ผู้จัดการรายวัน360 - บอร์ดวัตถุอันตราย พลิกมติเลื่อนแบน "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" ออกไปอีก 6 เดือน อ้างยังหาสารทดแทนไม่ได้ แต่เลิกแบน "ไกลโฟเซต" เพียงแต่จำกัดการใช้ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมอาหาร “มนัญญา" ฉุนโดน ปชป.เจาะยางวางกับดักทุกทาง หลัง "เฉลิมชัย" ลงนามให้ปลัดเกษตรฯ ลักไก่ ส่งเอกสารจากกรมวิชาการเกษตร ขอขยายเวลา 6 เดือน ก่อนพลิกมติจนได้ "อนุทิน" ยอมรับผิดหวังลั่นทำสุดซอยแล้ว ยันเรือเหล็กต้องไม่รั่ว อ้างเป็นจุดยืนของแต่ละพรรค เครือข่าย 686 องค์กร ซัดเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน พร้อมเดินหน้าขับสู้ต่อ "ชาดา" เดือด จี้ "สุริยะ" ต้องรับผิดชอบ ชี้ "มนัญญา"ไม่จำเป็นต้องลาออก เหตุพยายามเต็มที่แล้ว คนที่ออกคือคนไม่เอาสารพิษ วอนปชช.ออกมาจุดเทียนทุกบ้านไม่เอาสารพิษ-ไม่เอารมต.
จากมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ที่กำหนดให้ 3 สารได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ครอบครอง) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไปและให้กรมวิชาการเกษตรโดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอให้ความเห็นในการประชุมครั้งถัดไป
โดยวานนี้ (27 พ.ย.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 29 รายแต่มาประชุมครั้งนี้เพียง 24 รายไม่มา 5 ราย โดยเป็นผู้ทรงวุฒิ 3 ราย และผู้แทนหน่วยงานจากกระทรวงกลาโหม และผู้แทนจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และใช้เวลาการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ในที่สุดก็ได้ข้อยุติ
นายสุริยะ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ทั้งสิ้น 24 คนให้ทบทวนมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ด้วยการออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561
นอกจากนี้ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากที่มีมติ
รวมทั้งการประชุมรับฟังความเห็นพบว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะจำนวนมาก ซึ่งการจัดการสารที่คงค้างมีจำนวน 23,000 ตันโดยประมาณหากทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถผลักดันให้ส่งกลับไปได้ ขณะเดียวกันยังเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมตอ่เนื่องเช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรได้ และอาจมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ
“คณะกรรมการที่ผ่านมาตั้งใจแบนอยู่แล้ว วัน 1 มิ.ย.นี้จะเป็นการประกาศบังคับใช้ได้ ณ วันนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก เพราะกระทรวงสาธารณสุขเองก็ห่วงใยต่อสุขภาพประชาชน ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้เพราะสารตัวนี้ทั้งหมดในโลก 161 ประเทศยังคงใช้สารนี้ได้ มีแบนเพียง 9 ประเทศเท่านั้น และพบว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหารสัตว์ถ้าห้ามใช้ตัวนี้จะไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี มาจากสหรัฐ บราซิลและประเทศอื่นๆได้ก็จะกระทบต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์อีกด้วย”นายสุริยะกล่าว
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆแล้ว หากมีการยกเลิกการใช้ตอนนี้โกลาหลแน่ เนื่องจากการใช้พาราควอต เป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่เกษตรกรเคยชินใช้กำจัดวัชพืช ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ศึกษาสารทดแทนมาแล้วประมาณ 1 ปี มีทั้งที่เป็นสารเคมี และไม่ใช่สารเคมี รวมทั้งวิธีการอื่นๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ระหว่างนี้หวังว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาสารทดแทนมาได้ทันภายใน 1 มิ.ย. 63
น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า รู้สึกกดดันมาก ขอกลับไปอ่านมติที่ประชุมอย่างละเอียดก่อนว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไร ก่อนที่หาประกาศแนวทางการดินการอย่างไรต่อไป
"มนัญญา'ฉุนขาดโดนปชป.เจาะยางพลิกมติสารพิษ
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่พอใจกรมวิชาการเกษตรแอบทำหนังสือขอขยายระยะเวลา 3 กรณี หลังจากมติแบน 3 สารเคมีเกษตร โดยแบ่งเป็น 1. ขยายระยะเวลา 1 เดือน 2.ขยายระเวลา 3 เดือน 3.ขยายระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่แจ้งให้ทราบ มาแอบเห็นเอกสารในภายหลังจากที่ส่งเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว
“รองนายกฯอนุทิน และ รมช.มนัญญา มีความไม่พอใจอย่างมากที่กรมวิชาการเกษตร ทั้งที่เป็นหน่วยงานในการดูแลของรมช.เกษตรฯกลับไม่เสนอเอกสารมาให้ตรวจก่อนที่นำเข้าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเอกสารดังกล่าวลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯและปลัดกระทรวงเกษตรฯนำส่งเข้าที่ประชุมทันที ทั้งนี้นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ได้เรียกน.ส.มนัญญา ไปที่รัฐสภา เพื่อประชุมพรรคแสดงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย และรอมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกทั้งนายอนุทิน ไม่พอใจอย่างมากและเป็นรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลถึงการปรับครม.ที่เร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ที่มีการเล่นเกมการเมืองใต้ดิน เพราะปรากฏว่ามีอดีตผู้สมัครส.ส.บางพรรคเข้าเป็นแกนนำม็อบเกษตรกรแต่งชุดดำ ต่อต้านการแบน3สาร นำเกษตรกร และร้านค้าจำหน่ายสารเคมี มาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องร่วมกับสมาคม เอกชนนำเข้าสารเคมี จนส่งผลขยายเวลาการแบนสาร”แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
อย่างไรก็ตามในวันนี้ น. น.ส.มนัญญา เตรียมแถลงข่าวที่กระทรวงเกษตรฯ หลังทราบผลมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:ด่วน!!! กรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกแบนสาร'ไกลโฟเซต'-อีก2ชนิดเลื่อนไป6เดือน)
"อนุทิน" ผิดหวังยืดแบนสารเคมี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังรับทราบมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า มติดังกล่าวไม่ได้เป็นเอกฉันท์ แต่เป็นมติเสียงข้างมาก เพราะตัวแทนของ สธ. ยืนยันตามมติเดิมให้แบน แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้จะทำอะไรต่อได้ คงต้องก้มหน้าก้มตารักษาคนไข้ต่อไป
"อะไรที่มีปัญหากับสุขภาพของชีวิตมนุษย์ ประชาชนทั่วไป สธ.เห็นชอบด้วยไม่ได้ สธ.ยังยืนยันท่าทีให้มีการแบน แต่เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ต้องยอมรับ ซึ่งสธ.ก็สุดซอยแล้ว น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ก็สุดซอยแล้ว ทำเต็มที่เพื่อปกป้องสุขภาพรักษาชีวิตประชาชนแล้ว แต่ทั้งหมดมีกระบวนการ มีการลงมติกัน ถ้าลงมติแล้วฝ่ายปกป้องชีวิตประชาชนเป็นเสียงข้างน้อยให้ทำอย่างไร ก็ต้องทำตามกฎหมายเราได้แสดงเจตนารมณ์เราแบบนี้ เมื่อเห็นเป็นอย่างอื่นก็ต้องกลับมาทำหน้าที่เดิม ถ้ามีปัญหาก็ขอให้ทุกคนโชคดี ถ้ามีปัญหา สธ.ก็พร้อมรับรักษาให้หายต่อไป" นายอนุทิน กล่าว
ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อการพิจารณาร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นมติการพิจารณาของคณะกรรมการแต่ละท่านที่มีอิสระ แต่ถ้าออกโดยรัฐมนตรีค่อยเป็นประเด็นทางการเมือง
ต่อคำถามที่ว่าผิดหวังหรือไม่กับผลที่ออกมา นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ผิดหวัง แล้วทำอย่างไรได้ หากไปกฎหมายมาว่า รมว.สธ.สามารถหักล้างมติและสั่งการได้เองไม่ต้องฟังใคร จะเซ็นเดี๋ยวนี้ แต่ทำไม่ได้
ถามต่อว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่รูเล็กๆ ของเรือเหล็กที่ทำให้ล่มหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี ผมนี่ช่างอ็อก จบวิศวกรรมโลหะ
ขรก.เกษตรฯผิดหวัง"รมต.-ปลัด"ล้มมติตัวเอง
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่า ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ผิดหวังกับการทำงานของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ที่มีจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากก่อนหน้านี้เป็นผู้ลงนามและผู้เสนอเอกสารเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบน 3 สารทันที มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 62 ทั้งมีกรรมการในกรรมการวัตถุอันตราย ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯระดับผู้บริหาร ถึง 4 คน จนกระทั้งมากลับลำในครั้งนี้ พลิกมติแบนของตัวเอง เลื่อนแบนไปอีก 6เดือน โดยมีผลหลังวันที่1มิ.ย.63 ถึงจะยกเลิกใช้2สาร คือสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ส่วนสารไกลโฟเซต ยกเลิกแบนทันที ให้ไปใช้มาตรการจำกัดการใช้
เครือข่ายฯซัดเอื้อประโยชน์บริษัทสารพิษ
