มติอุ้มสารพิษ พ่นพิษทางการเมือง “ไพศาล พืชมงคล” ชี้ การเลือกตั้งกทม.พลิกล็อค ผู้สมัครอิสระได้เฮ จับตาเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ-ร่างกฎหมายงบประมาณ อาจต้องลุ้นหนัก
วันนี้(28 พ.ย.62)เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ของไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ หัวข้อ “กรณีเรื่องสารพิษ” อย่างน่าสนใจ
โดยระบุว่า ที่ให้ใช้ต่อไป โดยไม่สนใจชีวิตประชาชน ที่บาดเจ็บล้มตายลงเป็นเบือ แม้ทารกในครรภ์ที่อาจพิกลพิการนั้น
มีเบื้องหลังที่น่าอัปยศอดสูของคนไทยทั้งชาติ ที่บรรดาผู้รักชาติทั้งหลาย ไม่สามารถยอมรับได้
และทำให้เห็นว่านักการเมืองจำนวนหนึ่งไว้ใจไม่ได้ พร้อมที่จะทรยศชาติและประชาชนทุกเมื่อ
และเหตุนี้ จะทำให้การเลือกตั้งกทม.พลิกล็อค จะทำให้ผู้สมัครอิสระมีโอกาสมากขึ้น
เขียนแปะไว้ข้างฝาได้ครับว่า คุณรสนา โตสิตตระกูล จะโดดเด่นเจิดจ้าขึ้น
และจับตาการอภิปรายไม่ไว้วางใจและร่างกฎหมายงบประมาณให้ดีก็แล้วกัน*****
สำหรับ มติอุ้มสารพิษ(27 พ.ย.62) ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั่งเป็น ประธาน เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 นั้น
สรุปว่า ให้ชะลอการเพิกถอนทะเบียนสารพิษสองตัว คือ “พาราควอต” และ “คลอไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน และยกเลิกการเพิกถอนทะเบียนสารไกลโฟเสต ซึ่งอันตรายอย่างมากเช่นกัน ให้อยู่ในระดับเพียงจำกัดการใช้ หมายความว่า ไม่ได้แบนทันทีหมดทั้ง 3 สาร อย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
เรื่องนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กรออกแถลงการณ์ ผิดหวังกับมตินี้ ทันควัน(27 พ.ย.62)
โดยระบุว่า การตัดสินใจ ซึ่งมาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซตซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่า เป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนเงินมหาศาล
การยืดเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไป เป็นการเอื้อเฟื้อบริษัทสารพิษให้ไม่ต้องรับผิดชอบสต็อค สินค้า ทั้งๆที่พวกเขานำเข้ามาเพื่อเก็งกำไรจำนวนมหาศาลก่อนหน้านี้ โดยปล่อยช่วงเวลาอีก 6 เดือนเพื่อจำหน่ายต่อเกษตรกร ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กๆของเรา
รัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจครั้งนี้ต้องเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลการตัดสินใจ และประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่สนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง เป็นผู้ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของพวกเขา
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงจะเดินหน้า ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป และจะแถลงมาตรการและแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็ว
เช่นเดียวกับเมื่อวันนี้(28 พ.ย.62)เครือข่ายผู้บริโภคประณามพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ที่เห็นแก่บริษัทสารเคมีมากกว่าผู้บริโภค พร้อมเสนอให้ผ่าตัดโครงสร้างกระทรวงเกษตรให้มีกรมสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแสดงฉลากให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกสินค้าเกษตร ผักผลไม้และอาหารที่มีการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากเรื่องนี้ มีการผลักดันมาจาก น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย และ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
นั่นเท่ากับว่า มติอุ้มสารพิษ ได้กลายเป็น “ปม” ขัดแย้งทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทย” ไปแล้ว
รวมทั้ง นส.มนัญญา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ตั้งความหวังเอาไว้สูง ว่าจะสามารถแบน 3 สารนี้ได้ทันที เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ คณะทำงานศึกษา 4 ฝ่าย ซึ่งตั้งตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมี นส.มนัญญา เป็นประธาน เคยมีมติ 9 ต่อ 0 ให้แบนสาร 3 ชนิด มีผลตั้งแต่วันที่ 1ธ.ค.62 เป็นต้นไป
