xs
xsm
sm
md
lg

เมืองผู้ดีไม่มี ‘คนดี’ ให้เลือก

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์



คนเมืองผู้ดีจะไปเลือกตั้งผู้นำรัฐบาลอีกรอบแล้ว เป็นครั้งที่ 3 ในระยะเวลา 4 ปี เป็นเพราะปัญหาเรื่อง “เบร็กซิต” ยังไม่ลงตัว ที่ผ่านมาพรรคอนุรักษนิยมพยายามดันให้ผ่านสภา แต่ก็ไปไม่รอด ทางเลือกก็คือให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเอาใครมานำรัฐบาล

พรรคหลักทั้ง 2 คือ พรรคอนุรักษนิยมนำโดยนายบอริส จอห์นสัน และพรรคแรงงานนำโดยเจเรมี คอร์บิน ต่างเป็นคู่แค้นมาหลายยุค ฟัดกันในสภา ปะทะคารมหลายรอบ และการเมืองของเมืองผู้ดีก็ไม่ได้เป็นผู้ดีเต็มร้อย เสียงเจี๊ยวจ๊าวดังลั่นสภา

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองรัฐสภาเมืองผู้ดี ทำเอาประธานสภาต้องใช้ค้อนทุบหลายรอบ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ แต่ไม่ถึงขั้นปะทะกันด้วยกำลัง

ผู้ดีมีวาทะเชือดเฉือนเผ็ดร้อน ตามสไตล์ซึ่งหาประเทศอื่นๆ ทาบได้ยาก

เมื่อมี 2 พรรคหลัก และ 2 ผู้นำให้เห็น ก็เป็นปัญหาสำหรับคนเมืองผู้ดีมีสิทธิกาเบอร์ เพราะ “ไม่รู้จะเลือกใครดี” เหมือนหนีเสือปะจระเข้ในการเมืองกำลังด้อยพัฒนาเหมือนบ้านเราบางยุค เป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่อสำหรับคนอังกฤษเมื่อมีตัวเลือกน้อย

พรรคย่อยอื่นๆ ก็ไม่ใช่ทางเลือก ที่ผ่านมาเป็นเพียงพรรคคอยผสมโรง ถ้าไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก็จะต้องพึ่งพาพรรคย่อยเหล่านี้ ซึ่งก็มีอำนาจต่อรองไม่น้อย ทั้งเรื่องอุดมการณ์ แนวความคิดการเมือง ว่าจะประสานกันได้ลงตัวยาวนานหรือไม่

นายนิคโบลล์ อดีต ส.ส.รัฐสภา เปรียบเทียบไว้ ระหว่าง 2 ผู้นำว่า “จะเอานักโกหกพกลม หรือจะเอาคนแนวคิดรวบอำนาจ” ฝ่ายแรกคือนายบอริส จอห์นสัน และฝ่ายหลังคือเจเรมี คอร์บิน เป็นตัวเลือกที่คนอังกฤษกลืนไม่เข้า คายไม่ออก

ไม่ต่างจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2016 ซึ่งมีตัวเลือกคือ โดนัลด์ ทรัมป์ และนางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งทั้งคู่มีข้อตำหนิ มีปมปัญหาทั้งประวัติการทำงานและความน่าเชื่อถือ ในที่สุดคนอเมริกันก็เลือกทรัมป์ และกำลังเผชิญวิกฤตผู้นำอย่างแรงขณะนี้

และตัวเลือกสำหรับสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งปีหน้า ก็ซ้ำรอยเดิม อยู่ที่ว่าทรัมป์จะโดนสกัดกั้นเพราะกระบวนการถอดถอนผู้นำ อย่างที่สภาคองเกรสเดินหน้าขณะนี้หรือไม่ รวมความแล้วทั้งคนอเมริกันและอังกฤษ ต่างเบื่อหน่ายกับคุณภาพผู้นำการเมืองสุดๆ

นางแมรี่ โรเบิร์ต ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคแรงงานในเขตเวลส์ตอนเหนือ บอกว่าประชาชนมีปัญหาต้องเลือกบางครั้ง เมื่อผู้สมัครมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ คุณสมบัติ และขณะนี้กำลังเบื่ออย่างแรงก็เรื่อง “เบร็กซิต” อยากให้จบเร็วๆ อย่ายืดเยื้อต่อ

“จะเอาอย่างไรก็เอาสักอย่าง เพราะยื้อมานานกว่า 3 ปีแล้ว” นี่เป็นความรู้สึกของประชาชนที่เห็นการต่อรอง เล่นเกมในสภาแต่ประเทศเสียหายเพราะแผน “เบร็กซิต”

