xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ผลประโยชน์มาก่อนชีวิตประชาชน? มติเลื่อนแบนสารพิษเคมีเกษตร "อนุทิน" บ่นผิดหวัง จับตา "มนัญญา" จะทำงานอย่างไรต่อไป ...งานนี้ภูมิใจไทย ทิ้งทุ่น ส่งคืนกรมวิชาการเกษตร

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย "พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.63 จากเดิม 1 ธ.ค. 62 ส่วนวัตถุอันตราย "ไกลโฟเซต" ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61
มีคำถามดังๆขึ้นมาทันทีว่า งานนี้ยังไงกัน? หรือว่า ผลประโยชน์จากสารพิษเคมีเกษตรสำคัญกว่าชีวิตประชาชนกระนั้นหรือ?
รับรู้กันว่า เรื่องจะแบนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยืดเยื้อคาราคาซังมานาน ตั้งแต่ "รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์" ลุยข้าราชการกรมวิชาการเกษตรออกสื่อ พรรคภูมิใจไทยใส่เกียร์ห้าหนุนหลัง รมต.ลูกพรรคเต็มที่จนวินาทีสุดท้ายก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติ ก็ยังเชื่อว่า วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไปจะแบนสารพิษได้
มติออกมาแบบนี้ แน่นอน นอกจากสังคมสับสน และเชื่อว่าผลประโยชน์ครอบงำไปทุกแห่งหนที่สารพิษแผ่ไปถึง
แว่วว่า ล็อบบี้กันฝุ่นตลบ ดูอย่างที่ถูก"จับโป๊ะ" เบื้องหลังม็อบชุดดำที่ออกมาเชียร์สารพิษนั่นก็คนของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ!
ว่ากันว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ก็เพราะฝ่ายสาธารณสุขหัวเด็ดตีนขาด ยังคงยืนกรานให้แบน 1 ธ.ค.นั่นเอง...
"เสี่ยหนู" อนุทิน บอกชัดว่าผิดหวังกับมติที่ให้เลื่อน สิ่งที่ต่อสู้มาเท่ากับว่า "พ่าย" ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปโดยปริยาย
"ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีไม่ใช่แค่เกษตรกรเท่านั้น เพราะสารเคมีมีการนำไปใช้ในพืชผักผลไม้ ซึมลงไปในดิน แหล่งน้ำ หมายความว่า มีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนที่บริโภค ตราบใดที่รับประทานพืชผักผลไม้อยู่ก็มีความเสี่ยงรับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ผลจะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ร่างกายของแต่ละคน แต่ชัดเจนว่ามีผลกระทบแน่นอน ดังนั้นการแบนสารพิษเราจึงไม่ได้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบอื่นๆ เพราะภารกิจของ สธ. คือ สุขภาพของประชาชน และเห็นจากสภาพของผู้ที่ติดเชื้อ ติดโรคจากการสัมผัสสารพิษเหล่านี้ เป็นอันสรุปได้ว่าบุคคลเหล่านั้นไม่แน่ใจว่าระหว่างการเสียชีวิตกับมีชีวิต แบบนี้อยู่อันไหนจะดีกว่า เพราะเมื่อติดเชื้อโรคลุกลามก็เหมือนตายทั้งเป็น"
ความแหลมคมอ่อนไหวของกรณีนี้น่าเป็นห่วงแทน"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกรงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะพัฒนาไปในทางที่ต้องมาปวดหัวกันมั้ย
เหตุและผลของฝั่งให้เลื่อนก็อาจจะรับฟังได้ นอกจากผลประโยชน์มหาศาลของทุนยักษ์ใหญ่ที่ฝังรากลึกในทุกอณูของแวดวงเกษตรบ้านเรา บวกกับการเชื่อมโยงกันกับ“องค์การการค้าโลก(WTO)”ซึ่งไทยเป็นสมาชิก รวมถึงประเทศมหาอำนาจ“สหรัฐอเมริกา”ที่ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่ข้างหลัง
