ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีการ “ปรับขึ้นภาษีผ้าอนามัย” อันเป็นสืบเนื่องจากกรณี “น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง” โฆษกพรรคเพื่อชาติ เปิดประเด็นร้อนส่งผลเชิงลบต่อรัฐบาลทำนองว่า “รัฐเตรียมจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีฟุ่มเฟือย สูงสุด 40 %” จบลงไปแบบ “พูดไม่ออก บอกไม่ถูก” เพราะที่แท้เป็นเพียงแค่ “เฟกนิวส์! (Fake News)”
ขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้พวก “ชังรัฐบาล” หน้าแหกชนิดหมอไม่รับเย็บเช่นกัน เพราะกระโจนเข้าใส่กันแบบไม่ยั้งด้วยอคติส่วนตัว จนลืมที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์เสียก่อน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่า ทีมงานรัฐบาลยัง “เชื่องช้า” ในการแก้ไขสถานการณ์ เพราะปล่อยให้ “ถูกด่า” ครึ่งค่อนวัน โดยเฉพาะตัว “ลุงตู่” ที่ถูกปู้ยี่ปู้ยำเละเทะก่อนที่จะออกมาชี้แจงแถลงไขว่า “ไม่จริง”
ปรากฏการณ์ข่าวปลอม หรือ เฟกนิวส์ กรณีขึ้นภาษีผ้าอนามัย เรียกว่าสร้างความสับสนอลหม่านแก่ประชาชน จนเกิดกระแสวิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือด หลังจากมีข้อมูลจากโฆษกสาวพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยตอนหนึ่งความว่า
“....รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มองประชาชนเท่าเทียมไม่กดขี่ทางเพศ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของทุกเพศ ผ้าอนามัยคือสินค้าจำเป็นกับการดำเนินชีวิตสตรี รัฐบาลควรจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษี หรือแจกฟรีในสถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่ใช่มาจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ถึง 40% โดยไม่ควบคุมราคา....”
ในเวลาต่อมา กรมสรรพสามิต และ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต่างออกมายืนยันตรงกันว่า กระแสข่าวการพิจารณาเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราสูงสุด 40% เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่เป็นความจริง และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ว่าด้วยการประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 ระบุในข้อ 3 ให้ ผ้าอนามัย อยู่ในกลุ่มสินค้าและบริการควบคุม หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า “เป็นข่าวปลอม...ไม่เป็นความจริง” รัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดจัดเก็บภาษีเพิ่ม ที่สำคัญ รัฐบาลเตรียมฟ้องร้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้นำข้อมูลที่เป็นเท็จเผยแพร่สู่สาธารณะ
ต้องยอมรับว่า “ข่าวปลอมขึ้นภาษีผ้าอนามัย” สร้างความเสียหายแก่รัฐบาลตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ #ภาษีผ้าอนามัย ติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ และดูเหมือนงานนี้รัฐไม่อาจเพิกเฉยปล่อยไปได้ ถึงขั้นเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นเยี่ยงอย่าง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงปรากฏการณ์เฟกนิวส์ที่เกิดขึ้นว่า ได้สั่งให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องฐานนำเข้าข่าวอันเป็นเท็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบต้นทางของข่าว หากพบว่ามีเจตนาในการสร้างข่าวเท็จ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือบุคคลใด ก็จะต้องดำเนินคดีและขอศาลออกหมายจับตามกฎหมายทันที
สำหรับข้อเท็จจริงว่าด้วยเรื่องภาษีผ้าอนามัยไทย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย ไม่เคยมีอยู่ในพิกัดภาษี ปัจจุบันผ้าอนามัยเสียแค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น ไม่ได้มีการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ มีเพดานการจัดเก็บภาษี 40% ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ทั้งนี้ สินค้าผ้าอนามัย ไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น เป็นสินค้าที่สุภาพสตรีจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย
