xs
xsm
sm
md
lg

เด็กคือเหยื่อการบ่มเพาะความรุนแรงในสังคม ! /ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวเรื่องความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนพบเห็นผ่านสื่อแทบทุกวัน

เราเคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมเรื่องความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวี่วัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีสาเหตุมาจากอะไร และเด็กและเยาวชนจะเติบโตขึ้นไปอย่างไร ?
ข่าวเรื่องเด็กม. 1 ยิงเพื่อนในโรงเรียนจนเสียชีวิตโดยอ้างว่าถูกผู้ตายชอบแกล้ง ตบหัวตน และล้อว่าเป็นตุ๊ดเป็นเกย์ จนรู้สึกคับข้องใจ จึงเป็นเหตุให้ลักปืนพ่อมาก่อเหตุ กลายเป็นเรื่องสลดร่วมของสังคม
ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจกันมากถึงสาเหตุของเด็กคนนี้ คือเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง (Bullying) ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง ที่มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทุบตี ซึ่งส่งผลทางกายภาพ หรือการด่าทอ ดูถูก เสียดสี เหยียด ล้อเลียนปมด้อยของคนที่ต้องการกลั่นแกล้ง ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจ โดยรวมก็คือพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ หรือมีพลังเหนือกว่าผู้อื่น และการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่มีอีกประเด็นก็คือเพราะเด็กติดเกม ซึ่งคาดว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงจากเกม  
และข่าวเรื่องนี้ยังไม่ทันจางหาย ก็มีข่าวเรื่องคลิปอาม่าตบเด็กนักเรียน และเด็กนักเรียนก็ตบอาม่ากลับทันที มาสร้างกระแสความรุนแรงให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอีก
ยังไม่นับเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงทำนองนี้เกิดขึ้นแทบรายวัน  

เรียกว่าตื่นเช้ามาในแต่ละวันจะต้องเจอรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงรายวัน บางวันมากหน่อย บางวันรุนแรงถึงขั้นเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต บางวันถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ฯลฯ

บางทีก็สงสัยว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

จุดที่ความรุนแรงแทรกซึมอยู่รายล้อมรอบตัวแทบจะทุกระดับในสังคม  

กรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมหลายต่อหลายครั้ง ต่างถูกขุดคุ้ยหาสาเหตุกันจ้าล่ะหวั่น ซึ่งก็มีสาเหตุมากมาย แต่แท้จริงแล้ว สาเหตุเหล่านั้นเป็นเพียงปลายเหตุที่ถูกกระตุ้นและเร่งทำให้เกิดการตัดสินใจก่อเหตุหรือไม่  

แต่ต้นทางของปัญหา เด็กคนแล้วคนเล่าต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของการบ่มเพาะความรุนแรงในสังคม !
ลองคิดภาพว่าเด็กและเยาวชนต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมยุคที่รายล้อมไปด้วยความรุนแรงหลากรูปแบบ ?
เพราะนอกจากครอบครัว ประเด็นเรื่องพ่อแม่ทำร้ายลูก สามีทำร้ายภรรยา เป็นปัญหาสังคมที่มีมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มมากขึ้น สภาพแวดล้อมเองก็มีส่วนกระตุ้นและเร่งเร้าให้ด่วนเกิดความปะทุอารมณ์ของผู้คน อีกทั้งปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ การโพสต์ การแชร์ และการแสดงความคิดเห็น ที่มีออกมามักได้รับความสนใจจากสังคม แต่จำนวนมากที่แสดงความเห็นในเรื่องเชิงลบ และมีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงความขัดแย้ง จนไปถึงการใช้ความรุนแรงทางภาษา

อย่าว่าแต่เด็กและเยาวชนเลยที่เกิดคำถามมากมายท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้ง แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็อึดอัดคับข้องใจมิใช่หรือ !

จนกลายมาเป็นประเด็นการใช้ Hate Speech ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม และอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยทันที หรือนําไปสู่ความรุนแรง เช่น การปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทําร้ายร่างกาย ข่มขู่  ฯลฯ
เรียกว่าจากความรุนแรงระดับบุคคลที่แสดงความเห็นและความรู้สึกผ่านโซเชี่ยลมีเดีย กลายเป็นว่า สื่อหลักหรืออาจจะเรียกว่าสื่อดั้งเดิมก็นำไปขยายประเด็นเพิ่มเติมเข้าไปอีก จึงเกิดเป็นค่านิยม และทัศนคติใหม่ว่า ถ้าอยากดัง ต้องโพสต์แรง ๆ ปัง ๆ จะได้ถูกสื่อหลักนำไปขยายความต่อ

