ผอ.สถาบันกัลยาณ์ฯ เผยกรณี "สมคิด พุ่มพวง" ยังวิเคราะห์ไม่ได้ มีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ ต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบ ย้ำฆาตกรรมต่อเนื่องไม่จำเป็นต้องป่วยเสมอ ด้านเพจกรมสุขภาพจิต ระบุโรคไซโคพาธอาจเกี่ยวเนื่องฆาตกรต่อเนื่องได้ เพราะมีพฤติกรรมด้านชา ขาดความสำนึกผิด
วันนี้ (17 ธ.ค.) นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณี "สมคิด พุ่มพวง" ฆาตกรต่อเนื่อง ที่ถูกปล่อยตัวออกมาและยังทำฆาตกรรมสาวใหญ่ภายใน 1 เดือน ว่า โดยหลักการหากมีผู้ต้องขัง หรืออาจมีพฤติกรรมน่าสงสัย กระบวนการยุติธรรมสามารถร้องขอ พนักงานอัยการให้ส่งตัวให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตรวจสอบได้ว่า มีปัญหาทางจิตหรือไม่ โดยปกติเรื่องของพฤติกรรม การฆาตกรรมต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องคนป่วยเสมอไป ต้องมีการตรวจสอบ กระบวนการความคิด เพราะหากให้มีการลงโทษคนไม่สบายก็ไม่ยุติกรรม แต่หากไม่ป่วยก็ต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า จากกรณีพฤติกรรมของนายสมคิด ในทุกคดีที่ผ่านมาไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ป่วยหรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลว่าเคยได้รับการตรวจวิเคราะห์มาก่อน นอกจากนี้ คนปกติ ก็มีความคิดและพฤติกรรมเช่นนี้เหมือนกัน ไม่แตกต่าง คนป่วยก็ทำได้ ดังนั้น ต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบ หากกระบวนการยุติธรรม สงสัยก็สามารถส่งมาตรวจ หรือในคนทั่วไป หากญาติสงสัยสามารถร้องให้ตรวจสอบได้เช่นกัน
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า คนที่มีอาการป่วยที่สามารถกระทำรุนแรง หรือโหดเหี้ยมได้ ความผิดปกติ คือ หูแว่วประสาทหลอน ได้ยินสั่งการให้ทำ ต้องฆ่าเพื่อปลดปล่อย หรืออะไรทำนองนั้น บางครั้งเป็นลัทธิความเชื่อ หรืออาจอ้างว่าได้ยินเสียงสวรรค์สั่ง เรื่องนี้ต้องนำตัวมาตรวจสอบ เพราะบางคนก็กระทำทั้งที่ปกติ อาจเป็นนิสัยหรือมีแรงจูงใจอื่น เช่น เงิน ทอง ความอยากได้ ส่วนกรณีที่นายสมคิด ทางกรมราชทัณฑ์ระบุว่า เป็นนักโทษชั้นดี มีพฤติกรรมเรียบร้อย จึงต้องนำมาตรวจสอบ
เมื่อถามว่าหากเป็นผู้ป่วยจะสามารถวางแผน มีแบบแผนในการก่อเหตุหรือไม่ นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า มีได้หลายแนว ที่เราเคยเห็น มีการหลงผิด คลั่งลิทธิ ทำให้ก่อคดี โดยส่วนใหญ่หากเป็นคนไข้จิตเวชจะมีวิธีคิดของเขา ถ้าจะบอกว่าวางแผนไว้ก่อนหรือไม่ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร แต่ที่เคยมีเคสตัวอย่างคือฆ่าคนเพราะจะเป็นวันสิ้นโลกแล้ว ฆ่าคนที่รักเพื่อไปสวรรค์ นี่คือความหลงผิดที่ต้องประเมินว่าป่วยหรือไม่ป่วย หากป่วยก็ให้การรักษากันต่อไป ส่วนเรื่องการลงโทษก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นการคืนความยุติธรรมให้สังคมด้วย
เมื่อถามว่าก่อนปล่อยนักโทษ จิตแพทย์ต้องประเมินสุขภาพจิต สภาพจิตใจก่อนปล่อยตัวหรือไม่ นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า โดยระบบปกติของราชทัณฑ์จะมีระบบการปรับพฤติกรรมของคนไข้อยู่แล้ว และมีพยาบาลเรือนจำที่เราได้มีการอบรมกระบวนการทางจิตเวชให้กับพยาบาลเรือนจำครอบคลุมร้อยละ 90 ในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา หากเขาดูแล้วมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะส่งต่อรักษาต่อไป แต่โดยหลักผู้ต้องขังก็คือคนปกติเมื่อทำผิดพลาดก็ต้องรับโทษไป
ขณะที่เพจกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ภาพให้ข้อมูลถึงโรคหนึ่ง ซึ่งอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับฆาตกรต่อเนื่อง คือ โรคไซโคพาธ (Psychopaths) โดยระบุว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ขาดความยับยั้งชั่งใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ไซโคพาธเป็นหนึ่งภาวะที่รักษาได้ยากและมักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักไม่ร่วมมือกับการรักษา การทำจิตบำบัดจึงได้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย
สาเหตุของโรค ด้านทางกาย มีความผิดปกติของสมองโดยเฉพาะส่วนหน้า-ส่วนอะมิกดะลา ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง อุบัติเหตุทางสมอง พันธุกรรม ด้านจิตใจและสังคม ถูกกระทำการุณกรรมในวัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉย และอาชญากรรม ในครอบครัว ความแตกแยกในครอบครัว สภาพสังคมรอบตัวที่โหดร้าย
การรักษา การรักษาด้วยยามีประโยชน์ในการรักษาโรคทางจิตเวชที่เกิดร่วมกับไซโคพาธ การปรับพฤติกรรมเน้นการพัฒนาสิ่งที่สนใจในแง่ดี และการให้รางวัลเมื่อกระทำพฤติกรรมดี การลงโทษมักไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้เนื่องจากอาการด้านชาทางอารมณ์