แต่สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตร หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งกระทรวงต้องตอบคำถามก็คือ ทำไมถึงไม่รู้เรื่องที่เป็นข้อมูล “พื้นฐาน”เหล่านี้
ที่สำคัญคือ ทาง“มูลนิธิชีววิถี”ได้ยืนยันหลักฐานเอาไว้ชัดเจนว่า ในเรื่อง WTOนั้น ภายใต้ความตกลงนี้ (AGREEMENT ON THE APPLICATION OF SANITARY AND PHYTOSANITARY MEASURES)ได้เปิดช่องให้แต่ละประเทศสามารถดำเนินการตาม Annex B ข้อ 6 ได้ โดยไม่ต้องเดินตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เมื่อมีปัญหาเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพ (where urgent problems of health protection arise or threaten to arise for a Member)
ดังนั้น การดำเนินการแจ้งของฝ่ายไทย ที่ดำเนินการเมื่อต้นเดือนพ.ย.62 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกอื่นๆใน WTO ให้ความเห็นภายใน 15 วัน โดยกำหนดให้มีผลการแบน 3 สารพิษภายในวันที่ 1 ธ.ค.62 จึงไม่ขัดต่อความตกลง WTO แต่ประการใด
เช่นเดียวกับเรื่องการระยะเวลาในการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตาย ซึ่งตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ก็สมควรมีข้อมูลอยู่ในมือทุกเรื่องว่า “ทำทัน”หรือไม่ และมี “ค่าใช้จ่าย”ในการดำเนินงานเท่าไร ทำไปแล้วจะติดขัดปัญหาในขั้นตอนไหน
"รมช.มนัญญา" ถึงกับเอ่ยปากว่า ขณะนี้มีความสับสนในเรื่องการแบนสาร ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไร ? เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนหน่วยงานที่เธอดูแล กำลังเดินหน้าชี้แจงแนวปฏิบัติเพื่อให้มีการจัดเก็บสารเคมี ภายหลังวันที่ 1ธ.ค.62 เกษตรกรจะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่าเจอมตินี้ก็หงายเงิบไปอย่างไม่ยินยอมพร้อมใจ
จับตากันให้ดีๆ แม้ว่า "เสี่ยหนู" จะบอกว่า เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการแต่ละท่านซึ่งมีอิสระ และรมช.มนัญญา ก็ทำ"สุดซอย" แล้ว
แม้จะสุดซอย แต่ก็ต้องตามกันต่อไปว่าจะเกิดปัญหาในการทำงานของ “มนัญญา”ในฐานะ รมช.เกษตรและสหกรณ์ หรือไม่ อย่างไร
เหมือนที่เธอเคยพูดไว้ตอนพะบู๊ บุกไปทวงข้อมูลแบนสารพิษที่กรมวิชาการเกษตรช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า...
"ก็บอกเขาไปว่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ คุมกรมวิชาการเกษตร แต่ถ้าคิดว่าคุณไม่ฟัง คุณก็ไปเอาคนมาถอดฉันออกไป ถ้าคุณมาปลดฉันออกไปเมื่อไหร่ ฉันจะได้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับตรงนี้ แต่ตอนนี้ดิฉันยังอยู่ตรงนี้อยู่ คุณก็ต้องเชื่อฟังฉัน"
ที่แน่ๆ พี่ชายรมช.มนัญญา "ชาดา ไทยเศรษฐ์" ให้สัมภาษณ์ตามหลังว่า "เสียใจกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ มติคณะกรรมการฯชุดเก่า กลายเป็นศูนย์ เราถือว่าได้ทำสุดกำลังความสามารถ อำนาจไม่ได้อยู่ในมือแล้ว จากนี้ไปขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจ"
"เราจะคืนกรมวิชาการเกษตรไปให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ดูแล พรรคภูมิใจไทย ขอเปลี่ยนกรมใหม่ หากยังอยู่สภาพแบบนี้ เรารับไม่ได้"
เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามอย่ากะพริบตาเชียว.