นี่ยังไม่นับกรณีที่มีการเผยแพร่เนื้อหาแสดงออกถึงความรุนแรงชนิดเรียกร้องความสนใจ การทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือการถ่ายทอดสดแสดงการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

สุดท้ายสื่อก็กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อ “ความรุนแรง”  

เรียกว่า ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ชอบหรือไม่ชอบอีกฝ่าย ทำให้ผู้คนมีอารมณ์ร่วมต่อสถานการณ์เป็นอย่างมาก และผลที่ตามมาคือไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่เกิดกับลูกหลานของเรา หรือเด็กและเยาวชนที่ต้องเสพรับเอาอารมณ์ร่วมเหล่านั้นไปด้วย

และผลกระทบก็ลงไปที่ตัวเด็ก กระทบต่อต้นทุนชีวิตของเด็กหลายด้าน โดยเฉพาะเด็กที่มีต้นทุนชีวิตต่ำ มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เด็กอาจจะเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อการดำรงชีวิตก็ได้

เด็กยุคนี้มีภาวะความเสี่ยงสูงในการเสพความรุนแรงล้อมรอบตัว ทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  

ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น สภาพร่างกายและจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน ทางกายวิภาคของสมอง และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักหุนหันพลันแล่น และขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะสมองส่วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ดี ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ ประสบการณ์ จนกว่าจะบรรลุวุฒิภาวะ
แล้วผลกระทบที่ตามมา เราจะได้เด็กและเยาวชนแบบไหน ?  

หนึ่ง –ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา  
เด็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกบ่มเพาะเรื่องความรุนแรง ก็จะมีวิธีคิดประเภทที่ว่าแรงมาแรงไป และเมื่อเห็นว่าการใช้ความรุนแรงแล้วสามารถหยุดสถานการณ์บางเรื่องได้ ก็จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาต่อไป

สอง – มองโลกในแง่ร้าย  
ต้องยอมรับว่าสภาพโดยรวมของสังคมเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ผู้คนขาดความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกา เกิดความหวาดผวาสังคม ไม่ไว้วางใจกัน และเกิดอคติขึ้นในสังคม ก็จะนำไปสู่การมองโลกในแง่ร้าย  

สาม – เกิดความเคยชิน
เด็กจำนวนมากที่เสพรับความรุนแรงซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เกิดขึ้นจนชาชิน แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง ทําให้คนรุ่นหลังถูกปลูกฝังมาแบบผิด ๆ และมองว่าความรุนแรงก็เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือไม่ได้คิดว่าความรุนแรงเป็นปัญหา  

สี่ – ควบคุมอารมณ์ไม่ได้  
ในเมื่อเด็กเห็นภาพการใช้อารมณ์ที่ปะทุอยู่ทุกวี่วัน ยิ่งถ้าครอบครัวเองก็ไม่สามารถจัดการอารมณ์ที่รุนแรงของผู้ใหญ่ได้ รับประกันเลยว่าเด็กก็จะซึมซับประทับเข้าไปในตัวเด็กเองด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนขาดแบบอย่างที่ดีของสังคม เพราะเห็นภาพความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง การใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ทั้งในและนอกจอ ซึ่งหากเด็กขาดต้นทุนที่ดี และเห็นแต่การแสดงออกที่ไม่เหมาะสม จะทำให้สังคมเกิดเด็กมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา  

แล้ว...ควรทำอย่างไรเมื่อต้องรับสื่อและต้องอยู่กับเหตุการณ์เหล่านี้
ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้ ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง เริ่มต้นจากคนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานของเรา ในเมื่อสถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด สถาบันครอบครัวก็ต้องปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งกาย วาจา และใจ
ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการศึกษาระดับสูง หรือแก้ด้วยการสั่งการผ่านนโยบายอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่ต้องสร้างรากฐานจากสถาบันครอบครัว และนำไปสู่ให้ลูกรู้เท่าทันความรุนแรงที่มาจากหลายหลายรูปแบบ

อยากจะเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ควรจะระมัดระวังในการใช้คำพูด หรือการสื่อสารในทุกช่องทางที่อย่าแค่เอามันส์ สะใจ คึกคะนอง หยาบคาย รุนแรง ฯลฯ เพราะผลกระทบก็ตกไปที่ลูกหลานของเราอยู่ดี
ปัญหาเรื่องความรุนแรงกระจายตัวไปทั่วทุกพื้นที่ สังคมมีการบ่มเพาะความรุนแรงไปทั่วทุกระดับ และสุดท้ายเด็กมักกลายเป็นเหยื่อเสมอ  
อยากได้เด็กและเยาวชนแบบไหน ผู้ใหญ่ทำตัววันนี้อย่างไรก็ได้รับผลแบบนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น