"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เพียงไม่กี่วันหลังจากหมดสถานภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ทั้งหมดในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งตำแหน่งอนุกรรมการอื่น ๆ ของสภาด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนไม่ต้องการให้เขาอยู่ในสภา จึงต้องลาออกมาอยู่กับประชาชน ส่วนกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นใครบ้าง นายธนาธรไม่ได้ระบุชัดเจน เพียงกล่าวว่า “เป็นคนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร”
ประโยคที่ว่า “เป็นคนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร” หรือ “คนที่มิอาจเอ่ยนาม” นั้น เป็นประโยคที่มาจากนิยายยอดนิยมเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนชาวอังกฤษ เป็นประโยคที่ชาวโลกแห่งเวทมนต์ใช้เมื่อเอ่ยถึง ลอร์ดโวลเดอร์มอร์ หรือ “ปีกแห่งความตาย” จอมมารตัวร้ายสุดในเรื่อง ซึ่งมีเวทมนต์ทรงอิทธิฤทธิ์เหนือผู้อื่นทั้งปวง พร้อมประทานความตายแก่ผู้ใดก็ได้ตามความปรารถนาทุกเมื่อ ความชั่วร้ายและการมีอำนาจของลอร์ดโวลเดอร์มอร์ได้สร้างความหวาดกลัวแก่ทุกคนในโลกแห่งเวทมนต์จนไม่มีผู้ใดกล้าแม้เพียงกระทั่งการกล่าวนามจอมมารผู้นี้โดยตรง เพราะทันทีที่เปล่งเสียงออกนามของจอมมารผู้นี้ออกมา ความตายก็มาเยือนผู้นั้นได้ในไม่ช้า
ทว่า ในสังคมไทยมีกลุ่มบุคคลที่น่ากลัวและชั่วร้ายประดุจลอร์โวลเดอร์มอร์ จนกระทั่งคนไทยไม่กล้าเอ่ยนามออกมาโดยตรงดำรงอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงจินตนาการของนายธนาธร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาไตร่ตรองกันเองครับ
แต่ที่แน่ ๆ คือนายธนาธรไม่กลัวกระทรวงกลาโหมและกองทัพแม้แต่น้อย เพราะทันทีที่ลาออกมาก็ได้เปิดฉากวิพากษ์กระทรวงกลาโหมหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องการมีเงินนอกงบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากเท่ากับงบประมาณของกระทรวงเล็ก ๆ สามกระทรวงรวมกัน และเป็นเงินที่กลาโหมสามารถใช้เองได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด และมีระเบียบเปิดช่องการใช้เงินแบบพิเศษที่แตกต่างจากการใช้เงินนอกงบประมาณของกระทรวงอื่น ๆ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของกระทรวงการคลัง
ในส่วนกองทัพบกนายธนาธร ก็ได้วิจารณ์เกี่ยวกับความโปร่งใสของการทำกิจกรรมบางอย่างของกองทัพ ที่มิใช่ภารกิจหลัก เช่น การดำเนินการสถานีโทรทัศน์และวิทยุหลายแห่ง สนามมวย สนามม้า เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นนายธนาธรยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาของรายได้ของบรรดาเหล่านายพลที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งนายธนาธรคำนวณจากนายพลประมาณ 80 คน และแถลงว่าทรัพย์สินเฉลี่ยของบรรดานายพลเหล่านั้นอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาทต่อคน
หากข้าราชการผู้หนึ่งประหยัดอดออมอย่างถึงที่สุด และสะสมจากเงินเดือนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับตามปกติจากหน่วยงานตั้งแต่เริ่มรับราชการจนเกษียณอายุ ก็ยากที่จะมีทรัพย์สินถึงระดับนี้ได้ ยกเว้นได้รับมรดกจากครอบครัว หรือ มีภรรยาฐานะดี ประกอบธุรกิจและทำงานพิเศษระหว่างรับราชการ หรือได้จากแหล่งที่ไม่อาจเปิดเผย ด้วยความมั่งคั่งที่อยู่เหนือมาตรฐานของข้าราชการทั่วไป นายธนาธร จึงตั้งคำถามว่า “ทรัพย์สินมากมายของเหล่านายพล กับเงินนอกงบประมาณมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่” ส่วนใครจะเป็นผู้ตอบ หรือกองทัพจะออกมาชี้แจงให้สังคมเกิดความกระจ่างต่อไปหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูกันในอนาคต
แต่ที่น่าสังเกตคือ นายธนาธรวิพากษ์กระทรวงกลาโหมและกองทัพในฐานะที่เป็นระบบองค์กร และกล่าวถึงกลุ่มนายพล โดยมิได้วิจารณ์หรือแม้กระทั่งเอ่ยชื่อตัวบุคคลใด ๆ ในกองทัพ แต่หากมองย้อนหลังไป เมื่อไม่นานมานี้เคยมีเหตุการณ์ที่ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บรรยายในที่สาธารณะและตั้งคำถามว่า “สังคมจะเชื่อนักธุรกิจ ที่ชีวิตเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง ชีวิตไม่เคยลำบากเหมือนฮ่องเต้ซินโดรมหรือ” รวมทั้งเคยกล่าวในทำนองที่ว่า ผู้ที่ไปเรียนเมืองนอกมา อย่าไปเอาความซ้ายจัดที่ไปเรียนมา แล้วมาดัดจริต ประโยคที่ผบ.ทบ. กล่าว แม้ว่าไม่ได้เอ่ยชื่อใคร แต่สังคมก็ตีความว่าน่าจะหมายถึงนายธนาธร สำหรับคำว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม” และ “ซ้ายจัด ดัดจริต” น่าจะหมายถึง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น หากอนุมานจากเหตุการณ์ในอดีตที่ ผบ.ทบ.กล่าวเชื่อมโยงกับสิ่งที่นายธนาธรพูดเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า “กลุ่มอภิสิทธิ์ชนไม่อยากให้ผมอยู่ในสภา” และ “คนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร” ก็น่าจะตีความได้ว่า ผบ.ทบ. อาจเป็นหนึ่งในกลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็ได้
การเผชิญหน้าระหว่างนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ กับ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ และกระทรวงกลาโหม เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยหลักฐานหลายอย่างที่เราท่านทั้งหลายได้เห็นในที่สาธารณะ จากการวิวาทะตอบโต้กันไปมาแบบอ้อม ๆ โดยไม่เอ่ยนามของบุคคลที่ตนเองวิพากษ์วิจารณ์แต่ใช้ภาษาเชิงสัญลักษณ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และยังมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมขององค์กรที่สองฝ่ายสังกัดด้วยในหลายโอกาส
นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายต่างกระโจนเข้ามาร่วมวงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ด้วยชุดของถ้อยคำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอีกหลายวลีด้วยกัน ฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มักใช้ถ้อยคำประเภท ระบอบเผด็จการ อภิสิทธิ์ชน สืบทอดอำนาจ เป็นต้น ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลและกองทัพใช้ถ้อยคำประเภท ชังชาติ ฮ่องเต้ซินโดรม ซ้ายจัดดัดจริต เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ปฏิกษัตริย์นิยม เป็นต้น
อันที่จริงการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย เริ่มปรากฎตัวชัด ในสนามการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยอาศัยช่องทางการรณรงค์หาเสียงตามท้องถนนและชุมชน สื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ครั้นเมื่อเทศกาลเลือกตั้งจบลง การรณรงค์ใน “พื้นที่ท้องถนน” ก็ลดลง การต่อสู้ทางการเมืองเคลื่อนย้ายไปสู่ “พื้นที่ห้องประชุม” แทน พื้นที่ต่อสู้หลักคือห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ส่วนพื้นที่การต่อสู้นอกรัฐสภาก็กระทำกันในห้องประชุมขององค์กรต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา องค์กรสังคม โรงแรม เป็นต้น ขณะที่พื้นที่สื่อออนไลน์ และสื่อมวลชนดั้งเดิมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ก็ยังคงเป็นเวทีการต่อสู้ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง แต่การต่อสู้ในพื้นที่ท้องถนนและชุมชนได้ลดความเข้มข้นลง