** เมื่อ"ลูกแมว"อย่าง เอ๋-ปารีณา ไม่กลัว "เสือ" อย่าง เสรีพิศุทธ์ บรรยากาศการป่วน จึงเกิดขึ้นได้ทุกครั้ง ที่มีการประชุมกรรมาธิการปราบทุจริต

กลายเป็นข่าวฮอตประจำวันในโลกโซเชียลฯ ยิ่งใครได้ดูคลิปประกอบข่าวแล้วก็คงรู้สึกขำ อดที่จะอมยิ้มตามไปด้วยไม่ได้...ที่พูดถึงนี้คือบรรยากาศการประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มี "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" เป็นประธานฯ และมี "คูหูดูโอ" อย่าง "เอ๋" ปารีณา ไกรคุปต์ และ สิระ เจนจาคะ 2 ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกส่งเข้ามาสร้างสีสันในกรรมาธิการฯ ชุดนี้
ความจริงแล้ว"ไฮไลต์" ของการประชุมครั้งนี้ (27พ.ย.) น่าจะอยู่ที่เรื่อง "สิระ" จะขอมติจากที่ประชุม เรื่องเสนอปลด "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" พ้นเก้าอี้ประธานฯ ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ...แต่พอเริ่มประชุมกลับกลายเป็นคนละเรื่อง...เมื่อทุกคนเข้าประจำที่ โดยประธานฯนั่งหัวโต๊ะ มี "วัฒนา เมืองสุข" และ "พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์" ในฐานะที่ปรึกษาประธานฯ นั่งขนาบซ้าย ขวา ที่บริเวณหัวโต๊ะ พร้อมที่จะป้องปาก กระซิบให้คำปรึกษา แก้เกม หากที่ประชุมป่วน
"เอ๋" ปารีณา ก็เปิดฉากทักท้วงก่อนเป็นอันดับแรก ว่าการจัดที่นั่งให้ "2ที่ปรึกษา" อยู่ที่บริเวณหัวโต๊ะนั้นไม่เหมาะสม ถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของส.ส.คนอื่นๆ ที่เป็นกรรมาธิการฯ ละเมิดธรรมเนียบปฏิบัติของการประชุม เพราะสองคนนั้นไม่ได้เป็นส.ส. ...แม้ว่ากรรมาธิการที่เป็นตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านจะชี้แจงว่า ไม่มีข้อบังคับเรื่องการกำหนดที่นั่งในห้องกรรมาธิการฯว่าใครจะนั่งตรงไหน และอีกอย่างควรให้เกียรติที่ปรึกษาฯ กันบ้าง เพราะคนหนึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี อีกคนก็เป็นอดีตหัวหน้าพรรคการเมือง จึงควรนั่งใกล้กับประธานฯ เพราะมีหน้าที่ให้คำปรึกษา...
แต่"เอ๋" ปารีณา ก็ไม่ยอมลดละ บอกว่าถ้าจะเอา ส.ส.สอบตก มานั่งตรงไหนก็ได้ ตัวเธอที่เป็น ส.ส.สอบได้ ก็จะนั่งตามใจบ้าง...ว่าแล้วก็หิ้วตะกร้าใบใหญ่ ที่ใช้แทนกระเป๋าถือ เอาไปวางบนโต๊ะประธาน ก่อนจะกลับมาลากเก้าอี้ไปนั่ง ข้างๆ ประธานฯ โดยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้แต่ตีสีหน้าระอาใจ และคงจะนึกถึงภาพที่ ส.ส.ปารีณา ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีเมื่อคราวลงพื้นที่ ไปประชุม ครม.สัญจร ที่ ราชบุรี กาญจนบุรี ก็เลยออกปากแซวว่า... “ได้นั่งข้างคนสวย อย่าเผลอกอดผมนะ ...”
พอได้ที่นั่งใหม่เรียบร้อย "เอ๋" ก็เริ่มหยิบโทรศัพท์มือถือ ขึ้นมาจิ้มๆ รูดๆ โดยไม่สนใจใคร ทำเอาท่านประธานฯ ต้องหลือบตามองลอดแว่น แสดงความไม่พอใจ เพราะรู้มาว่า "เอ๋" ชอบไลฟ์สด หรือถ่ายภาพในห้องประชุม ส่งออกไปภายนอก เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวให้ทางพรรคได้รับรู้ จึงสั่งห้ามใช้โทรศัพท์
จังหวะนี้ก็ถึงคิว "สิระ" ขึ้นมารับลูก ว่า "เอ๋" แค่ใช้โทรศัพท์เท่านั้น ไม่ได้ก่อความวุ่นวาย หรือกวนประสาทใคร แถมยังหยอดมุกไปว่า ท่านประธานฯ คงไม่ได้มองโทรศัพท์ แต่มองอย่างอื่นของ "เอ๋" มากกว่า... ฝ่ายท่านประธานฯ คงคิดว่าถ้านิ่งเฉย ก็จะเป็นการยอมรับ ก็เลยโต้ไปว่า "ปารีณาไม่มีอะไรน่ามอง" แล้วกำชับอีกครั้งว่า ห้ามใช้โทรศัพท์ ในที่ประชุม
จากนั้นจึงเข้าสู่วาระ เรื่องการปลดประธาน กรรมาธิการฯ ว่าที่ประชุมกรรมาธิการฯทำได้ หรือไม่ได้ โดยกรรมาธิการในซีกของฝ่ายค้านเห็นว่าทำไม่ได้ เพราะตำแหน่งกรรมาธิการฯ เป็นไปตามอัตราส่วนของส.ส.แต่ละพรรคการเมือง แล้วจึงให้คณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบ โดยเฉพาะตำแหน่งประธานของกรรมาธิการฯ คณะนี้ เป็นโควต้าของฝ่ายค้าน จึงมองว่ากรรมาธิการฯ ไม่สามารถปลดประธานฯ ออกจากตำแหน่งได้
ส่วน"สิระ" ก็แย้งว่า แม้ตำแหน่งประธานฯ จะเป็นโควตาของฝ่ายค้าน แต่ไม่เกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคล และมติที่แต่งตั้งประธานฯ ก็เป็นมติจากกรรมาธิการทั้ง 15 คน ตำแหน่งประธานฯ จึงไม่ใช่ตำแหน่งส่วนตัว กรรมาธิการฯ สามารถปลดได้... ขณะที่กรรมาธิการฯ ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ เสนอให้นำเรื่องเข้าหารือกับประธานสภาฯ ในที่ประชุมใหญ่
สุดท้ายที่ประชุมมีมติ ฝ่ายค้าน 7 เสียง เห็นว่า กรรมาธิการฯไม่มีอำนาจปลดประธานฯ ส่วน 2 เสียงเห็นว่าปลดได้ คือเสียงของ สิระ และปารีณา ส่วนกรรมาธิการที่เหลือ งดออกเสียง ... เป็นอันว่าแผนปลดประธานฯด้วยวิธีนี้ ไม่สำเร็จ...
มีคำพูดของ"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" ที่พูดกับนักข่าว ถึง"ปารีณา" ที่พยายามยกตัวเองขึ้นมาเป็น "คู่กัด" กับเขาว่า... "ลูกแมวไม่กลัวเสือ เพราะลูกแมว เพิ่งเกิดใหม่ มันจะไปรู้เรื่องอะไร พอเจอเสือมันก็เลยไม่กลัว เปรียบปารีณาก็เหมือนลูกแมว ส่วน"เสรีพิศุทธ์"นั้นหรือ... ใหญ่กว่าเสือ "

