ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ฆ่าหญิงสาว 5 ศพ ติดคุก 14 ปี... ดีกรีนักโทษชั้นเยี่ยม ได้รับลดหย่อนโทษประหาร พ้นคุกไม่ถึง 6 เดือน ก่อคดีซ้ำลงมือฆ่า ศพที่ 6”
เกิดคำถามขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับคดีสะเทือนขวัญเรื่องจริงไม่อิงนิยายซึ่งมีฆาตกรสุดอันตรายคือ “นายสมคิด พุ่มพวง” ผู้ได้รับฉายา “คิด เดอะริปเปอร์” มีที่มาจาก “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” ฆาตกรต่อเนื่องชาวอังกฤษ ที่มักก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง หญิงขายบริการทางเพศหลายราย
แน่นอน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะประเด็นการลดหย่อนโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีช่องว่างช่องโหว่กระทั่งทำให้ “คิด เดอะริปเปอร์” ที่ต้องคำพิพากษาติดคุกไม่นานนักก็ออกจากทัณฑสถานและนำไปสู่ คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญอีกครั้งในปี 2562 ทั้งๆ ตอนถูกจับกุมครั้งแรกเผยคำสารภาพว่า “มีความสุขที่ได้บีบคอผู้หญิง”
ปัญหาเรื่องนักโทษ “ล้นคุก” เกินกว่าที่ “กรมราชทัณฑ์” จะรับมือได้ ถือเป็นประเด็นที่มีน้ำหนัก และจำต้องมาพินิจพิจารณาหาทางแก้ไข
แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า “สมคิด พุ่มพวง” เป็น “ฆาตกรที่ไม่ธรรมดา” เพราะยิ่งไปตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ก็ยิ่งเห็นความเป็นจริงที่กระจ่างแจ้งว่า “ทำไมเขาถึงติดคุกเพียงแค่ 14 ปี” เท่านั้น
นายสมคิด ปัจจุบัน อายุ 55 ปี เริ่มต้นก่อคดีในปี 2548 โดยเจาะจงเลือกเหยื่อสาวใหญ่-หมอนวด - นักร้องคาเฟ่ และ “เหยื่อรายแรก” ของเขาก็คือนักร้องคาเฟ่ซึ่งถูกมัดและกดน้ำตายในห้องพักของโรงแรมใน จ.มุกดาหาร
หลังจากนั้น 5 เดือน ช่วง มิ.ย. 2548 เจ้าหน้าที่รับแจ้งพบ “เหยื่อรายที่ 2” ซึ่งเป็นหมอนวดแผนโบราณ ถูกบีบคอตายคาโรงแรมใน จ.ลำปาง รวมทั้ง พบว่ามีการลักเอาทรัพย์สินของผู้ตาย แหวนทอง ต่างหู โทรศัพท์ มูลค่ารวมกว่า 5,000 บาท หลบหนีไป
ผ่านไปเพียงสัปดาห์ในเดือนเดียวกัน พบศพ “เหยื่อรายที่ 3” นักร้องคาเฟ่ถูกฆ่ารัดคอด้วยสายไฟ ในห้องพักโรงแรม จ.ตรัง “เหยื่อรายที่ 4” หมอนวดสาวถูกกดน้ำตายที่โรงแรมใน จ.อุดรธานี และ “เหยื่อรายที่ 5” หมอนวดถูกบีบคอตายในแมนชั่น จ.บุรีรัมย์ ตรวจพบทรัพย์สินหายไป
ด้วยเหตุฆาตกรรมมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้จะเกิดคนละพื้นที่แต่มีความเชื่อมโยงหลักๆ ดังนี้ ผู้ตายประกอบอาชีพแฝงขายบริการทางเพศ, เมื่อร่วมหลับนอนมีเพศสัมพันธ์แล้วค่อยลงมือฆ่า และมีการขโมยทรัพย์สินของหญิงสาวผู้ตายไปขาย คาดว่านำไปเป็นเงินทุนในการหลบหนีและก่อเหตุใหม่ต่อไป
เจ้าที่ตำรวจสืบพบพยานหลักฐานต่างๆ ชี้ชัดว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนๆ เดียวกัน คือ “นายสมคิด พุ่มพวง” และนำไปสู่การจับกุมตัวในเวลาต่อมา ซึ่งนายสมคิดรับสารภาพถึงสาเหตุการฆ่าหญิงสาวทั้งหมด โดยอ้างว่าหลังจากร่วมหลับนอนกันแล้วถูกขอค่าตัวเพิ่ม ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ทำให้บันดาลโทสะและลงมือสังหาร แต่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ ด้วยลักษณะคดีมีการวางแผนและมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์
กล่าวสำหรับ นายสมคิดนั้นเป็นคนมีไหวพริบ เฉลียวฉลาด รู้จักอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเป็นใบเบิกทาง ตั้งแต่สารภาพให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี จนได้ลดหย่อน “โทษประหาร” เป็น “จำคุกตลอดชีวิต” รู้วิธีการปฏิบัติตัวให้เป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” ได้รับการลดหย่อนโทษลงเรื่อยๆ เพื่อนับถอยหลังคืนสู่อิสรภาพในอีก 14 ปีต่อมา
