รอยเตอร์ - บรรดาผู้นำการเงินของญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์ผนึกกำลังต่อต้านลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ทุกรูปแบบในการประชุมไตรภาคีที่เมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่นวันนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งนับเป็นการประกาศจุดยืนแข็งกร้าวต่อนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
“เราต่างเห็นพ้องกันว่า การค้าเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดต่อการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมการฟื้นฟูผลิตภาพและการจ้างงาน” รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของทั้ง 3 ชาติระบุในแถลงการณ์ร่วม หลังสิ้นสุดการประชุม
ประเด็นที่น่าสนใจของแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้คือข้อความที่ว่า “เราจะต่อต้านลัทธิกีดกันการค้าทุกรูปแบบ” ซึ่งเคยถูกสหรัฐฯ กดดันให้ลบออกจากแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G20 ที่เยอรมนี เมื่อเดือน มี.ค.
จีนได้โอกาสแสดงตนเป็นชาติที่สนับสนุนการค้าเสรี หลังจากที่ ทรัมป์ ชูนโยบายเห็นแก่ประโยชน์ของสหรัฐฯ มาเป็นที่หนึ่ง หรือ “อเมริกาเฟิสต์” และนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าพหุภาคีหลายฉบับ
การหารือนอกรอบ 3 ฝ่ายถูกจัดขึ้นระหว่างการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ที่เมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันจีนได้เข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในด้านทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure finance) และอาจทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอิทธิพลทางเศรษฐกิจในด้านนี้
ทาเกฮิโกะ นากาโอะ ประธานเอดีบี ออกมาปฏิเสธมุมมองที่ว่าญี่ปุ่นกับจีนกำลังแข่งกันขยายอิทธิพลในด้านการเงิน โดยระบุวานนี้ (4) ว่า เอดีบีเป็นสถาบันการเงินที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ไม่ใช่การแข่งขัน
การหารือครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่กำลังสร้างความตึงเครียดอย่างหนัก และทำให้ผู้กำหนดนโยบายบางคนเริ่มเป็นกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในเอเชีย
แถลงการณ์ร่วม 3 ฝ่ายระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียยังมีแนวโน้มที่จะ “เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” แต่ก็เตือนถึงความเสี่ยงหลายประการที่ยังมีอยู่ ซึ่งหมายความว่าผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศจะต้องใช้ทุกวิธีที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นยอดการเติบโตให้ได้ตามเป้า
“จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะมีการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือความผันผวนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” แถลงการณ์ร่วมระบุ
ในการประชุมแยกต่างหาก ญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมวงเงินสูงสุด 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลโตเกียวสามารถอัดฉีดเงินทุนให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ ขณะที่อาเซียนเองก็จะลดการพึ่งพาเงินทุนสกุลดอลลาร์สหรัฐได้ด้วย
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่านี่เป็นความพยายามของญี่ปุ่นที่จะคานอิทธิพลจีน ซึ่งปัจจุบันมีข้อตกลงสว็อปค่าเงินกับ 30 ประเทศทั่วโลกเพื่อยกสถานะเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