“ผ้าอนามัยไม่เป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพราะไม่ถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ปัจจุบันถูกเรียกเก็บเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ vat เท่านั้น ตามหลักการภาษีสรรพสามิตจะเรียกเก็บเฉพาะสินค้าหรือบริการที่บริโภคแล้วส่งผลต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี และสินค้าฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐใช้ในการจำกัดการบริโภคสินค้าหรือบริการบางประเภทเท่านั้น ซึ่งผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าจำเป็นจึงไม่เข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือย” นายวิวัฒน์ เขาสกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ให้คำอธิบาย
ขณะที่ข้อเท็จจริงจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่ปี 2551 ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งตามประกาศในราชกิจจานุเษกษา และยังระบุด้วยว่า สินค้าในกลุ่มผ้าอนามัย ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง ผู้นำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องมีการแจ้งชื่อสินค้า ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการนำเข้าในราชอาณาจักร ต้นทุนการจำหน่าย ค่าใช้จ่าย ราคาจำหน่าย ราคาซื้อ และรายละเอียดต่างๆ โดยผู้ผลิตต้องให้แจ้งภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันประกาศมีผลบังคับใช้
“สำหรับสินค้าที่ได้รับการพิจารณาเป็นสินค้าควบคุม จะต้องเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน รวมถึง มีราคาและปริมาณที่เคลื่อนไหวง่ายกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ในท้องตลาด” นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย
นอกจากนี้ นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ให้ข้อมูลว่าหากเทียบภาษีสินค้าผ้าอนามัยกับสินค้าอื่นที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ถือว่าผ้าอนามัยถูกจัดเก็บในอัตราต่ำกว่าอยู่แล้ว เพราะปกติสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าถูกจัดเก็บอย่างน้อยในอัตรา 20% ขณะที่ผ้าอนามัยแค่ 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผ้าอนามัย เป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่ติดตามดูแล (Watch List - WL) จำนวน 205 รายการ ประจำเดือน ธ.ค. 2562 โดยจะมีการติดตามภาวะราคาและสถานการณ์สินค้าและบริการ เป็นประจำทุก 15 วัน รวมทั้ง ตรวจสอบและกำกับดูแลมิให้มีการ เอาเปรียบผู้บริโภค
กล่าวสำหรับ ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน แบ่งเป็นเพศหญิงประมาณ 33.8 ล้านคน ช่วงอายุที่มีประจำเดือน (อายุ 13 - 55 ปี) ประมาณ 20.7 ล้านคน
มูลค่าตลาดผ้าอนามัยไทย อยู่ที่ประมาณ 5,300 ล้านบาท โดยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าสินค้าทั่วไป อัตรา 7% ในส่วนการเติบโตของตลาดปีละ 3 - 5 % ต่อปี ตัวเลขยอดจำหน่ายสูงถึง 140 ล้านชิ้นต่อเดือน คิดเฉลี่ย 1 ปี มียอดขายผ้าอนามัย 1,680 ล้านชิ้น เท่ากับว่าผู้หญิงไทย 1 คนจะใช้ปีละ 81 ชิ้นต่อปี หรือ 6 - 7 แผ่นต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ change.org มีแคมเปญรณรงค์ที่ชื่อว่า “ต้องมีมาตรการควบคุมสินค้าประเภทผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ #ของมันต้องมี” น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้สร้างแคมเปญฯ และที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี มองว่าผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตผู้หญิง ซึ่งยังมีราคาแพงทำให้บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงสร้างแคมเปญเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันเพื่อออกมาตรการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการแจก การกำหนดราคากลาง ราคาแนะนำ การลดหรือการยกเลิกเก็บภาษีสำหรับสินค้าประเภทนี้ อย่างที่หลายๆ ประเทศได้ทำแล้ว เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เช่น รัฐบาลอังกฤษ ประกาศลดภาษีผ้าอนามัย พร้อมบริจาคเงินภาษี 15 ล้านปอนด์ให้องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้หญิงทุกปี, รัฐบาลสก็อตแลนด์ ทุ่มเงินกว่า 4 ล้านยูโร แจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้, รัฐบาลอินเดียยกเลิกภาษีผ้าอนามัย 100% เพราะเห็นว่าการมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในเหตุผลแรกๆ ที่เด็กหญิงจำนวนมากต้องทิ้งการเรียน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ในเวลาจำเป็น บางส่วนใช้เศษผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือ รัฐบาลออสเตรเลีย และแคนาดา ประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ตามเสียงเรียกร้องของหลายหมื่นคนบน Change.org