xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯขัดขวาง 'บรอดคอม' ของสิงคโปร์ เทคโอเวอร์ 'ควอลคอมม์' เพราะความกลัว 'จีน'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Qualcomm takeover a national security risk, says US

By Asia Times staff
07/03/2018

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งขัดขวางการที่บริษัท บรอดคอม ของสิงคโปร์ เคลื่อนไหวที่จะเข้าเทคโอเวอร์บริษัทควอลคอมม์ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันสัญชาติอเมริกัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่มีการอธิบายเพิ่มเติมกันว่า ถึงแม้บรอดคอมไม่ได้เกี่ยวข้องกับจีน แต่การผนวกกิจการเช่นนี้จะเปิดช่องให้จีน โดยเฉพาะบริษัทหัวเหว่ย ขยายอิทธิพลในเทคโนโลยี 5G

ในความเคลื่อนไหวซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่า วอชิงตันกำลังเอนเอียงไปในทางที่จะใช้มาตรการแบบนักลัทธิกีดกันการค้า (protectionist) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่เปิดเผยกันว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯได้ระบุในจดหมายฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (5 มี.ค.) ว่า ข้อเสนอของ บรอดคอม (Broadcom) บริษัทผู้ผลิตชิปซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ที่จะเข้าเทคโอเวอร์ ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทคู่แข่งสัญชาติสหรัฐฯนั้น อาจจะเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.qcomvalue.com/wp-content/uploads/2018/03/Letter-from-Treasury-Department-to-Broadcom-and-Qualcomm-regarding-CFIUS.pdf)

“การลดทอนความได้เปรียบในการแข่งขันทางเทคโนโลยีในระยะยาว ตลอดจนการลดทอนอิทธิพลในการกำหนดมาตรฐาน ของควอลคอมม์ จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” จดหมายฉบับนี้กล่าว

“เรื่องนี้ที่สำคัญแล้วเนื่องจากถ้าหากฐานะของควอลคอมม์อ่อนแอลง ก็จะเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่จีนในการขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในกระบวนการกำหนดมาตรฐานสำหรับ 5G” จดหมายของกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าวต่อ “จีนน่าที่จะพยายามแข่งขันอย่างเต็มที่เพื่อเติมเต็มช่องว่างใดๆ ที่ทิ้งเอาไว้โดยควอลคอมม์ สืบเนื่องจากผลของการเทคโอเวอร์แบบเป็นปรปักษ์คราวนี้”

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น เป็นหน่วยงานหนึ่งในหลายๆ หน่วยงานซึ่งนั่งอยู่ใน คณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the US หรือ CFIUS) ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ทำการพิจารณาทบทวนข้อเสนอซื้อกิจการนี้ในแง่มุมด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันอาทิตย์ (4 มี.ค.) ความเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ถูกถือเป็นความเร่งด่วนอย่างพิเศษผิดธรรมดา เนื่องจากปกติแล้วการพิจารณาทบทวนจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ผู้ที่ต้องการเทคโอเวอร์และผู้ถูกเทคโอเวอร์ได้ทำความตกลงกันแล้ว บ่อยครั้งที่สภาพความไม่แน่ไม่นอนว่าจะสามารถผ่านการสอบสวนทวนความในลักษณะเช่นนี้หรือไม่ (โดยที่มองกันว่าการทบทวนของ CFIUS มีลักษณะเน้นข้อพิจารณาทางการเมืองและขาดความโปร่งใส) กลายเป็นตัวบดบังดีลที่มีศักยภาพว่าจะเดินหน้าไปได้ ก่อนที่จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับดีลนั้นๆ เสียอีก

ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ CFIUS ได้ก้าวเข้ามาดำเนินการตรวจสอบซักไซ้การที่ต่างชาติต้องการเทคโอเวอร์กิจการบริษัทอเมริกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพวกสมาชิกรัฐสภาในกรุงวอชิงตันก็มีความเคลื่อนไหวที่จะผลักดันให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มขนาดขอบเขตอำนาจของหน่วยงานนี้ให้มากขึ้นด้วย

