สธ.เผยประชุมบอร์ดวัตถุอันตราย ไม่มียกมือโหวตรายบุคคลให้ยกเลิกมติแบน 3 สารเคมี ลั่นยืนยันตามมติเดิมให้แบนวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เหตุผ่านการรับรองแล้ว ปัดตอบมติยืดแบนพาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส ปล่อยผี “ไกลโฟเซต” มาได้อย่างไร ไม่ขอคาดเดา ขอดูรายงานผลประชุมทางการก่อน
วันนี้ (28 พ.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวท่าทีและจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขต่อสารเคมีอันตรายทางการเกษตร หลังจากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า มีมติเอกฉันท์ให้ยืดเวลาการแบนสารเคมี 2 ตัว คือ พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ออกไปอีก 6 เดือน จากวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วนไกลโฟเซตยังไม่มีการแบน โดยให้จำกัดการใช้ตามเดิม
นพ.สุขุม กล่าวว่า สธ.ยืนยันชัดเจนว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจุดยืนเราคือ ยืนยันตามมติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 คือ แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะจากการเชิญแพทย์ พยาบาล ละการทำเทเลคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และ รพ.ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา พบข้อมูลชัดเจนว่า มีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากสารเคมีเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เช่น รพ.น่าน จากเดิมพบผู้ป่วยปีละ 45 ราย ตอนนี้พบเดือนละ 25 ราย มีการแพ้ เกิดแผล เนื้อตายต่างๆ ที่สำคัญคือ สารบางตัวอย่างพาราควอต แค่สัมผัสเท่านั้น ไม่ต้องกินหรือเอาไปใช้ฆ่าตัวตาย ถ้าหกรดบนตัวผู้ป่วยก็ไม่มีทางรักษาเสียชีวิต โดยมีผู้ป่วยชายอายุ 30 ปี สัมผัสพาราควอตจากการที่ลมพัดแล้วทำให้สารเคมีหกกระฉอกลงกางเกง พบว่า แผลภายนอกไม่เยอะเท่าไร แต่เพียง 3 วัน เกิดอาการไตวาย 1 สัปดาห์ตับวาย ปอดเป็นฝ้า และเสียชีวิต
“สารเหล่านี้มีพิษ หลายคนบอกว่าไม่กินไม่ฆ่าตัวตายก็ไม่เป็นไร แต่จริงๆ แล้ว พิษมีทั้งแบบเฉียบพลัน คือ ใช้ฆ่าตัวตายกับการสัมผัส หากหกรดตัวก็ตายทันทีเหมือนกัน ไม่ว่าปริมาณมากหรือน้อย กับการตกค้างสะสมในอาหาร ซึ่งจากการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในพืชผักผลไม้ก็พบเจอ นอกจากนี้ยังสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในดินน้ำสัตว์ ซึ่งเราห่วงว่าอนาคตจะพบปัญหาสุขภาพประชาชนมากขึ้นเพราะมีผลต่อมะเร็ง โรคทางสมอง สมองเสื่อม และผ่านจากมารดาไปสู่ทารกได้ นอกจากรุ่นเราแล้ว เด็กรุ่นต่อไปก็มีโอกาสจะมีปัญหาด้านสุขภาพได้ ทั้งนี้ สธ.ยืนยันว่าเรื่องสุขภาพประชาชนสำคัญกว่า ก็ยืนยันตามมติเดิม” นพ.สุขุมกล่าว และว่า ส่วนจากนี้ก็จะต้องพยายามให้ข้อมูลแก่ประชาชนมากขึ้น และมีการตรวจเฝ้าระวังสารเคมีอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้ง 80,000 คน ที่ผ่านการอบรมในการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสารเคมีในสิ่งแวดล้อมด้วย
