ผู้จัดการุสดสัปดาห์ - “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”...
ยังคงเป็นคำพูดที่เป็นอมตะและไม่มีวันตายจริงๆ เพราะฉะนั้น จงอย่าแปลกใจกับการที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ซึ่งมี “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งเป็นประธานมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เลื่อนการแบน “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน “ไกลโฟเซต” พลิกเป็นให้จำกัดการใช้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 หรือสรุปง่ายๆ คือเลิกแบนไกลโฟเซต “เรียบร้อยโรงเรียนสหรัฐอเมริกา”
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพียงแค่ 36 วัน “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” เพิ่งมติไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาให้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในครอบครองในประเทศไทย และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
ประเด็นที่น่าฉงนก็คือ ทำไมสถานการณ์ถึงได้แปรเปลี่ยนกลับกลายจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” เยี่ยงนี้
อเมริกันอันธพาลกดดันหนัก-ล็อบบี้วุ่น
จะว่าไป ดูๆ แล้วเรื่องนี้ดูเหมือนจะออกไปในทาง “ทฤษฎีสมคบคิด” พอสมควร เพราะในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม กระแสสังคมเห็นด้วยกับการแบนอย่างเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงไม่มีทางเลือกที่จะออกไปในแนวทางอื่น เพราะถ้าออกไปในทิศทางตรงกันข้าม จะไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ว่า ทำไมถึงไม่แบน
และการแบนในครั้งนั้น “อาจ” เป็นเพียงการสร้างคะแนนนิยมในทางการเมือง เพราะเป็นที่รับรู้ว่า “มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมิใช่กฎหมาย” สามารถเปลี่ยนแปลงไปทุกเมื่อ และในการประชุมครั้งต่อไปก็สามารถ “กลับมติ” ได้ตลอดเวลา กระทั่งสังคมงุนงงว่า พวกเขา “เล่นเกม” อะไรกันอยู่
อย่างไรก็ดี ถามว่า “จุดเริ่มต้นที่ทรงอิทธิพล” และมีผลต่อการกล้าฝืนกระแสสังคมมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็คงต้องตอบว่า เกิดขึ้นหลังจากที่ “นายเท็ด เอ.แมคคินนีย์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา(USDA) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลและขอให้เลื่อนการแบนออกไป โดยพุ่งเป้าไปที่ “ไกลโฟเซต”ซึ่งเป็นสินค้าของสหรัฐอเมริกาและเกษตรกรอเมริกันใช้กันเกลื่อนประเทศเป็นหลัก
จากนั้นตามต่อด้วยการที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงดาบสั่งสอนด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ GSP รวม 573 รายการ มูลค่าร่วม 40,000 ล้านบาท ซึ่งโลกมองว่า เป็นเรื่องเดียวกัน มิใช่มาจาก “กฎหมายแรงงาน” อย่างที่รัฐบาลพญาอินทรีกล่าวอ้าง
เพราะดูเหมือนว่า หลังจากนั้น “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล” ก็จะมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
รายงานของเอเอฟพีระบุว่า กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯได้เขียนหนังสือหลายฉบับส่งถึงไทย ร้องขอให้เลื่อนการแบนสารพิษอันตราย โดยบอกว่ามันอาจกระทบต่อการส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีไปยังประเทศไทย พร้อมทั้งกล่าวหาไทยว่าไม่ยึดหลัฐานทางวิทยาศาสตร์ และดำเนินการขัดกับการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ความจริงต้องบอกว่า เรื่องนี้ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะรัฐบาลมาเลเซียเคยแบนพาราควอตเมื่อปี 2548-2550 แต่หลังจากนั้นถูกบริษัทสารเคมีข้ามชาติผนึกกำลังกับบริษัทผลิตปาล์ม-ยางพารายักษ์ใหญ่ของประเทศล้มการแบนไปนานกว่าสิบปี แต่ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียทวนกระแสค้านทั้งในประเทศและทั่วโลกไม่ไหวต้องประกาศเริ่มต้นแบนในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้
