แหล่งข่าวระดับสูงกรมราชทัณฑ์ แจกแจง “หลักทัณฑวิทยา” เกณฑ์มาตรฐาน ลดโทษผู้ต้องขังประพฤติดี “สมคิด พุ่มพวง” ติดจริง 14 ปี จากโทษจำคุกตลอดชีวิต ก่อนออกมาก่อเหตุซ้ำ
... รายงานพิเศษ
กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังวงการกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง โดยเฉพาะ “กรมราชทัณฑ์” เมื่อ “สมคิด พุ่มพวง” ผู้ต้องขังคดีฆาตกรต่อเนื่อง 5 คดี ถูกพบว่าก่อเหตุฆาตกรรมซ้ำที่ จ.ขอนแก่น หลังพ้นโทษออกมา เมื่อ 27 พฤษภาคม 2562
จนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “กรมราชทัณฑ์ รับกรณีลดโทษ สมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่อง หลังก่อเหตุซ้ำมีปัญหา”
ประเด็นอยู่ที่ว่า “ปัญหา” คือ อะไร?
ย้อนไปดูรายละเอียดบางอย่าง สมคิด พุ่มพวง ถูกตัดสินให้มีความผิดในคดีฆ่าผู้อื่นและลักทรัพย์ รวม 5 คดี เป็นการฆ่าหมอนวดและนักร้องค่าเฟ่ รวม 5 ศพ
ศาลพิพากษา “จำคุกตลอดชีวิต” ทั้ง 5 คดี และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำบางขวาง เมื่อ 28 มิถุนายน 2548 หรือประมาณ 14 ปีที่แล้ว
หมายความว่า จากโทษจำคุกตลอดชีวิต 5 คดี ... สมคิด พุ่มพวง ถูกจำคุกจริงไปเพียง 14 ปีเศษ จากกระบวนการ “ลดโทษ” ตามหลัก “ทัณฑวิทยา”
แหล่งข่าวระดับสูงในกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ “สมคิด พุ่มพวง” เป็นนักโทษชั้นดี ความประพฤติดี ไม่เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาท ไม่ทำตัวเป็นขาใหญ่ในเรือนจำ จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนชั้นและได้รับการลดโทษตามสิทธิของนักโทษเช่นเดียวกับนักโทษทุกคน โดยที่ผ่านมา สมคิดได้รับการลดโทษมาแล้ว 4 ครั้ง
หลักเรื่อง “ทัณฑวิทยา” เป็นการให้โอกาสนักโทษที่ประพฤติตัวดีในเรือนจำได้เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ แต่ในเรือนจำก็มีการประเมินนักโทษมาตลอด เช่น คดีที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเวช และมีอาการทางจิตเวชเมื่ออยู่ในเรือนจำ ก็จะถูกจับแยกออกมาเพื่อให้จิตแพทย์ตรวจวินิจฉัย แต่นายสมคิด ไม่เคยถูกตรวจพบว่าป่วยจิตเวช
แหล่งข่าวเห็นว่า นี่อาจเป็นอาการที่เกิดจาก “จิตใต้สำนึก” ซึ่งยากที่จะพบเจอ
จากข้อมูลที่ได้รับมา พบว่า ผู้ต้องขังคดีฆาตกรรมที่อยู่ในเรือนจำ ส่วนใหญ่ก่อเหตุจากความโกรธแค้น บันดาลโทสะ ส่วนผู้ต้องขังที่เป็นมือปืนรับจ้าง หรือก่อคดีฆาตกรรมโดยเป็นนิสัย ถือว่า มีไม่มาก
“สมคิด พุ่มพวง” เดิมทีถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำกลางบางขวาง หลังศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่เรือนจำกลางบางขวาง มีกฎว่าควบคุมตัวเฉพาะนักโทษในคดีที่มีโทษสูง คือ ต้องโทษจำคุก 25 ปีขึ้นไป จนถึง จำคุกตลอดชีวิต
ดังนั้น เมื่อ สมคิด พุ่มพวง ได้รับการลดโทษลงมาเรื่อยๆตามหลักเกณฑ์จากการที่ประพฤติตัวดี จนมีโทษเหลืออยู่ไม่ถึง 25 ปี เขาจึงถูกย้ายออกจากเรือนจำกลางบางขวาง กลับภูมิลำเนามาอยู่ที่เรือนจำหนองคาย ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว โดยถูกจำคุกจริงรวมประมาณ 14 ปี
มีคำถามว่า กระบวนการประเมินเรื่องการลดโทษมีปัญหาหรือไม่?