การเลือกตั้งก่อนวาระคริสต์มาสจะเป็นครั้งแรกสำหรับจอห์นสันในการวัดความนิยมของตนเองกับประชาชนอังกฤษ ที่ผ่านมาได้โอกาสเหมาะเมื่อนางเทเรซา เมย์ประกาศลาออกหลังจากเผชิญกับแรงกดดันและแผนใต้ดิน ทำให้เธอหมดสภาพผู้นำ

และจอห์นสันก็ถูกมองว่าเป็นตัวแสบที่ทำให้ ทั้งเดวิด คาเมรอน และเมย์ต้องออกจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง และตัวเองก็มารับช่วงต่อเรื่อง “เบร็กซิต” และตัวเองก็ประกาศให้มีการเลือกตั้ง เพราะถูกมองว่าไปต่อไม่ได้แล้ว ต้องวัดดวงรอบสำคัญ

ที่ผ่านมา การรณรงค์หาเสียงของจอห์นสันก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาความน่าเชื่อถืออย่างแรงในมุมมองของคนอังกฤษ โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาว่าจะปิดเกม “เบร็กซิต” ให้ได้ในเดือนมกราคม และเจรจาข้อตกลงต่างๆ ด้านการค้าได้ด้วย

ที่ผ่านมา คนอังกฤษได้เห็นแล้วว่าจอห์นสันล้มเหลว ปฏิบัติตามคำสัญญาไม่ได้ รวมทั้งมีประเด็นบิดเบือนในกรณีสวัสดิการด้านสุขภาพ เรื่องเบร็กซิต และปัญหาไอร์แลนด์เหนือ รวมทั้งเรื่องส่วนตัว เช่นจอห์นสันมีบุตรกี่คนกันแน่

คราวก่อนมีปัญหาเรื่องการลงไม้ลงมือกับแฟนในอพาร์ตเมนต์ เพื่อนบ้านต้องเรียกตำรวจมาจัดการ แต่ไม่มีคำชี้แจง ตอนนี้เรื่องเงียบไปเพราะทั้งคู่ได้ย้ายเข้าไปในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเป็นบ้านประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแล้ว

เรื่อง “มีลูกกี่คน” ยังเป็นประเด็นที่สื่อในสหรัฐฯ ให้ความสนใจอีกด้วย!

ประเด็นสำคัญในความคิดและมุมมองของคนอังกฤษที่มีต่อจอห์นสันก็คือ “ความน่าไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ” และหลายครั้งในประวัติการทำงานของจอห์นสันในช่วงเป็นนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ จะเป็นจุดน่าสงสัยเสมอ แม้แต่ในวงการเพื่อนร่วมงาน

ในกลุ่มเพื่อนสนิท จอห์นสันยังถูกมองว่า “ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจได้”

ที่ผ่านมา จอห์นสันไม่ยอมให้สื่อบีบีซีสัมภาษณ์ ไม่ยอมถกเรื่องภาวะโลกร้อน บางครั้งยังพยายามหลบเลี่ยงวาระสำคัญที่คนอังกฤษให้ความสนใจ แม้แต่นายไนเจล ฟาราจ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเบร็กซิต ก็ยังไม่ยอมไว้หน้าเมื่อพูดถึงจอห์นสัน

“ผมรู้จักจอห์นสันมานานถึง 25 ปี เป็นคนน่าคบ มีบุคลิกดูสนุกสนาน แต่ถ้าจะถามว่าไว้ใจได้เต็มที่หรือไม่ ต้องบอกว่า “ไม่” แน่นอน” นั่นเป็นคำสรุปของฟาราจ

ช่วงสุดท้ายของการหาเสียง มีภาพที่ถูกนำแสดงโดยสื่อคือภาพของเด็กวัย 4 ขวบถูกนำตัวส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลลีดส์ เพราะเด็กถูกให้นอนบนกองผ้าแทนบนเตียง สะท้อนให้เห็นว่ายุคพรรคอนุรักษนิยมนั้นสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลไม่ได้เรื่อง

แสดงให้เห็นอีกว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือไม่ได้รับการจัดสรร ภาพนั้นทำให้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเป็นเดือดเป็นแค้น เพราะสื่อต่างกระพือปัญหา มีผลกระทบต่อความนิยมต่อพรรคเป็นอย่างมาก จอห์นสันไม่ยอมมองภาพเมื่อโดนผู้สื่อข่าวไล่ซักหนัก

บอกเพียงสั้นๆ ว่า “เอาไว้ดูภายหลัง” และเอาหนังสือพิมพ์พับใส่กระเป๋า นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี ผู้นำประเทศ ไม่พร้อมเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบ และยังไม่กล้าแสดงให้เห็นถึงอารมณ์เวทนาสงสารต่อผู้ประสบเคราะห์ร้าย

ถึงอย่างไร คนเมืองผู้ดีก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาใครที่ดูเสียน้อยที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น