แต่การประกาศตัวทำงานนอกสภาของนายธนาธร เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งในการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการต่อสู้ในพื้นที่ท้องถนนและชุมชน กิจกรรมการจัดเวทีสาธารณะในรูปแบบการบรรยาย การเสวนา การเดินสายรณรงค์พบปะประชาชนตามท้องถนนในพื้นที่ต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมกึ่งการชุมนุมที่อิงกับกีฬาประเภท “วิ่งไล่ลุง” ก็จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น แต่การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ การทำงานการเมืองของฝ่ายอนาคตใหม่น่าจะเป็นการเตรียมความคิดและความพร้อมของประชาชนเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าในวันข้างหน้า
ในขณะเดียวกันกลุ่มรัฐบาลและผู้ที่มองว่านายธนาธรเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ก็ใช้กฎหมายและะองค์กรรัฐเป็นกลไกเพื่อบั่นทอนกำลังและสกัดกั้นบทบาทในสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การทำให้นายธนาธร สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. จากนั้นก็อาจต่อด้วยการฟ้องคดีอาญา และการยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งยังใช้กลไกรัฐ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายของตนเองดำเนินการต่อสู้ทางความคิด วิพากษ์ และบั่นทอนความชอบธรรม รวมทั้งปลูกฝังความคิดในอีกแบบหนึ่งแก่ประชาชน ผ่านช่องทางและกิจกรรมนานาชนิด เพื่อเตรียมการรับมือกับอีกฝ่าย และหากพื้นที่ยุทธศาสตร์การต่อสู้เคลื่อนตัวไปสู่ท้องถนน การตอบโต้ก็มักระทำอย่างทันควัน เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อีกฝ่ายก็จัดกิจกรรม “วิ่งตามลุง” ขึ้นมา
การต่อสู้ทางการเมืองนั้นสามารถกระทำได้ หากแต่ละฝ่ายทำกันตามกติกาและเป็นไปโดยสันติวิธี ไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่ใช้กลไกกฎหมายล่นงานอีกฝ่ายอย่างจงใจ ไม่ชุมนุมด้วยความรุนแรง และไม่ก่อการรัฐประหาร แต่หากเมื่อไรก็ตามที่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำโดยไม่คำนึงวิธีการ ไม่คำนึงถึงความชอบธรรม และใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง สังคมไทยก็จะมุ่งสู่ความรุนแรงอีกครั้ง และคราวนี้ผมคิดว่า หากเกิดความรุนแรงก็จะทำให้สังคมแตกร้าวหนักยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดได้รับชัยชนะ เลี่ยงไม่พ้นคำว่า เป็นชัยชนะบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของประชาชนนั่นเอง
สังคมไทยผ่านสถานการณ์รุนแรงมาหลายครั้ง ร่องรอยความบอบช้ำยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นฝ่ายที่ตั้งท่าจะห้ำหั่นกัน ทั้งกลุ่มอภิสิทธิ์ชน และกลุ่มต่อต้านอภิสิทธิ์ชน น่าทบทวนความคิด ลดความเกลียดชังต่อกันลงเสียบ้าง ควรสรุปบทเรียนอย่างจริงจังและร่วมสนทนาทำความตกลงเพื่อหาแนวทางดำเนินการบริหารบ้านเมืองในทางที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มีความยุติธรรมต่อคนทั้งปวง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์ และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นมาอีก เพียงเท่านี้สังคมไทยก็จะน่าอยู่ขึ้นอีกมากทีเดียว และพึงตระหนักว่า ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ในโลกนี้ไม่นานก็สลายเป็นผงธุลีด้วยกันทั้งสิ้น