หมายเหตุผู้แปล

[1]

เรื่องสหรัฐฯขัดขวาง “บรอดคอม” ที่พยายามเข้าซื้อ “ควอลคอมม์” นี้ เอเชียไทมส์ยังมีข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่พูดถึงความคืบหน้าของกรณีนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้

ผวาจีนก้าวผงาด สหรัฐฯจึงรีบฆ่าดีล ‘บรอดคอม’ จะเทคโอเวอร์ ‘ควอลคอมม์’
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Fear of rising China: Broadcom deal killed in unprecedented move by US
By Asia Times staff
14/03/2018

เมื่อวันอังคาร (13 มี.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ออกมาขัดขวางดีลที่บริษัทบรอดคอม (Broadcom) ซึ่งปัจจุบันตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ เสนอตัวเข้าเทคโอเวอร์ ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารสัญชาติสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ก่อให้เกิดความตะลึงงันด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ทั้งนี้รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัททั้งสองยังไม่ทันที่จะตกล่องปล่องชิ้นอะไรกันเลย ขณะที่บรอดคอมก็กำลังอยู่ในกระบวนการโยกย้ายสำนักงานใหญ่ของตนกลับมายังสหรัฐฯอยู่แล้ว

การลงไม้ลงมืออย่างแข็งกร้าวของทางการสหรัฐฯเพื่อสกัดกั้นการเข้าซื้อกิจการในลักษณะเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนเลย เนื่องจากปกติแล้วดีลอย่างนี้จะมีการพิจารณาทบทวนกันก็ต่อเมื่อล่วงเลยถึงขั้นตอนท้ายๆ ของกระบวนการซื้อขายถ้าหากเกิดความวิตกเรื่องความมั่นคงแห่งชาติปรากฏขึ้นมา ดังนั้นกรณีที่ดูพิเศษผิดธรรมดากรณีนี้จึงมีแต่จะเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า สหรัฐฯกังวลมากมายขนาดไหนเกี่ยวกับบริษัทหัวเหว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลคอมสัญชาติจีน

นักวิเคราะห์บางรายให้เครดิตว่า ความเคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางการเทคโอเวอร์ครั้งนี้แหละ มีบทบาทในการดึงลากราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีให้ต่ำลงมาในการซื้อขายเมื่อวันอังคาร (13 มี.ค.) โดยที่ดัชนีหุ้นภาคเทคโนโลยีของ เอสแอนด์พี 500 ติดลบกว่า 1% (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnbc.com/2018/03/13/tech-stocks-sector-tumbling-on-trumps-broadcom-qualcomm-block.html)

สำหรับเรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องโยงใยอะไรกับหัวเหว่ยด้วย สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ปุจฉาและวิสัชนา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-03-13/how-china-s-huawei-killed-117-billion-broadcom-deal-quicktake) เอาไว้ดังนี้:

หัวเหว่ยมีบทบาทอะไรหรือในดีลระหว่างบรอดคอม กับ ควอดคอมม์?

ไม่มีหรอก หัวเหว่ย –ซึ่งไม่เคยเป็นนักล่าซื้อกิจการอย่างก้าวร้าวเลย— ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงใดๆ ในการเจรจาจัดทำดีลนี้ ทว่าหัวเหว่ยทอดเงาลางๆ อยู่เหนือการเจรจานี้ สืบเนื่องจากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของบริษัทนี้

แล้วทำไมต้องเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับหัวเหว่ยขึ้นมาล่ะ

คณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the US หรือ CFIUS) เป็นห่วงว่า บรอดคอมเมื่อซื้อควอลคอมม์แล้ว จะตัดลดเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของควอลคอมม์ ซึ่งจะกลายเป็นการเปิดทางให้หัวเหว่ยเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น ในเวลาที่พวกคู่แข่งอื่นๆ ทั้งหลายตั้งแต่ อีริคสัน ไปจนถึง โนเกีย ต่างกำลังก้าวขาไม่ค่อยออกเนื่องจากยอดใช้จ่ายในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมกำลังอ่อนตัวลง ในทางทฤษฎีแล้ว นี่ย่อมหมายถึงโอกาสสำหรับพวกบริษัทจีน อย่างเช่น หัวเหว่ย และคู่แข่งรายที่ไล่เข้ามาใกล้ที่สุดอย่าง แซดทีอี คอร์ป (ZTE Corp) ที่จะกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบในการนำร่องทิศทางของการพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย และด้วยเหตุนี้ –พวกที่อ้างเหตุผลข้อโต้แย้งจึงสาธกอธิบายต่อไปว่า— จึงกำลังเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ความวิตกห่วงใยของ CFIUS เกี่ยวกับดีลนี้ กล่าวกันว่ายังมีต้นตอมาจากสายสัมพันธ์ที่ บรอดคอม มีอยู่กับ หัวเหว่ย ซึ่งถูกแบล็กลิสต์เมื่อปี 2012 พร้อมๆ กับ แซดทีอี เมื่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯอ้างว่าบริษัททั้งสองก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคง


สรุปได้ว่า ดีลระหว่างบรอดคอม กับ ควอลคอมม์ ไม่ใช่การเข้าเทคโอเวอร์ของบริษัทจีนเลยด้วยซ้ำ แต่ก็ยังคงดึงดูดใจวอชิงตันให้เล็งเห็นว่าต้องทำการตรวจสอบสอบสวนกันอย่างเข้มข้น สืบเนื่องจากความหวาดกลัวที่ว่าจีนกำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเทคโนโลยี

เปรียบเทียบกันแล้ว การที่ จีลี่ (Geely) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน เดินหมากชวนเซอร์ไพรซ์ ในการกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ เดมเลอร์ (Daimler) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันเจ้าของแบรนด์ชื่อดังอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ดูเหมือนกำลังกลายเป็นการเปิดสัญญาณอันตรายดังลั่นในเบอร์ลินเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่ทำให้รู้สึกวิตกก็คือ วิธีการที่ จีลี่ จู่ๆ จากที่ไหนก็ไม่รู้ แต่กลับกำลังคืบคลานขึ้นมาบนเดมเลอร์” หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างคำพูดของ ส.ส.เคร์สทีน อันเดรียเออ (Kerstin Andreae) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรคกรีนส์ “วันดีคืนดี จู่ๆ ซีอีโอของเดมเลอร์ (ดีเทอร์ เซทเชอ Dieter Zetsche ) ตื่นนอนขึ้นมาก็พบว่าเขามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดรายใหม่แล้ว นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตมากในโครงสร้างผู้เป็นเจ้าของบริษัทเชียวนะ” (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.ft.com/content/391637d2-215a-11e8-a895-1ba1f72c2c11)

“สิ่งที่หวาดกลัวกันก็คือ จะด้วยวิธีการใดก็ตามที รัฐนั่นแหละอยู่เบื้องหลังดีลนี้ มีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เช่นเดียวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ผูกติดกับเรื่องนี้” สื่ออ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อาวุโสชาวเยอรมันรายหนึ่ง

หลี่ ซูฝู (Li Shufu) ประธานของจีลี่ ไม่ได้ช่วยทำให้กรณีของเขาดูดีขึ้นเลยในหมู่คนเยอรมัน เมื่อเขาพูดผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของจีนว่า การลงทุนในเดมเลอร์ของบริษัท มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน” และ “รับใช้ยุทธศาสตร์ระดับชาติของพวกเรา”

“คุณมีความรู้สึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า เยอรมนีกับจีนกำลังเปลี่ยนจากการเป็นหุ้นส่วน กลายไปเป็นคู่แข่งขัน กลายเป็นปรปักษ์กันเสียแล้ว” เดียร์ค ชมิดท์ (Dirk Schmidt) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศของจีน แห่งมหาวิทยาลัยทรีเออร์ (University of Trier) กล่าว “อารมณ์ความรู้สึกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจ คิดดูเถิดว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วขนาดไหน”

[2]

