 ข่าวปลอมสุขภาพที่มียอดแชร์มากที่สุดคือ อังกาบหนูรักษามะเร็ง น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค ความฉลาดของลูกได้จากแม่มากกว่าพ่อ

โดยเพจที่เผยแพร่ข่าวปลอมแล้วได้รับยอดแชร์มากที่สุดส่วนมากเป็นเพจที่ตั้งชื่อเป็นสำนักข่าว แต่ไม่ใช่สื่อหลัก ส่วนเพจที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมและได้รับยอดแชร์มากที่สุด เป็นเพจสำนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น หมอแล็บแพนด้า ที่ไม่ใช่เพจสำนักข่าว แต่ได้รับยอดแชร์มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น