**เอาแล้ววุ้ย ! คนฝั่งรัฐบาลดอดร่วมโหวตลงมติให้ฝ่ายค้านตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบจาก ม.44 ตบหน้าคสช. เอาคืนพรรคร่วม

ที่รัฐสภาเมื่อวานนี้(27พ.ย.) มีงานเข้าทั้งสภาฯ ล่ม วอล์กเอาต์กัน ที่สำคัญและมีนัยส่งสัญญานไปถึง"ลุงๆ ทั้งหลาย" ว่างานนี้ ใครกันนะเล่นใหญ่ดอดตีท้ายครัว เมื่อมีมือดีคนของฝั่งรัฐบาลไปร่วมลงมติตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบจาก "ม.44"
"สุทิน คลังเเสง" ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ถึงกลับขยี้แผลว่า วันนี้ ถือเป็นกระจก และบทเรียนลงโทษรัฐบาลเบื้องต้น เพียงพอจะทำให้รัฐบาลรู้ตัวว่าต่อไปจะต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ มากกว่านี้ ซึ่งในวันนี้มีฝ่ายรัฐบาลมาร่วมลงมติเห็นด้วยกับเราหลายคนนั้น ขอชื่นชม เเละขอบคุณ เชื่อว่าเขาอยากให้สังคมเห็นผลจากการใช้อำนาจพิเศษ ที่เป็นผลร้ายกับบ้านเมือง...
นี่เท่ากับตบหน้า คสช.ชัดๆ
แถมได้ทีขี่แพะไล่อีกต่างหากว่า รัฐบาลที่ไม่รู้ไปปกปิดอะไรให้คสช. ส่วนคสช.เองก็ไม่รู้จะกลัวอะไร ถึงต้องมาสั่งให้บรรดาสมาชิก หลับหูหลับตาต้านทาน ต่อต้านขนาดนี้
ฝ่ายรัฐบาลกลัวอะไรกับการที่ ส.ส.อภิปรายว่าการใช้ มาตรา 44 มีผลกระทบกับประชาชน
แว่วว่า คนของรัฐบาลที่แตกแถวก็เป็นของพรรคเก่าแก่ที่ขอเอาคืน จากที่โดนสวนกลับเรื่องที่ไม่ทำอะไร ไม่บริหารจัดการปากท้อง ค่าครองชีพของประชาชน จนอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยุค"ลุงตู่1" ออกมากระทุ้ง จนเสียเหลี่ยมเสียหน้า เลยต้องมาใช้วิธีแสดงอิทธิฤทธิ์แบบนี้ให้รู้พิษสง
วิชานี้ไม่มีสอนกัน แต่อยู่ในนิสัยที่แก้ไม่หายของพรรคนี้เขาละ .
-----------------

รูป -อนุทิน ชาญวีรกูล -มนัญญา ไทยเศรษฐ์
- ปารีณา ไกรคุปต์ –พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
-ภาพห้องประชุมสภาฯป่วน

กำลังโหลดความคิดเห็น