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ก็ได้เสนอรายงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการที่ทางการสหรัฐฯเข้าขัดขวางการเทคโอเวอร์ควอลคอมม์ ของบรอดคอม ซึ่งมีแง่มุมที่ช่วยให้มองกรณีนี้อย่างหยั่งลึกเพิ่มขึ้น จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้

‘ควอลคอมม์’ ยักษ์ใหญ่ด้านชิปตกอยู่หว่างกลางแรงบีบคั้นจาก ‘วอชิงตัน’ และ ‘ปักกิ่ง’
โดย แอดัม เจอร์แดน, สำนักข่าวรอยเตอร์

Balancing act: Chip giantQualcomm caught between Washington and Beijing
By Adam Jourdan
15/03/2018

เซี่ยงไฮ้ - ควอลคอมม์ อิงค์ บริษัทผู้ผลิตชิป ซึ่งทางการสหรัฐฯเพิ่งขัดขวางไม่ให้ถูกเทคโอเวอร์เนื่องจากหวาดกลัวว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ แท้ที่จริงก็กำลังเดินไต่อยู่บนเส้นลวดอยู่แล้ว เนื่องจากทั้งทำงานกับรัฐบาลและก็เป็นผู้รับเหมางานด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ทว่าปัจจุบันรายรับถึงราวสองในสามของบริษัทกลับมาจากประเทศจีน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งในวันจันทร์ (12 มี.ค.) ระงับไม่ให้ บรอดคอม ผู้ผลิตไมโครชิปที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ เข้าครอบครองกิจการ ควอลคอมม์ ในข้อเสนอซื้อที่มีมูลค่า 117,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยความวิตกกังวลว่าหากเรื่องนี้สำเร็จเสร็จสิ้น ก็จะทำให้จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบในการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายเจเนอเรชั่นต่อไป และเมื่อถูกวอชิงตันขัดขวางเช่นนี้ บรอดคอมจึงประกาศถอนข้อเสนอเทคโอเวอร์ของตนไปแล้ว

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้วาดภาพให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงฐานะอันกระอักกระอ่วนของควอลคอมม์ ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแซนดีเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯนั้น บริษัทเป็นผู้รับเหมารับจ้างทั้งกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล และทั้งเป็นผู้รับเหมารับจ้างกับกระทรวงกลาโหมด้วย และได้รับการพิจารณาว่าเป็นซัปพลายเออร์ที่ “เชื่อถือไว้วางใจได้” ขณะที่ในจีน นี่คือตลาดที่ทำรายรับให้มากที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณค่าธรรมเนียมไลเซนส์สิทธิบัตรที่ควอลคอมม์ได้รับจากพวกผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งหลาย เป็นต้นว่า แอปเปิล อิงค์, ซัมซุง, และ เสี่ยวมี่

เหนือขึ้นไปจากสภาวการณ์ที่กล่าวมานี้ก็คือ จีน, สหรัฐฯ, และยุโรปนั้นกำลังแข่งขันกันในเรื่องการพัฒนาเครือข่ายข้อมูลไร้สายเจเนอเรชั่นหน้า ที่เรียกกันว่า 5G สำหรับพวกโทรศัพท์เคลื่อนที่และก็สำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีการต่อเชื่อมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ใครก็ตามเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีนี้ จะเป็นฝ่ายที่มีศักยภาพได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ และรัฐบาลสหรัฐฯก็ไมปรารถนาเลยที่จะต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ผลิตโดยจีน

ผลก็คือ ควอมคอมม์ต้องประพฤติปฏิบัติตัวแบบคอยเลี้ยงตัวสร้างความสมดุลอย่างประณีตละเอียดอ่อน เพื่อให้สามารถเดินทางผ่านพ้นข้อพิพาททางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองทั้งหลายระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน โดยที่การก้าวอะไรผิดพลาดไปก็อาจสร้างความระคายเคืองให้แก่พวกผู้วางนโยบายและฝ่ายกำกับตรวจสอบของทั้งสองข้าง และเป็นผลเสียหายต่อธุรกิจตลอดจนดีลต่างๆ

“เรามองตัวเราเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเซมิคอนดักเตอร์จีน” คริสเตียโน อามอน (Cristiano Amon)ประธานบริหารของควอลคอมม์ เคยบอกรอยเตอร์เอาไว้เช่นนี้ ณ งานในกรุงปักกิ่งงานหนึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา “มันชัดเจนมากๆ ว่า 5G มีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกา และมันมีความสำคัญต่อจีน”

ควอลคอมม์อยู่ระหว่างรอคอยให้จีนอนุมัติข้อเสนอของบริษัทที่จะเข้าครอบครองกิจการบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดักเตอร์ เอ็นวี (NXP Semiconductors NV) ในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งกำลังพยายามซ่อมแซมความร้าวฉานในความสัมพันธ์ที่บริษัทมีกับพวกลูกค้าชาวจีน หลังจากที่ต้องจ่ายเงินค่าปรับเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์สำหรับวิธีปฏิบัติที่ต่อต้านการแข่งขันเมื่อปี 2015

บริษัทกำลังช่วยเหลือพวกกิจการของจีนอย่าง แซดทีอี (ZTE) และ ไชน่า โมไบล์ (China Mobile) ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และเกี่ยวข้องมีส่วนอยู่ในการทดลองพัฒนามาตรฐาน 5G ของประเทศจีน โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นบริษัทก็มีหุ้นส่วนทำนองเดียวกันนี้อยู่ในสหรัฐฯและยุโรปด้วย

กลัวว่าจะทำให้จีนได้เปรียบ

คณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the US หรือ CFIUS) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องที่บริษัทต่างชาติจะเข้าครอบครองกิจการบริษัทสหรัฐฯ แถลงว่า ข้อเสนอเทคโอเวอร์ของบรอดคอมม์นั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้ควอลคอมม์อ่อนแอลง และนั่นก็จะหนุนส่งจีนในการแข่งขัน 5G

การถูกบรอดคอมเทคโอเวอร์ อาจจะได้เห็นควอลคอมม์ตัดลดงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา หรือขายส่วนประกอบของบริษัทที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไปให้แก่ผู้ซื้อรายอื่น รวมทั้งพวกบริษัทที่อยู่ในจีน เหล่าเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์หลายรายมีความเห็นเช่นนี้

เมื่อความวิตกห่วงใยดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นมา บรอดคอมได้เร่งรีบออกปฏิบัติการแก้เกม ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าหากเทคโอเวอร์ได้แล้ว ก็จะลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี 5G ของควอมคอมมน์ และเร่งรัดโยกย้ายบริษัทบรอดคอมเองเข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ ทว่าแผนการนี้ยังคงไม่เป็นที่พึงพอใจของ CFIUS

การปะทะขัดแย้งครั้งนี้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความตกต่ำของบรอดคอม หลังจากเคยเป็นที่โปรดปรานในสหรัฐฯ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้เคยต้อนรับ ฮ็อค ตัน (Hock Tan) ซีอีโอของบริษัทนี้ที่ทำเนียบขาวเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ ตัน ได้ประกาศแผนการที่จะโยกย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทไปยังสหรัฐฯ และในเวลานั้น ทรัมป์ได้เรียกบรอดคอมว่าเป็น “หนึ่งในบริษัทที่มีความยิ่งใหญ่มากๆ อย่างแท้จริง”

บรอดคอม ในการนำของ ตัน ผู้ประกอบการชาวมาเลเซียที่สำเร็จการศึกษาจากฮาร์วาร์ด ได้เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วด้วยวิธีการเข้าซื้อหาครอบครองกิจการ ตันนั้นเป็นนักทำดีลที่รุกหนัก และสร้างยักษ์ใหญ่ด้านชิปมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์รายนี้ ขึ้นมาจากธุรกิจที่มีมูลค่าเพียงแค่ 3,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2009

จนกระทั่งมาถึงการยื่นขอซื้อควอลคอมม์ ดีลใหญ่ที่สุดของ ตัน ก่อนหน้านี้ได้แก่ การเทคโอเวอร์บรอดคอม ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ แล้วบริษัทของ ตัน ที่ตอนนั้นใช้ชื่อว่า อวาโก เทคโนโลยีส์ (Avago Technologies) จึงเปลี่ยนมาใช้นามบรอดคอมแทน

ความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน

กลับมาที่ ควอลคอมม์ พวกผู้บริหารยอมรับว่าบริษัทมีความสัมพันธ์อันสับสนซับซ้อนอยู่ในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทแดนมังกรอย่างเช่น หัวเหว่ย ซึ่งกำลังเป็นหัวหอกในการผลักดันเดินหน้าเรื่อง 5G ของจีน

“ความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่กับหัวเหว่ยนั้นซับซ้อนทีเดียว ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามันเหมาะสมที่จะใช้คำๆ นี้หรือไม่” อามอนพูดในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมกับเสริมว่า บริษัทคือซัปพลายเออร์รายใหญ่รายหนึ่งของหัวเหว่ย ขณะเดียวกันก็กำลังเป็นคู่แข่งกับหัวเหว่ยในเรื่องธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์

ถึงแม้หัวเหว่ยอยู่ในฐานะอันเข้มแข็งที่จะกลายเป็นผู้ซัปพลายเครื่องมืออุปกรณ์เครือข่าย 5Gในตลาดใหญ่ๆ จำนวนมาก (โดยน่าสังเกตว่ามีข้อยกเว้นที่ตลาดสหรัฐฯ) แต่หัวเหว่ยก็ยังต้องขอไลเซนส์ใช้เทคโนโลยีบางอย่างจาก ควอลคอมม์ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเกี่ยวกับ 5G มากยิ่งกว่าบริษัทอื่นใดทั้งหลายในโลกนี้

การรักษาความสัมพันธ์กับจีนเอาไว้ให้อยู่กับร่องกับรอย คือกุญแจสำคัญที่สุดสำหรับควอลคอมม์ ขณะที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแดนมังกรอย่างเช่น ออปโป, วิโว่, และเสี่ยวมี่ กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และในขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าในวงกว้างระหว่างสหรัฐฯกับจีนก็รุนแรงขึ้นทุกที

ทรัมป์กำลังหาทางที่จะประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้ามูลค่ารวม 60,000 ล้านดอลลาร์จากจีน โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ภาคเทคโนโลยีและภาคสื่อสารโทรคมนาคม บุคคล 2 รายที่ได้เคยหารือประเด็นนี้กับคณะบริหารทรัมป์เปิดเผยกับรอยเตอร์

“ผมอยากจะจินตนาการว่า ความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ในประเทศจีน และบางทีอาจจะรวมไปถึงการอยู่ร่วมกันการพึ่งพาอาศัยกันของความสัมพันธ์ดังกล่าว จะแสดงบทบาทที่แข็งแรงมาก ต่อทัศนะของพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบ (ของฝ่ายจีน) ในเวลามองเกี่ยวกับอนาคตของควอลคอมม์” อามอนพูดเช่นนี้เมื่อเดือนมกราคม

ในอีกด้านหนึ่งกรณีเทคโอเวอร์ของบรอดคอม ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นสำหรับพวกบริษัทสหรัฐฯที่ทำธุรกิจอยู่ในจีน

“มันเป็นฐานะที่ไม่น่าอิจฉาเลย เพราะพวกเขาต้องพึ่งอาศัยจีนเป็นอย่างมาก” แอนดริว กิลโฮล์ม (Andrew Gilholm) ผู้อำนวยการด้านการวิเคราะห์เรื่องจีนและเอเชียเหนือ ของ คอนโทรล ริสค์ส (Control Risks) บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง กล่าวถึง ควอลคอมม์

“พวกเขาถือได้ว่าเป็นกรณีสุดโต่ง แต่เนื่องจากว่ามีภาคส่วนเศรษฐกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกำลังถูกพิจารณาว่า “มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์” จากทัศนะมุมมองทางความมั่นคงแห่งชาติอันซับซ้อน จึงหมายความว่ามีบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ประเภทนี้ นั่นคือกำลังถูกบีบถูกอัดอยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐฯกับจีน”


กำลังโหลดความคิดเห็น