xs
xsm
sm
md
lg

"ไข้เลือดออก" ระบาดสูงทั่วโลก ไทยป่วย 1.2 แสน ตาย 131 ราย เหตุรักษาช้า ซื้อยากินเอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แจง "ไข้เลือดออก" ระบาดสูงทั่วโลก ตลอดปีไทยป่วยแล้ว 1.2 แสนราย ตาย 131 ราย ห่วงคนยังมารักษาช้า ซื้อยากินเอง ทำให้เสียชีวิต คนยังไม่ตระหนักทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อัตราป่วยจึงลดยาก ลุยจัด "วิ่งไล่ยุง" 10 ม.ค. หวังปลุกกระแสทั่วประเทศ ยันใช้งบประมาณจัดงานไม่มาก แต่หากทำให้คนใส่ใจได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายหลังเจ็บป่วยได้ ระบุปี 61 ประหยัดงบถึง 350 ล้านบาท

วันนี้ (25 ธ.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหาร สธ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ในการประชุมได้กำชับถึงการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ยุง วันที่ 10 ม.ค. 2563 ซึ่งในส่วนของ สธ.จะจัดเวลา 16.00-18.00 น. ซึ่งในส่วนของภูมิภาคก็สามารถจัดในวันและเวลาเดียวกันได้ ส่วนรูปแบบก็สามารถเลือกให้มีความเหมาะสมได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องชวนหรือปลุกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อลดการระบาดของโรคจากยุงลาย ทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ที่มีการระบาดสูงทั้งในไทยและภูมิภาค ซึ่งหากทุกบ้านทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ในบ้านรัศมี 100 เมตร ซึ่งยุงจะบินอยู่ในรัศมีนี้ ก็จะช่วยลดปัญหาลงได้ และหลังจากวันที่ 10 ม.ค. ก็จะรณรงค์ต่อเนื่องทั้งปี


นายสาธิต กล่าวว่า ตั้งแต่ ม.ค. - 17 ธ.ค. 2562 มีรายงานไข้เลือดออกจำนวน 125,235 ราย มากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ถึง 2 เท่า ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 131 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-14 ปี คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดต่อเนื่องไปถึงปี 2563 อาจพบผู้ป่วยสูงถึง 140,000 ราย ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีผู้ป่วย 11,046 ราย สูงกว่าในปีที่ผ่านมา 4 เท่า ดังนั้นจึงต้องร่วมกันรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายให้มีประสิทธิภาพในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองที่เราจะกำหนด เพราะไม่มีฝนตกลงมาแล้ว  อย่างไรก็ตาม การกำจัดลูกน้ำยุงลายต้องทำทั้งปี ซึ่งปี 2563 ตั้งเป้าว่าต้องลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด  โดยเฉพาะไข้เลือดออกต้องป่วยไม่เกิน 1 แสนราย และเสียชีวิตไม่เกิน 100 ราย

ผู้สื่อข่าวถามว่าในปี 62 มีการรณรงค์อย่างเข้มข้น แต่กลับพบยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตเกินจากที่มีการคาดการณ์ไว้  นายสาธิต กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะคนไทยยังไม่ตระหนักมากนัก บุคลากรสาธารณสุขจัตระหนักและทำฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงทำให้เราต้องรณรงค์อย่างเข้มข้น


ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำเขตร้อน ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็มีการระบาดมากเช่นเดียวกัน โดยในฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วย 4 แสนราย เวียดนาม 2.4 แสนราย ส่วนมาเลเซียมีจำนวนผู้ป่วยพอๆ กับไทยคือ 1.2 แสนราย ในส่วนของประเทศไทยล่าสุดมีพื้นที่เสี่ยง 224 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นอำเภอเมืองและอำเภอที่เป็นเมืองใหญ่ ทั้งนี้ จากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย พบว่าที่ศาสนสถานมีดัชนีลูกน้ำสูงสุดร้อยละ 48 สถานศึกษา ร้อยละ 35 โรงแรม/รีสอร์ท ร้อนละ 30 สถานที่ราชการ ร้อยละ 29 โรงงาน ร้อยละ 28 ชุมชน ร้อยละ 18 และสถานพยาบาล ร้อยละ 10 ทั้งนี้ ปี 2562 โรคไข้เลือดออกมีการระบาดสูงทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้านจากสถิติดังกล่าวถือว่าอัตราป่วยสูง แต่ที่ประเทศไทยป่วยน้อยกว่า เพราะเรามีการขับเคลื่อนเรื่องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ น่าจะดีกว่านี้ และที่ติดใจ คือ ผู้เสียชีวิต จำนวน 100 กว่าราย ส่วนหนึ่งไปซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด ทำให้โรคที่รุนแรงอยู่แล้ว มีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีโรคประจำตัว ซึ่งโรคไข้เลือดออกต้องให้น้ำ หลายคนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงให้น้ำไม่ได้ จึงทำให้ขลุกขลักในเรื่องการรักษา และสัดส่วนเป็นในเด็กโตกับผู้ใหญ่ ที่ทนต่ออาการเจ็บป่วย ทำให้มารักษาช้า จึงมาอยู่ในภาวะช่วงใกล้ช็อก ดังนั้น ปี 2563 จึงต้องปลุกให้ตื่นตัว เพราะตามการระบาดของโรคไข้เลือดออกนั้น ช่วง ม.ค. - มี.ค. เป็นช่วงที่ผู้ป่วยไม่เยอะ เม.ย.เริ่มเยอะขึ้น เพราะโรงเรียนเปิดเทอม และพอเข้าฤดูฝนก็พีคเลย ฉะนั้น ถ้าจะจัดการดีที่สุด คือ ช่วงนี้ ช่วงที่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายน้อย เพราะเป็นหน้าแล้ง หากไปจัดการหน้าฝนก็เปล่าประโยชน์