นี่เป็นประเด็นที่ต้องยอมรับว่า ตอบได้ยาก เพราะในเมื่อผู้ต้องขัง ไม่มีมีอาการป่วยจิตเวช ประพฤติตัวดี ไม่ทำผิดวินัย ไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ไม่เป็นขาใหญ่ ไม่ทำตัวแป็นปัญหา ก็ย่อมได้สิทธิเลื่อนขั้นเพื่อลดโทษเช่นเดียวกับคนอื่นๆ
“ถ้าไม่ให้สิทธิตามที่เขาควรจะได้รับ ก็มีความเสี่ยงที่กรมราชทัณฑ์จะถูกผู้ต้องขังฟ้องร้องได้เช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว
ถ้าถามต่อว่า แล้วกลุ่มที่ความประพฤติไม่ดี ได้รับผลต่างกันอย่างไร
มีกรณีที่เกิดขึ้นในเรือนจำหนองคายเช่นเดียวกัน ผู้ต้องขังรายหนึ่งมีพฤติกรรมเป็น “นักฆ่า” ก่อเหตุฆาตกรรมตั้งแต่อายุยังน้อย สังหารเหยื่อมาแล้ว 11 ศพ และได้รับข่าวจากญาติว่า มีผู้ต้องขังย้ายเข้ามาใหม่ เป็นคนก่อเหตุปาดคอพ่อของผู้ต้องขังรายนี้จนเกือบเสียชีวิต ทำให้เขาแก้แค้นก่อเหตุฆ่าผู้ต้องขังด้วยกันเป็นศพที่ 12 อยู่ในเรือนจำ
เมื่อก่อเหตุรุนแรง ผู้ต้องขังรายนี้จึงถูกย้ายไปที่เรือนจำ “คลองไผ่” อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงสุด มีโปรแกรมดัดสันดาน เช่น ขังเดี่ยว 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็นำตัวออกมาประเมิน ถ้ายังมีพฤติกรรมรุนแรงอีก ก็ส่งกลับเข้าไปขังเดี่ยวใหม่
แต่การจะนำผู้ต้องขังคนใด เข้าไปที่เรือนจำคลองไผ่ หรือเข้าโปรแกรมดัดสันดานได้ ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ เช่น กรณีนี้เป็นผู้ต้องขังที่ก่อเหตุฆาตกรรมในเรือนจำ ต้องก่อความรุนแรงเสียก่อน ไม่สามารถนำนักโทษที่มีความประพฤติดีไปอยู่ที่เรือนจำคลองไผ่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ และจะถูกฟ้องร้องว่าเป็นการกลั่นแกล้ง
คำถามสุดท้าย... ก่อนปล่อยตัว นักโทษต้องถูกประเมินอะไรบ้าง?
คำตอบคือ มีการประเมินหลายด้าน เช่น ประเมินความประพฤติ เคยทำผิดวินัยหรือไม่ ก่อความรุนแรงหรือไม่ เป็นขาใหญ่หรือไม่ ถ้าไม่มีความผิดเหล่านี้ก็ผ่าน
ยังมีการประเมินสุขภาพ โดยด้านสุขภาพภาพกาย ก็จะให้แพทย์มาตรวจ ถ้ามีโรคประจำตัวก็จะส่งข้อมูลด้านสุขภาพให้สาธารณสุขในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกปล่อยตัวได้รับทราบ
ส่วนการประเมินสุขภาพจิต ... แหล่งข่าวในกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ถ้าผู้ที่ถูกปล่อยตัวไม่เคยแสดงออกว่ามีอาการทางจิต ก็ต้องปล่อยตัวตามหลักเกณฑ์