รัฐบาลศรีลังกาประกาศแบนไกลโฟเซตในการปลูกพืชทุกชนิดเมื่อปี 2015 แต่อิทธิพลของบริษัทสารพิษกดดันให้ลดระดับการแบนลง โดยอนุญาตให้มีการใช้ในสองพืชคือยางพารา และชา เมื่อกลางปี 2561
รัฐบาลโอบามาประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสในปี2558 แต่เมื่อทรัมป์เข้ามารับตำแหน่ง เขาส่งสก็อต พรุตต์ (Scott Pruitt) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทดาวเคมีคอลเข้ามาเป็นหัวหน้า EPA เพื่อเลื่อนการแบนสารพิษทำลายสมองเด็กนี้ออกไปโดยไม่มีกำหนด ประชาชนอเมริกันต้องฟ้องศาล สื่อขุดคุ้ยจนพรุตต์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และศาลตัดสินให้ EPA ต้องแบนภายใน 60 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์
และประเทศไทยก็เดินไปในท่วงทำนองเดียวกัน
เปิดตัว “อีแอบ” ฝ่ายหนุนสารเคมี
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า จุดเริ่มถูกส่งผ่านมาจาก “กรมวิชาการเกษตร” ที่มี “นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์” เป็นอธิบดี ได้ชงเรื่องเลื่อนให้ “นายอนันต์ สุวรรณรัตน์” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบ และส่งต่อข้ามหัว “น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำกับดูแล ไปที่ “เสี่ยต่อ-นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทั้ง 2 คนก็ออกอาการ“เห็นด้วย” ออกมาให้เห็น
โดยเฉพาะ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมมาโดยตลอดว่ามีท่าที “ยึกยัก” และไม่สบอารมณ์กับ “นางสาวมนัญญา” ในเรื่องนี้
ทั้งนี้ “นายเฉลิมชัย” เองก็เห็นได้ชัดมาตั้งแต่แรกว่า เขามีจุดยืนเยี่ยงไร เนื่องเพราะพบหลักฐานในหนังสือที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ว่า เขาได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรฯ “ดำเนินการตามมติกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จำกัดการใช้” แทนที่จะเสนอแบน 3 สารพิษ
และบทบาทของ “เสี่ยต่อ” ก็แจ่มชัดยิ่งขึ้น เมื่อคณะทำงานที่เขาแต่งตั้งซึ่งมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ก็รับลูกต่อแบบ “ฟาสแทรกต์” ด้วยการรับข้อมูลจาก “กรมวิชาการเกษตร” ข้ามหัว “รัฐมนตรีมนัญญา” ซึ่งกำกับกรมนี้โดยตรง
ปลัดอนันต์ได้แจกแจงรายละเอียดภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตรสามชนิด เมื่อเย็นวันที่ 22 พ.ย.ว่า กรมวิชาการเกษตรได้รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน ตรงนี้ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า จะใช้วิธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่วันที่ 1 ธ.ค.2562 แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้
“ที่กรมวิชาการเกษตรมารายงานตรงนี้ เพราะในการประชุมครั้งก่อนผมสอบถามว่ายังมีปริมาณ 3 สารเคมีอยู่เท่าใด ตอนนั้นระบุว่ายังคงเหลือ 38,000 ตัน เลยเสนอแนวทางไปให้ปรับวิธีการจัดการ ตอนนั้นผมเสนอให้ย้อนศรกลับไปยังประเทศที่นำเข้ามา จากการหารือการย้อนศรออกไปก็ทำได้ ถ้าเป็นวัตถุอันตรายที่ยังเป็นสารขั้นต้น แต่ถ้านำมาทำเป็นสารขั้นปลายจะส่งออกไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศใช้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในวันนี้กรมวิชาการเกษตรจึงเสนอมาว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับแบนออกไปอีก 6 เดือน”
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบายว่า อย่างไรก็ตาม งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผล กระทบต่อเกษตรกร อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบนในวันที่ 1 ธ.ค. จะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยา ชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามาแต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ แต่ข้อเสนอที่มีมาเบื้องต้นรัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน
นอกจากนั้นสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) แจ้งว่าขณะนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตรเพราะตามระเบียบขององค์การการค้าโลก หากจะมีการแบนสารเคมีใด ประเทศที่ดำเนินการแบนต้องส่งหนังสือแจ้งกับประเทศสมาชิกก่อน 60 วัน เงื่อนเวลาที่จะแบน 1 ธ.ค. ไม่ถึง 60 วัน หลายประเทศบอกว่าไทยทำผิดกติกาสากล นอกจากนี้ทั้ง 5 ประเทศ กังวลว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เป็นต้น มายังประเทศไทยได้ จะต้องนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
“ยอมรับว่า หากแบน 3 สารทันทีในวันที่ 1 ธ.ค.2562 นักวิชาการ เอกชนและเกษตรกรก็ช็อก เพราะเดิมคิดว่าอยู่ระหว่างการจำกัดปริมาณการใช้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยอมรับว่าการประกาศยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 และนำไปสู่การแบนในวันที่ 1 ธ.ค. สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมน้ำมันพืช มาม่า ทุกยี่ห้อทำจากแป้งสาลี จะไม่สามารถนำเข้ามาผลิต หรือแม้แต่นำมาเพื่อจำหน่ายได้” นายอนันต์แจกแจงปัญหาและส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างแน่นอน
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้ากระทรวงเกษตรฯ รู้ว่า แบนแล้วจะมี “ปัญหา” ดังที่กล่าวอ้าง ก็สมควรที่จะออกมาชี้แจงแถลงไขตั้งแต่ต้น มิใช่ปล่อยผ่านไปแล้วค่อยมาบอกทีหลังว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติและสมควรเลื่อนการแบนออกไป
และในวันเดียวกับที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ออกมาให้ข้อมูล “กลุ่มพันธมิตรสารเคมีเกษตร” โดย “6 สมาคม” ประกอบด้วย “สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน” รวมทั้ง สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมนวัตกรรมเกษตรไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ก็พร้อมใจกันออกมาแสดงพลังคัดค้านการแบน
เรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สอดรับกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย จากนั้นการจัดตั้ง “ม็อบเกษตรกรเสื้อดำ” เพื่อร้องเรียนปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นตามมาราวกับนัดหมายกันไว้อย่างไรอย่างนั้น
ความจริงไม่ใช่แค่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เท่านั้น หากแต่ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ที่มี “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นรัฐมนตรีว่าการเอง ซึ่งนั่งเป็น “ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย” ก็ดูเหมือนจะ “กลัดกลุ้ม” ต่อการแบน 3 สารเคมีเกษตรอยู่ ไม่น้อย
ที่สำคัญคือ นายสุริยะให้สัมภาษณ์ “โหมโรง” ถึงเรื่องดังกล่าวเป็นรายแรกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 แล้วว่า จะขอให้มีการทบทวนการแบนไกลโฟเซต หลังจากกฎหมายวัตถุอันตรายมอบอำนาจให้เป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายคนใหม่
จากนั้นนายสุริยะก็ขยายความต่อมาถึงความจำเป็นมาเป็นระลอกๆ โดยอ้างว่า กรมวิชาการเกษตรได้ส่งข้อมูลมาครบแล้วแต่ปัญหาคือ ในส่วนของข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งพบในกลุ่มตัวอย่าง 48,789 รายมีจำนวนถึง 75% ไม่เห็นด้วยให้แบนสาร ขณะที่ 25% เห็นด้วย ดังนั้น เรื่องนี้ต้องให้กรมวิชาการเกษตรผู้จัดทำประชาพิจารณ์มีแผนที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