พ.ต.ท.วิวัฒน์ จิตโสภากุล รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม หนึ่งในชุดจับกุมคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง เหยื่อรายที่ 6 เปิดเผยว่า นายสมคิด เรียนจบชั้น ป.2 ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่ติดคุก เขาเป็นทนายให้ตัวเองในการต่อสู้คดี ด้วยเหตุไม่เชื่อใจใคร ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์
และเมื่อติดคุกติดตะราง นายสมคิดก็รู้ว่าจะต้องประพฤติตัวอย่างไรเพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ซึ่งนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาติดคุกอยู่เพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ระบุชัดเจนว่า การฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้เพียงศพเดียว โทษคือประหารชีวิต กรณีของนายสมคิด เจตนาฆ่าถึง 5 ศพ ในปี 2548แน่นอนว่าต้องโทษประหารชีวิต ทว่า ช่องโหว่ของกฎหมาย หากฆาตกรให้ความร่วมมือ ให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสืบสวน ศาลลดโทษจากประหารชีวิต เหลือเพียงแค่ติดคุกตลอดชีวิต
อีกทั้ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 กรณีนักโทษต้องโทษติดคุกตลอดชีวิต ต้องติดจริงเป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากนั้นหากประพฤติตัวดีจะได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆ รวมทั้งวันสำคัญต่างๆ จะมีพระราชทานอภัยโทษ เป็นการลดวันติดคุกด้วย
ต่อมา นายสมคิดได้รับการลดหย่อนโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย ทำให้จำคุก 14 ปีเท่านั้น กระทั่งพ้นคุก เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 กลับมาก่อเหตุสะเทือนขวัญซ้ำอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ ฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ไม่ธรรมดา เพราะระหว่างติดคุก เขาก็ศึกษาหาความรู้เรียนด้านกฎหมายหลักสูตรสัมฤทธิบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นคนฉลาด หัวไว มีไหวพริบ มีศิลปะในการพูด ล่อหลอกเก่ง พอพ้นคุกก็ไปหลอกลวงชาวบ้านว่าเป็นทนายจะวิ่งเต้นคดีให้ และไม่แปลกแม้ติดคุก 14 ปี ออกมาเพียง 6 เดือน แล้วเรียนรู้เทคโนโลยี ก่อนแชทเฟซบุ๊กล่อลวงเหยื่อสาวเคราะห์ร้าย
หลังจากออกคุก นายสมคิดยังตีเนียนออกเดินสายไปยังหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เพื่อขอเงินค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา
พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดใจในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคลี่คลายคดีจับกุม นายสมคิด พุ่มพวง ในช่วงปี 2548 ระบุว่าการก่อเหตุของนายสมคิด ไม่ได้มีการวางแผนซับซ้อน แต่พบว่ามีอาการเป็นโรคจิตเภท ไม่ได้มีอาการวิกลจริต สามารถดำเนินคดีได้ เพราะทุกครั้งที่ก่อเหตุมีสติเหมือนคนปกติ โดยล่าสุดเมื่อนายสมคิดถูกจับกุมแล้วอีกครั้ง ไม่ควรถูกปล่อยให้ออกมาอยู่ในสังคมภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาก่อเหตุกับคนอื่นอีก เพราะโรคจิตเภทที่นายสมคิดป่วยนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
“สมคิด เป็นคนมีความฉลาดและมีความรู้ พฤติกรรมเดิมเคยให้การเป็นพยานเท็จในคดี “ผู้พันตึ๋ง” สมคิดโทรศัพท์ไปบอกช่องข่าวว่า ทราบตัวคนร้าย เป็นลักษณะสร้างความสำคัญ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่กองปราบจับกุมในข้อหาให้การเท็จ ในขณะที่ติดคุกอยู่ก็ยังไปเขียนจดหมาย ส่งไปถึงภรรยาของญาติผู้ที่ถูกยิงตายในบ่อบำบัดน้ำเสียราชาเทวะ เพราะฉะนั้นสมคิดจะมีความคิดที่ต่างจากบุคคลธรรมดา
“…สมคิดไม่ได้บ้าหรือวิกลจริต ถ้าบ้าหรือวิกลจริตคือไม่รู้ตัวในขณะกระทำผิด แต่สมคิดเป็นโรคจิตเภท ที่ถ้าได้ไปกระทำหรือดำเนินการต่อเหยื่อแล้วทำให้เกิดความสุข ทำให้เกิดความปลดปล่อย การทำกับเหยื่อซ้ำ ทำกับผู้หญิงที่อ่อนแอกว่า เป็นโรคจิต เป็นจิตเภทอย่างหนึ่งทางเราเรียกว่าฆาตกรรมต่อเนื่อง” พล.ต.อ.วินัย กล่าว
