xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค เร่งติดตามหลังมีข่าว "ญี่ปุ่น" ติดเชื้อซิกาหลังกลับจากไทย ห่วงยุงกัดติดเชื้อเนื้อเน่าได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคประสาน "ญี่ปุ่น" ติดตามข้อเท็จจริง หลังพบป่วยซิกาหลังมาเที่ยวไทย วอนอย่าตระหนก คนทั่วไปไม่เป็นอันตราย อาจมีไข้ ผื่นขึ้นแล้วหายเอง จะรู้ว่าติดเชื้อต้องตรวจในแล็บ ห่วงแบคทีเรียเนื้อเน่าอันตรายกว่า ย้ำป้องกันอย่าให้เกิดแผล หากมีแผลอย่าลุยน้ำ เสี่ยงรับเชื้อ อย่ามห้เจอสิ่งสกปรก ย้ำมีอาการบม แดง ร้อน ไข้ร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์ ยันรักษาได้

วันนี้ (4 พ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่ามีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นป่วยเข้าโรงพยาบาล จากการติดเชื้อไวรัสซิกาหลังเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทย ว่า ตนได้มอบหมายให้กองระบาดวิทยา ประสานงานตามกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เรียนว่า โรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกาเกิดจากการที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด บางคนไม่ติด บางคนติดไม่รู้ตัว ไม่มีไข้ แล้วหายเอง บางคนมีไข้แล้วหายเอง บางคนเป็นผื่นแล้วหายเอง การจะรู้ว่าป่วยซิกาหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะไม่ได้อันตรายกับคนทั่วไป 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีโรคเนื้อเน่าที่มีดาราไทยไปถูกแมลงกัดที่ญี่ปุ่นและติดเชื้อแบคทีเนียเนื้อเน่า ตรงนี้อันตรายกว่าเยอะ สิ่งสำคัญ คือ ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนขอให้ศึกษาโรคในพื้นที่ และระมัดระวังตัว ป้องกันตัวเอง อย่างโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ และยังเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลายด้วย การป้องกัน คือ อย่าให้ยุงกัด ด้วยการทายากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่ายุงลายยังเป็นพาหะของโรคไข้เหลืองด้วยนั้น เป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อน ความจริงยุงที่เป็นพาหะไข้เหลืองเป็นคนละชนิดกัน และประเทศไทยเองก็ไม่ได้เป็นประเทศที่มีการระบาดของไข้เหลืองแต่อย่างใด

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า โรคเนื้อเน่า (Necrotizing  fasciitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผล ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย 2 ชนิด คือ Streptococcus pyogenes และ Staphylococcus aureus โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง โรคนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ หรือแผลจากการถูกแมลงหรือยุงกัด แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลาม ทำให้แผลติดเชื้อซ้ำซ้อน แต่ละปีประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 ราย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุด คือ บริเวณขา และเท้า เกิดจากเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรง อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ หากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ประชาชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น สำหรับการป้องกันโรค ขอให้ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าปวดบริเวณแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น