“ผมคงบอกไม่ได้ว่าที่เราจะแบนสารทัน 1 ธ.ค.นี้หรือไม่ ต้องรอฟังที่ประชุมก่อน เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่ละส่วนจะมีแต่กรมที่เชี่ยวชาญดูแลในแต่ละเรื่องเนื่องจากเป็นที่ทราบกันกันดีว่ามีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้ และหากมติที่ประชุมให้เลื่อนก็ต้องเลื่อนออกไป แต่หากจะแบนตามกำหนดก็ต้องมีมาตรการรองรับ”นายสุริยะกล่าวก่อนใกล้ถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
รัฐมนตรีมนัญญาถึงกับเอ่ยปากให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า ขณะนี้มีความสับสนในเรื่องการแบนสารว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรเนื่องจากกระทรวงเกษตรฯในส่วนหน่วยงานที่ตนดูแล กำลังเดินหน้าชี้แจงแนวปฏิบัติเพื่อให้มีการจัดเก็บสารเคมี ภายหลังวันที่1ธ.ค.เกษตรกรจะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มาให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะมีการทบทวนและในส่วนของกระทรวงเกษตรฯก็มีคณะทำงานฯที่รมว.เกษตรฯตั้งขึ้นโดยปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่าอาจมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือน
เมื่อผลแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็น “เลื่อนแบน” พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือนและยกเลิกการแบน “ไกลโฟเซต” นายสุริยะชี้แจงเหตุผลเอาไว้ ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นชัดว่า ให้ความสำคัญกับ “ไกลโฟเซต” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ
นายสุริยะบอกว่าเหตุที่ไม่แบนไกลโฟเซตและให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้เพราะสารตัวนี้ทั้งหมดในโลก 161 ประเทศยังคงใช้สารนี้ได้มีแบนเพียง 9 ประเทศเท่านั้น และพบว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารสัตว์ถ้าห้ามใช้ตัวนี้จะไม่สามารถนำเอาถั่วเหลือง ข้าวสาลี มาจากสหรัฐ บราซิลและประเทศอื่นๆได้ก็จะกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์อีกด้วย
สวนทางกับ “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร” ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า สารไกลโฟเซตนั้น สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และค่าปรับต่อรัฐเป็นจำนวนเงินมหาศาล
แถมนายสุริยะยังยืนยันว่า มติที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ ซึ่งแย้งกับสิ่งที่ “รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์” นายกสภาเภสัชกรรม และหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งระบุเอาไว้ว่า
“1.ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติ จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น มติเอกฉันท์ เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ต.ค.
“2.ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเซตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่”
และ รศ.ภญจิราพรก็ได้ประกาศลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” แก้ตัวว่า “ไม่ได้คุยเรื่องขยายเวลาแบนสารกับปลัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งการตัดสินใจอย่างไร ผมไม่ไปก้าวก่าย ทุกอย่างเป็นเรื่องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผมขอยืนยันอีกครั้ง ไม่มีการสั่งการ ไม่มีหนังสือใดๆทั้งสิ้น ถ้าใครมีให้เอาออกมา ผมชี้แจงไปแล้ว ก็ยังไม่มีก็ยังไม่จบ รวมทั้งทุกอย่างเป็นเรื่องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่ากันไป”
...สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแบน 3 สารเคมีเกษตร เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ก้อนมหึมาและไปโยงกันกับ “องค์กรโลกบาล” อย่าง “องค์การการค้าโลก(WTO)” ซึ่งไทยเป็นสมาชิก รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่ข้างหลัง
ถามว่า ข้ออ้างในเรื่อง WTO มี “เหตุผล” ที่ “พอรับฟังได้” หรือไม่?