กล่าวสำหรับคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง “เหยื่อรายที่ 6” รายล่าสุด ถูกพบเป็นศพเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา คือ แม่บ้านของโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น โดยเพื่อนบ้านระบุว่าสาวผู้ตายอาศัยอยู่กับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นทนายความ เปิดสำนักงานกฎหมายอยู่ที่ จ.พัทลุง รู้จักกันผ่านทางเฟซบุ๊ก 1 เดือน ตกลงเป็นแฟนวางแผนจะแต่งงานกัน
ก่อนสืบทราบว่าเป็น “นายสมคิด พุ่มพวง” ฆาตกรต่อเนื่องที่เพิ่งพ้นโทษ นำสู่การออกหมายศาลจับกุมในข้อหาฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พร้อมตั้งรางวัลนำจับโดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ตั้งค่าหัว 50,000 บาท และชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ตั้งค่าหัว 30,000 บาท ต่อมา รวม 80,000 บาท ต่อมามีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสทำให้เจ้าหน้าตำรวจบุกรวบได้อย่างทันควัน ขณะหลบหนีบริเวณสถานีรถไฟปากช่อง จ.นครราชสีมา
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้กล่าวน้อมรับความผิดและกล่าวแสดงความเสียใจต่อกรณี “นายสมคิด พุ่มพวง” ที่เพิ่งจะพ้นโทษเมื่อช่วงกลางปี 2562 แต่กลับไปก่อเหตุสะเทือนขวัญอีกครั้ง ความว่า
“...ในฐานะผู้นำหน่วยของกรมราชทัณฑ์ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต และขอโทษสังคม ยอมรับว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องผิดพลาดในการกลั่นกรอง ซึ่งเป็นระบบทางกฎหมายที่มีมานาน ประกอบกับมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวของในการร่างกฎหมายดังกล่าว คงต้องมีมาตรการเพิ่มความเข้มข้นกลั่นกรองบุคคลเหล่านี้มากขึ้น...”
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 370,000 คน เกิดขีดจำกัดทั้งๆ ที่สามารถรับนักโทษได้แค่ 200,000 คนเท่านั้น เป็นเหตุให้ต้องรีบระบายนักโทษออก โดยการพิจารณาผู้ต้องขังที่จะได้รับอิสรภาพมีอยู่ 3 ประเภท 1.พ้นโทษตามคำพิพากษาของศาล ภาษาราชทัณฑ์ คือ ปล่อยตามป้าย คือได้รับโทษมาจนครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลจะได้รับการปล่อยตัวไป
2.การพักการลงโทษ มี 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ พักการลงโทษแบบปกติ ได้รับจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 เหลือโทษอีก 1 ใน 3 แต่การพักโทษจะมีเงื่อนไข ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติ เดือนละ 1 ครั้ง จนครบกำหนดโทษที่เหลือ อีกลักษณะ คือ พักโทษกรณีพิเศษ รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดยคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานพิจารณา ผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ ต้องเป็นผู้เจ็บป่วยร้ายแรง เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่มีอาการป่วยขั้นสุดท้าย และผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ขึ้นไป ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้กลับไปรักษาตัวอยู่กับครอบครัว ตามหลักมนุษยธรรม
