xs
xsm
sm
md
lg

พยากรณ์โรคสัปดาห์นี้ ระวังป่วย "ไข้ปวดข้อยุงลาย" ห่วงแนวโน้มสูงตั้งแต่ พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พยากรณ์โรครายสัปดาห์ 3-9 พ.ย. ระวังป่วยไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น หลังแนวโน้มพุ่งสูงตั้งแต่ พ.ค. พบในพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะภาคกลาง ตั้งแต่ต้นปีป่วยแล้ว 8.7 พันราย ภาพรวมสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง

วันนี้ (2 พ.ย.) กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3 – 9 พ.ย. 2562 อาจพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 ตุลาคม 2562 พบผู้ป่วยรวม 8,774 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 25-34 โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ปัตตานี ระนอง ตาก ภูเก็ต และสงขลา  จากระบบเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในภาพรวมมีผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดยเริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการที่พบคือ ไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดศีรษะมาก ปวดออกกระบอกตา มีผื่น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ และปวดข้อ อาการปวดข้อมักจะเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี

กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ทุกพื้นที่ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย  โดยเน้นใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  และ 3.เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ให้ปล่อยน้ำทิ้ง หรือเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์  นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้งแม้เป็นช่วงเวลากลางวัน หากพบว่ามีอาการป่วยดังกล่าวข้างต้น ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมและสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


กำลังโหลดความคิดเห็น