ก็ต้องตอบว่า รับฟังได้
แต่สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตรหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งกระทรวงต้องตอบคำถามก็คือ ทำไมถึงไม่รู้เรื่องที่เป็นข้อมูล “พื้นฐาน” เหล่านี้
ที่สำคัญคือ ทาง “มูลนิธิชีววิถี” ได้ยืนยันหลักฐานเอาไว้ชัดเจนว่า ในเรื่อง WTO นั้น ภายใต้ความตกลงนี้ (AGREEMENT ON THE APPLICATION OF SANITARY AND PHYTOSANITARY MEASURES) ได้เปิดช่องให้แต่ละประเทศสามารถดำเนินการตาม Annex B ข้อ 6 ได้ โดยไม่ต้องเดินตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีปัญหาเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพ (where urgent problems of health protection arise or threaten to arise for a Member)
ทั้งนี้ โดยประเทศไทยต้องดำเนินการ
(a) ทำหนังสือแจ้งสมาชิกอื่นผ่านสำนักงานเลขาโดยชี้แจงวัตถุประสงค์ และเหตุผลของแบน
(b) จัดหาข้อมูลเกี่ยวกับการแบนสารเคมีเมื่อมีการร้องขอ
และ (c) อนุญาตให้สมาชิกอื่นใน WTO แสดงความเห็น แลกเปลี่ยน และนำความเห็นให้ไปพิจารณา
ดังนั้นการดำเนินการแจ้งของฝ่ายไทย ที่ดำเนินการเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกอื่นๆใน WTO ให้ความเห็นภายใน 15 วัน โดยกำหนดให้มีผลการแบน 3 สารพิษภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จึงไม่ขัดต่อความตกลง WTO แต่ประการใด
เช่นเดียวกับเรื่องการระยะเวลาในการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตาย ซึ่งตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ก็สมควรมีข้อมูลอยู่ในมือทุกเรื่องว่า “ทำทัน” หรือไม่ และมี “ค่าใช้จ่าย” ในการดำเนินงานเท่าไหร่ ทำไปแล้วจะติดขัดปัญหาในขั้นตอนไหน
กระนั้นก็ดี แม้มติจะออกมาในลักษณะดังกล่าวและถือเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐมนตรีจาก “พรรคภูมิใจไทย” โดยมีรัฐมนตรีจาก “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคพลังประชารัฐ” จับมือกัน แต่เมื่อดูทิศดูทางแล้วก็สามารถพยากรณ์ได้ว่า จะไม่กลายเป็นปัญหาถึงขั้นที่ทำให้ “เรือเหล็กลุงตู่” เกิดรอยร้าว เพราะ “เสี่ยหนู” ออกตัวแล้วว่า ไม่มีผลกับการร่วมรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจับสัญญาณจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดูเหมือนไม่เป็นเดือดเป็นร้อนกับเรื่องนี้ ซึ่งจะว่าไป “ลุงตู่” ก็มีท่าที “ลอยตัว” กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายทุกครั้งไป
เที่ยวนี้ “ลุงตู่” แสดงความเห็นเอาไว้ว่า “ผมไม่ได้ขัดข้องในเรื่องเหล่านี้ เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ไม่สามารถไปสั่งได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ทำงานมา และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการให้ได้ เพื่อลดความขัดแย้ง ลดปัญหาจากภาคเกษตรด้วย คงไม่ขัดแย้งนะเรื่องนี้”
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า นับจากนี้จนถึงเส้นตายคือวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ในการเลื่อนแบน “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักจะไม่ทำอะไร และก็จงอย่าแปลกใจเช่นกันว่า เมื่อถึงวันนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติใหม่ ซึ่งหวยอาจจะออกมาเป็น “เลื่อน” อีกครั้ง หรือเลวร้ายขั้นสุดถึงขั้นยกเลิกการแบนเหลือเพียงแค่จำกัดการใช้เหมือน “ไกลโฟเซต” ก็เป็นได้
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...
“ข้อดี” เพียงประการเดียวของสิ่งนี้ก็คือ ทำให้คนไทยได้เห็นชัดแจ้งว่า “ใครเป็นใคร”