นพ.โอภาสกล่าวว่า สารเคมีทั้งสามตัวมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในที่ประชุมทาง สธ.ได้มีการรายงานผลกระทบไปแล้วทั้งหมด อย่างสารพาราควอต มีพิษทั้งเฉียบพลัน หากรับไปตายอย่างเดียว เกิดโรคเนื้อเน่า และผลระยะยาวเรื้อรัง ซึ่งตอนนี้พบการตกค้างในเด็กและแม่ กระทบพัฒนาการเด็กและสมอง ส่วนคลอร์ไพรีฟอส กระทบต่อระบบประสาท สมองเด็ก ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ในหลอดทดลอง และรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ขณะที่ไกลโฟเซต เป็นสารน่าจะเกิดมะเร็งได้ รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และพบการตกค้างในทารกและมารดา สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ส่วนที่มีผู้ที่ชอบอ้างว่า ไม่เคยตรวจพบสารพาราควอตในอาหาร ผัก ผลไม้ ขอยืนยันว่ากรมฯ ได้เฝ้าระวังการตกค้างของพาราควอตในพืชผักผลไม้ โดยตรวจพืชผักทั่วทุกภาคของประเทศ ก็พบการปนเปื้อน เช่น กะหล่ำปลี ที่ไม่อนุญาตให้ใช้พาราควอต จากการกะหล่ำปลีจากตลาดที่ จ.พิษณุโลก มาตรวจตั้งแต่ต้นปี 2562 พบพาราควอตปนเปื้อน 0.21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่าค่ามาตรฐาน คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 20 เท่า ซึ่งกรมวิทย์เองมีห้องปฏิบัติการในระดับประเทศ นานาชาติ และได้รับการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ยืนยันว่ามีการตกค้างในห่วงโซ่อาหาร สำหรับการให้ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน 8 หมื่นคน ลงไปช่วยสำรวจสารเคมีพืชผักผลไม้ ในดินและในน้ำ กรมฯ มีการพัฒนาชุดทดสอบอบ่างง่าย (เทสต์คิต) ก็จะร่วมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดำเนินการต่อ เพื่อทำให้การดำเนินเฝ้าระวังเข้มข้นขึ้น
นพ.ไพศาลกล่าวว่า อย.ดูแลเรื่องอาหารปลอดภัยทั้งอาหารในประเทศและการนำเข้า ซึ่ง อย.มีด่าน 52 ด่าน ด่านผักผลไม้ที่เข้ามามาก มี 2-3 ด่าน คือ เชียงของ เชียงแสน และลาดกระบัง ก็ตรวจได้เข้มข้นขึ้น เพื่อคุ้มครองประชาชน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจุดยืนเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ มติที่ประชุมวันที่ 22 ต.ค. 2562 ในการแบน 3 สารพิษทันทีวันที่ 1 ธ.ค. 2562
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ สธ.ยืนยันว่าให้แบน เหตุใดจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ นพ.ไพศาลกล่าวว่า เมื่อวานตัวแทนทาง สธ.ทั้งตนและ นพ.โอภาส ไม่ได้มีการยกมือเลย เมื่อถามต่อว่า ยืนยันว่าไม่มีการลงมติใช่หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า พวกตนสองคนไม่มีการยกมือลงมติใดๆ เลย เรายืนยันตามมติเดิม และมีการอภิปรายในที่ประชุมบอกว่า 3 สารนี้มีผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต
เมื่อถามว่าแล้วการลงมติเมื่อวานเป็นอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า มติวันที่ 22 ต.ค. 2562 ที่ให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด มีการรับรองมติที่ประชุมไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ก็ไม่มีการให้ยกมือลงมติเป็นรายบุคคลว่า ให้มีการยกเลิกมตินี้ เพราะฉะนั้น สธ.จึงยืนยันในมติเดิม
เมื่อถามว่า รศ.จิราพร ลิ้มปนานนท์ กรรมการวัตถุอันตราย ที่สนับสนุนให้แบนสารเคมี โพสต์ข้อความว่ามติดังกล่าวเป็นการจำยอม นพ.โอภาสกล่าวว่า เท่าที่อ่านคร่าวๆ ก็ตรงกัน คือ ไม่มีการยกมือลงมติเป็นรายบุคคลหรือให้ยกเลิกมติเดิม ก็ยันว่ามติเดิมผ่านการรับรองมติไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามว่า เมื่อไม่มีการยกมือลงมติเช่นนี้จะถือว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ นพ.สุขุมกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สรุปรายงานการประชุม เราก็คาดเอาเองไม่ได้ แต่ สธ.ก็ยืนยันตามมติเดิม รายละเอียดต้องถามกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องขอดูรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการก่อน พร้อมกับเดินออกจากวงแถลงข่าวไป