ยิ่งกว่านั้น ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกระทรวงเกษตรฯว่า ผิดหวังกับการทำงานของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ที่มีจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากก่อนหน้านี้เป็นผู้ลงนามและผู้เสนอเอกสารเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบน 3 สารทันที มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค. 62 ทั้งมีกรรมการในกรรมการวัตถุอันตราย ส่วนของกระทรวงเกษตรฯระดับผู้บริหาร ถึง 4 คน จนกระทั้งมากลับลำในครั้งนี้ พลิกมติแบนของตัวเอง
โดยนายอนันต์ กล่าวหลังมีมติอุ้มสารพิษว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆแล้ว หากมีการยกเลิกการใช้ตอนนี้โกลาหลแน่ เนื่องจากการใช้พาราควอต เป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่เกษตรกรเคยชินใช้กำจัดวัชพืช
“ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ศึกษาสารทดแทนมาแล้วประมาณ 1 ปี มีทั้งที่เป็นสารเคมี และไม่ใช่สารเคมี รวมทั้งวิธีการอื่นๆ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ระหว่างนี้หวังว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาสารทดแทนมาได้ทันภายใน 1 มิ.ย. 63”
ไม่รู้เหตุผลแค่นี้จะฟังขึ้นหรือไม่ ในความรู้สึกของคนถูกหักหลัง
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กล่าวหลังทราบมติ ว่า มติดังกล่าวไม่ได้เป็นเอกฉันท์ แต่เป็นมติเสียงข้างมาก เพราะตัวแทนของ สธ. ยืนยันตามมติเดิมให้แบน แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้จะทำอะไรต่อได้ คงต้องก้มหน้าก้มตารักษาคนไข้ต่อไป
น้ำเสียงแบบนี้ ทำให้อดย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค 62 ที่โรงแรมศิวารอยัล จ.พัทลุง ไม่ได้
วันนั้น นายอนุทิน รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข แถลงข่าวร่วมกับ 7 รัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนไม่เอาสารพิษทางการเกษตรแน่นอน...
“ภูมิใจไทยไม่ได้ปะทะกับใคร การตัดสินใจนั้นก็ตัดสินใจบนประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ไม่มีอะไรต้องกังวลหรือต้องชะงัก”
เมื่อถูกถามว่านายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า หากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแบน3สารเคมีไม่สำเร็จก็ควรลาออกไปซะ นายอนุทิน ตอบว่า หากมติของคณะกรรมการฯสวนไม่ทำตามมติ แนวทาง ของรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยที่กำกับ ก็พร้อมแสดงสปิริตลาออก เพราะเท่ากับว่า เราไม่มีความสามารถในการปกครองให้คนเหล่านั้น ปฏิบัติตามมติหัวหน้าส่วนราชการ...
“ส่วนตัวก็ได้ถามกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เรื่องสารพิษเป็นอย่างไร ได้รับคำยืนยันว่า ไม่เอาด้วย ก็เท่ากับว่า มั่นใจว่ามีผู้เห็นด้วย ส่วนกังวลหรือไม่ที่ต้องปะทะกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ นายอนุทินย้ำว่า ไม่ได้ปะทะกับใคร คณะรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ทำงานปกติของข้าราชการประจำ ตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก”
วันนี้ คงต้องจับตามอง ว่า พรรคภูมิใจไทย จะเดินเกมอย่างไรต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ โพสต์ ของ ไพศาล พืชมงคล ที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะ “ปม” ปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่จะมีขึ้น คนที่น่าจะโดดเด่นเจิดจ้าขึ้นมาทันที ก็คือ ผู้สมัครอิสระ อย่าง น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ผู้เคยมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงขบวนการทุจริต กรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2541 เคยเคลื่อนไหวยับยั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2548 ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะลงสมัครในนามอิสระ
นอกจากนี้ คือ เกมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และร่างกฎหมายงบประมาณ ที่ต้องการความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างสูง เพื่อที่ก้าวผ่านไปให้ได้ ถ้าหากปมเรื่องนี้ยังไม่สามารถเคลียร์กันได้ ก็นับว่าน่าจับมองอยู่ไม่น้อย ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างที่ “ลุงไพศาล” ให้จับตาเอาไว้ นับแต่วินาทีนี้