3. ลดโทษ แบ่งผู้ต้องขังเป็น 6 ชั้น 1.ชั้นเลวมาก หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก 2. ชั้นเลว หรือชั้นต้องปรับปรุง 3. ชั้นกลาง 4. ชั้นดี 5. ชั้นดีมาก และ 6. ชั้นเยี่ยม โดยผู้ต้องขังเข้าใหม่จะอยู่ที่ชั้นกลาง หากประพฤติตัวดีเลื่อนเป็น ชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ต้องขังให้อยู่ในระเบียบวินัย และยอมอบรมและพัฒนาตัวเองระหว่างอยู่ในเรือนจำ ในทางตรงข้ามหากผู้ต้องขังประพฤติตัวไม่ดีจะลดไปชั้นเลวและเลวมากตามลำดับ จะมีผลต่อการบริหารโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดนำสู่บทเรียนครั้งสำคัญ กรมราชทัณฑ์ ได้ตั้งกรรมการในการพิจารณากลั่นกรอง พิจารณาตรวจสอบกรณีนายสมคิด พุ่มพวง จะมีการแก้ปัญหาอย่างไรในการร่างกฎหมาย รวมทั้งการพิจารณาลดโทษผู้ต้องขังที่ก่อเหตุซ้ำซ้อนซ้ำซากในข้อหารุนแรง อุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ให้ได้รับการพักโทษ หรือลดโทษออกมานอกเรือนจำก่อนเวลาอันควร
ในประเด็นนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการกำชับว่าให้กรมราชทัณฑ์ให้ทบทวนกระบวนการพิจารณาปล่อยตัวนักโทษในคดีร้ายแรง ต้องพิจารณาให้รอบด้านและรอบคอบมากยิ่งขึ้น
ส่วนข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้ความว่า สาเหตุก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องเป็นผลมาจากความปกติทางจิต กรฆ่าคนเสมือนเป็นการตอกย้ำความสะใจ เป็นวิธีที่ตอบสนองทางจิตใจของฆาตกร ผู้ก่อเหตุจะฆ่าคนกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ เป้าหมายจึงจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ถ้าเป็นผู้หญิงแก่จะเป็นผู้หญิงแก่ต่อกัน หรือเป็นผู้หญิงสาวก็จะเป็นสาวต่อกันหมด
หากวิเคราะห์ถึงจิตใจฆาตกรต่อเนื่อง มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงซ้ำ โดยไม่รู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดี เข้าข่าย “ไซโคพาธ (Psychopaths)” โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ลักษณะขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว ฯลฯ
“ไซโคพาธ ...ส่วนหนึ่งจะมีลักษณะมีความชินชา อารมณ์ที่กระด้างชา ไม่ค่อยรู้สึกอารมณ์ร่วมตัดสินใจ ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ค่อยอยากช่วยเหลือสังคม ไม่ใส่ใจสังคม มีการเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการกระทำหลายอย่าง ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านลบกับสังคมได้”
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวพร้อมอธิบายถึงสาเหตุว่าเกิดจากปัจจัยหลายด้าน เช่น ความผิดปกติของสมอง อาจมีปัญหาด้านจิตใจและสังคม, ถูกกระทำทารุณกรรมในวัยเด็ก, ถูกเลี้ยงดูแบบละเลย, ครอบครัวแตกแยก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้มีบุคลิกไซโคพาธสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวเลขทั่วโลกออยู่ประมาณ 0.5 -1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของบุคลิกไซโคพาธ ที่ไม่ได้รับการดูแลจะพัฒนาเป็นเป็นอาชญากรอย่างการเป็นฆาตกร ซึ่งเป็นผลกระทบจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก
“ส่วนมากทั้งหมดเริ่มจากครอบครัว ก็จะมีบางส่วนที่มีหลายๆ ปัจจัย คืออาจจะเป็นปัจจัยทางสมองเอง ที่มีสองส่วนหน้า และสมองส่วนหลังที่ผิดปกติ ทำให้เขาเกิดไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ความขาดกลัว ไม่มีความกลัวเกรงต่อสิ่งต่างๆ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนมากแล้วถ้าเกิดอยู่ในครอบครัวที่มักจะไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่จะคอยปรับพฤติกรรมให้คนๆ หนึ่งที่มีปัญหาอยู่เดิม สามารถใช้ชีวิตและไม่เกิดปัญหากับสังคม” ดร.นพ.วรตม์ อธิบาย
กรณีนักโทษคดีอุกฉกรรจ์จิตใจโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ เฉกเช่น “นายสมคิด พุ่มพวง” พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถใช้เกณฑ์การลดโทษแบบเดียวกับนักโทษทั่วๆ ไป
อย่างไรก็ดี เชื่อเหลือเกินว่า คดีของ “คิด เดอะริปเปอร์” ในครั้งนี้ คงไม่ทำให้เขาได้รับการลดโทษและออกมาก่ออาชญากรรมได้อีก เพราะบทเรียนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอดีตอย่างแน่นอน