กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หลังเกิดเหตุ นร.ยิงเพื่อนร่วมชั้นดับ จากการถูกล้อเลียน ชี้เด็กถูกรังแกมีภาวะถดถอย บางคนสู้กลับ คล้ายกรณีต่างประเทศที่กราดยิงเพื่อนด้วยกัน ย้ำครูอาจารย์สนใจเรื่องการกลั่นแกล้งใน ร.ร. เสริมสรางวัฒนธรรมการช่วยเหลือกัน
วันนี้ (18 ธ.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ใช้ปืนยิงเพื่อนร่วมชั้นเสียชีวิต เนื่องจากถูกล้อเลียน ว่า กรมฯ เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ประกอบด้วย รพ.ศรีธัญญา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ลงพื้นที่เข้าไปในโรงเรียนดังกล่าว เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรมฯ ได้ประสานขอส่งเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต คาดว่าน่าจะสามารถเข้าไปได้ในอีกวันสองวันนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียนเกิดขึ้นน้อยมากในประเทศไทย แต่สามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก ดังนั้น ทีมเอ็มแคทจะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเครียด มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต พูดคุยให้กำลังใจกับทางเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังเกิดเหตุการณ์ หรือส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้ารับการรักษาเฉพาะทางจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดสูง และหากพบกลุ่มเสี่ยงที่มีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม จะให้มีการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือพยาบาลจิตเวชโดยตรง ซึ่งจะมีแผนการดูแลเฉพาะกลุ่มเสี่ยงนี้ โดยการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิต และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นและปลูกฝังเด็กในเรื่องของความรุนแรง การทำร้ายกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจและร่างกาย นักเรียนที่ถูกรังแก ถูกกลั่นแกล้ง มักเครียด ซึมเศร้า หากถูกกดดันรุนแรง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชิน จะมีปัญหาในเรื่องความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาลหรืออาชญากรได้ ดังนั้น สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน รวมทั้งเพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว
"ปัญหาเรื่องการบูลลีหรือการกลั่นแกล้งกันมีมานานแล้ว ต่างประเทศให้ความสนใจมาก แต่ในประเทศไทยมีน้อย เพราะมีความเป็นเพื่อนเยอะ แต่ตอนนี้สังคมเปลี่ยนแปลง ความสนิทลดลง มีการแบ่งกลุ่มกันมากขึ้น เด็กที่อ่อนแอมักถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งมีทั้งทางวาจา จิตใจ อารมณ์ ร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงแตกต่างกันแล้วแต่การปรับตัวของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่คนที่อ่อนแอกว่ามักจะเกิดการถดถอย เครียด ซึมเศร้า แต่บางคนอาจเกิดการถดถอยช่วงแรกแล้วมีการสู้กลับด้วยพฤติกรรมที่รุนแรง มีการต่อสู้ ทำร้ายกันและกันได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเพราะมีความเครียดสูง การแก้ไขเรื่องนี้ครู โรงเรียนต้องสร้างเสริมวัฒนธรรมที่ดี เห็นว่าการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเป็นบทเรียน สร้างวัฒนธรรมเรื่องการช่วยเหลือกันในกลุ่มเพื่อนฝูง ไม่อยากให้มีกลุ่มมีแก๊ง รวมถึงวัฒนธรรมการให้ความช่วยเหลือผู้อ่อนแอด้วย" นพ.เกีรยติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า บางคนอ่อนไหวกับเรื่องบางเรื่อง บางคนแค่ล้อชื่อพ่อ ชื่อแม่ก็โกรธกันมาก บางคนโกรธที่ถูกล้อเรื่องลักษณะเพศ ซึ่งสมัยนี้มีเยอะ สมัยก่อนจะมีเรื่องการเรียนไม่เก่ง แต่ก็ไม่รุนแรงมาก ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องลักษณะความนิยมทางเพศ ย้ำว่าไม่ใช่โรคทางจิตเวช ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด แต่นี่เป็นความสนใจทางเพศปกติของมนุษย์ เป็นรสนิยมส่วนบุคคล ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม การที่ไปล้อเลียน หรือไปแบ่งแยกคนเหล่านี้ออกจะมีผลลบ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา ก็อยากให้เสริมเรื่องคุณค่าทางจิตใจ และรสนิยมทางเพศเข้าไปด้วยว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวมีสาเหตุคล้ายหรือสอดคล้องกับปัญหาการกราดยิงเพื่อนร่วมชั้นเรียนในต่างประเทศหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า คงมีลักษะคล้ายกัน ซึ่งในต่างประเทศมีโปรแกรมต่อต้านการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนเลย เขาให้ความสำคัญสูงมาก แต่ในเมืองไทยยังมองว่าการที่เด็กแกล้งกันในโรงเรียนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ต้องเรียนว่าการกลั่นแกล้งกันนั้นเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้ เพราะฉะนั้นอยากให้ครู อาจารย์ให้ความสนใจเรื่องนี้ และหากอยากให้กรมสุขภาพจิตเข้าไปช่วยเหลือเรื่องนี้ทางกรมก็ยินดี ซึ่งทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมีการจัดทำโปรแกรมเหล่านี้เอาไว้อยู่แล้ว สามารถติดตั้งไว้ในโรงเรียน