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ออกแถลงการณ์ผิดหวังกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยระบุว่า การตัดสินใจ ซึ่งมาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนเงินมหาศาล
ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป และจะแถลงมาตรการและแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็ว
"หมอธีระวัฒน์" จวกพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ ปชช.ต้องมารับผลกระทบ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายยืดเวลาแบนสารเคมีพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส และให้ใช้ไกลโฟเซตต่อ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่ายอมรับผลมติ ว่า ถึงนายอนุทิน จะยอมรับมติก็จริง แต่ประชาชนไม่ยอมรับ และการขับเคลื่อนให้ประชาชนรับทราบอันตรายตรงนี้ก็ต้องทำต่อ และต้องให้ประชาชนเรียกร้องสิทธิชีวิตตัวเอง รวมทั้งเวลาจะซื้อพืชผักผลไม้ ต้องให้ถามคนขายว่า มีการใช้สารเคมีหรือไม่ และหากไม่แน่ใจว่าคนขายโกหกหรือไม่ ตอนนี้เรากำลังพัฒนาชุดตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีราคาถูกและแม่นยำ รวดเร็วภายใน 10 นาที เพื่อให้ช่วยอีกที เรียกว่า ผู้บริโภคดูแลกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลแล้ว เพราะพึ่งพาไม่ได้แล้ว
“หากท่านอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่ายอมรับมติจริง ในฐานะที่ผมเป็นหมอที่รักษา และเชื่อว่าหมออีกหลายคนยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะแบบนี้ประชาชนต้องมารับผลกระทบกันเอง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
"ชาดา"เดือดจัด ! จี้ "สุริยะ"รับผิดชอบ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบต่อสังคมว่าเหตุผลใดจึงมีมติอย่างนี้ออกมา เป็นการลงมติ หรือแถลงรวมเพราะบางคนบอกว่าไม่มีการลงมติเลยการแถลงรวมแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะตามขั้นตอน ครั้งแรกต้องยกเลิกมติเดิมก่อน แล้วมาอ้างว่ากรมวิชาการไม่ทำอะไรเลยถ้าไม่ทำอะไรเลยอธิบดีกรมวิชาการก็ไม่น่าอยู่แล้ว หากช่วงเวลา 1 เดือนไม่มีแผนไม่มีอะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมวิชาการขาดไม่ได้กับสารนี้ นอกจากจะเอาไปกินที่บ้าน แต่วันนี้เราหมดหน้าที่แล้ว
เมื่อถามว่ามีผลต่อพรรคร่วมหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่รมว.อุตสาหกรรมต้องตอบคำถามว่ามีเหตุผลอะไร นอกเหนือจากเรื่องไร้สาระ และกรมวิชาการไม่ได้ทำอะไรเลย ยกเลิกสองตัว แต่อีกตัวไม่แบนคือสารไฟโตรเซส ที่ตัวก่อมะเร็งเต้านม ดังนั้นคนเป็นแม่ต้องไปถามรัฐมนตรีว่าใช้มติอะไร คุณสุริยะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้เกี่ยวกับสารพิษเป็นเรื่องของคุณสุริยะประชาชนและสื่อต้องไปถามคุณสุริยะในวันประชุมครมก็ใส่แว่นดำไม่กล้าสบตาใคร
"ไม่ใช่เรื่องของเรา เราทำหน้าที่จบแล้วและดีที่สุดแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ไปอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อถามว่านายสุริยะอ้างว่าเป็นไปตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ นายชาดา กล่าวว่า วันนี้งบปี63 ของกรมวิชาการเกษตรถูกแขวนอยู่ที่อนุกรรมาธิการงบฯเพราะถูกมองว่าเป็นการทุจริต คิดว่าเครดิตตรงนี้ก็หมดแล้ว
"ผมคุยกับรมต.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์แบบพี่ๆน้องๆว่าเราทำหน้าที่เต็มที่และพยามเต็มที่แล้ว สังคมต้องออกมาแล้วเพราะอำนาจหน้าที่เราไม่มีแล้ว และจะคืนกรมวิชาการให้กับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเอาไปดูแลเอง เราขอเปลี่ยนกรมใหม่ เพราะถ้าอยู่ในสภาพอย่างนี้เรารับไม่ได้ คืนให้รัฐมนตรีจะให้ใครไปดูแลก็เอาไป และรมต. ก็ไม่แฮปปี้ เราทำสุดทางแล้วเราทำเต็มหน้าที่ และรัฐมนตรีมนัสญาก็ไม่จำเป็นต้องลาออก คนที่ลาออกน่าจะเป็นคนที่ทำไม่ถูกต้อง และายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเราหมดหน้าที่แล้วเป็นคณะกรรมการชุดใหม่"นายชาดา กล่าว
นายชาดา กล่าวว่า วันนี้ประชาชนต้องออกมาดีกว่า หรือจะเอาไหม จุดเทียน หน้าบ้านถ้าประชาชนทุกหลังว่าไม่เอาสารพิษไม่เอารัฐมนตรีที่เอาสารพิษก็จบ วันนี้อยู่ที่ประชาชนแล้ว เราทำเต็มความสามารถเราทนแรงกดดันมาทุกอย่าง โดนด่ากับพวกเสียผลประโยชน์เราไม่อยากเอาม็อบขาวมอบดำมาโต้ ไม่อยากให้บ้านเมืองนี้ไม่สงบ