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ทำให้ไข้เลือดออกปีนี้ระบาดสูงทั่วโลก  นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีอยู่ 2-3 ส่วน คือ 1.เป็นวงรอบการระบาด อย่างที่ทราบกัน คือ รูปแบบปีเว้นปี ปีเว้น 2 ปี ถ้าทำนายย้อนหลังประมาณ 5 ปี จะเห็นว่า ปี 2561 ทำนายไว้ว่าจะระบาดใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งก็จริง แต่เราสามารถกดลงได้ จากการทำอาสาปราบยุง การระบาดที่โด่งๆ จึงลดลง ส่วนปี 2562 ตามแพทเทิร์นคิดว่าไม่น่าระบาด แต่พอดูสัญญาณจากทั่วโลก ก็พบว่ามีการระบาดเป็นระดับโลก และภูมิภาคของทางเอเชีย ขนาดว่าเรามีการรณรงค์ยังป่วย 1.2 แสนราย แต่เพื่อนบ้านป่วยสูงไป 2-3 แสนรายบ้าง เพราะประชาชนช่วยคนละไม้ละมือจึงลดลงมาเหลือเท่านี้  2.เรื่องของสายพันธุ์ ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ แต่จะมีว่าในปีไหนสายพันธุ์ไหนพบบ่อย โดยปี 2562 สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ 1 ช่วงการระบาดจะเป็นช่วงที่มีสายพันธุ์ 1 แต่การเสียชีวิตมักมาจากสายพันธุ์ 2 เพราะมีความรุนแรงกว่า จึงเชื่อว่ามีหลายปัจจัยมารวมๆ กัน

"หลายพื้นที่ควบคุมไม่อยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีวิธี หรือเครื่องมือ บางบ้านไม่อยู่ตอนกลางวัน และไม่ยอมมาเปิดบ้านให้เข้าไปพ่น ก็จะเหลือเป็นไข่แดงตรงกลาง ยุงก็หนีเข้าไปอยู่ ยุงก็ไม่หมด ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกก็ยังอยู่ในชุมชน ก็มีโอกาสเจอผู้ป่วยต่อเนื่อง ถ้าทุกคนจัดการในบ้าน พื้นที่สาธารณะมีคนดูแล บางพื้นที่มีบางหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก 5 ปี ไม่ใช่เพราะแพทย์เก่ง แต่คนในชุมชนร่วมกัน เหมือนกับคนบางคนเป็นไข้เลือดออกแต่ไม่เสียชีวิตเพราะมาตั้งแต่เนิ่นๆ" นพ.สุวรรณชัย กล่าว


เมื่อถามถึงงบประมาณที่นำมาจัดโครงการวิ่งไล่ยุง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ไม่มาก โดยกิจกรรมวิ่งไล่ยุงในกรุงเทพ ในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข นั้นใช้เพียงหลักแสนบาท โดยใช้งบของกรมควบคุมโรค ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดใช้งบของกองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้จากการสรุปผลการดำเนินการรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกในปี 2561พบว่าช่วยประหยัดงบประมาณด้านสุขภาพที่ต้องเสียไปจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล ราวๆ 350 ล้านบาท โดยลดการเสียชีวิตไป 100 กว่าราย และลดการป่วยลงไปครึ่งหนึ่ง ส่วนข้อมูลปี 2562 จะทำการสรุปเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 ส่วนการวิ่งไล่ยุงจะเป็นการปลุกกระตุ้นให้คนก่อนออกมาวิ่งก็ต้องเก็บบ้าน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ก่อน ออกไปวิ่งก็ช่วยดูแลพื้นที่สาธารณะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย






กำลังโหลดความคิดเห็น