xs
xsm
sm
md
lg

7 กลุ่มโรค-ภัยสุขภาพ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องถึงปี 63 ลดอัตราป่วยตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เผย 7 กลุ่มโรคภัยสุขภาพ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อในปี 63 หลังพบอัตราป่วยตายสูงในปี 62 ทั้งไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ วัณโรคดื้อยา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคจากอาหาร อุบัติเหตุจราจร และการจมน้ำ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในปี 2563 ว่า จากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา โรคติดต่อที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก คือ โรคอุจจาระร่วง ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ ตาแดง ไข้เลือดออก มือเท้าปาก สุกใส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ปอดอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์โรคในปี 2563 ก็จะต่อเนื่องกับปี 2562 โดยอาจแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม คือ

1.โรคทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ และไข้หวัดใหญ่ ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 23 ธ.ค.2562 พบป่วย 375,074 ราย คิดเป็น 564.75 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 27 ราย พบมากในเด็กกลุ่มอายุ 0.4 ปี และ 5.14 ปี แต่เสียชีวิตพบมากในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปและเด็กอายุ 0-4 ปี พบผู้ป่วยสูงมากช่วงต้นปี ก.พ. - มี.ค. และ ก.ย.-ต.ค. แต่ละปีเชื้ออาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสายพันธุ์ การใช้วัคซีนก็ต้องเปลี่ยนตามสายพันธุ์ด้วย ส่วนโรคปอดอักเสบป่วยทั้งสิ้น 240,766 ราย เสียชีวิต 159 ราย พบสูงในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี

2.โรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ติดเชื้อซิกา โดยปีนี้พบป่ยไข้เลือดออกแล้ว 125,235 ราย เสียชีวิต 131 ราย แม้จะน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังต้องลดตัวเลขลงอีก จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและป้องกันต่อเนื่องถึงปี 2563 คือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งจะมีการรณรงค์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่เป็นช่วงแล้ง

3.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม เริมที่อวัยวะเพศ และหูดอวัยวะเพศและทวารหนัก โดยโรคหนองพบป่วยเพิ่ม 1.5 เท่าในรอบ 10 ปี ซิฟิลิสเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วง 10 ปี ต้องเฝ้าระวัง และรณรงค์ให้มีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อม และป้องกันทุกครั้ง

4. วัณโรคดื้อยา องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วย 106,000 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 153 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นผู้ป่วยในระบบ 85,000 คน เสียชีวิต 11,000 ราย เดิมตัวเลขผู้ป่วยสูงกว่านี้ แต่มีการค้นหาผู้ป่วย เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จนลดอัตราป่วยลง จากเมื่อ 2-3 ปีก่อน พบอัตราการเกิดวัณโรค 170 คนต่อประชากรแสนคน ปัจจุบันลดลงได้มากจากเป้าหมายสูงสุดต้องเหลือเพียง 10 คนต่อประชากรแสนคน ปัญหาของผู้ป่วยวัณโรคคือ จะใช้ยาไม่ต่อเนื่อง จนทำให้เกิดเชื้อวัณโรคดื้อยา ดังนั้น ในปี 2563 จึงยังเป็นปีที่ต้องค้นหาผู้ป่วยและนำเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งติดตามการใช้ยาในผู้ป่วยวัณโรคเพื่อลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา

5.โรคที่เกิดจากอาหาร เช่น โรคไข้หูดับ อาหารเป็นพิษ โดยปี 2562 ผู้ป่วยจากอาหารเป็นพิษ 103,954 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคไข้หูดับ จากการรับกินหมูไม่สุก

6.อุบัติเหตุจราจร ถือเป็นภัยสุขภาพที่น่ากลัวไม่แพ้โรคติดต่อ เนื่องจากโรคต่างๆที่กล่าวมายังไม่เท่ากับอุบัติเหตุจราจรที่พบผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละกว่า 20,000 คน เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 55 คนต่อวัน โดยกลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 15-19 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 20-24 ปี

7.การจมน้ำ เป็นภัยที่ต้องระวังมากในเด็ก ซึ่งการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี พบว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มากกว่าทุกสาเหตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น