ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทันทีที่ “คดีฆ่าหั่นศพยัดตู้เย็น” ได้รับการเปิดเผยต่อสู่สาธารณะ หลักฐานชี้ชัดเป็นมาตุฆาต “ลูกฆ่าแม่” กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะประเด็นลูกชายมีอาการป่วย “โรคซึมเศร้า” ที่มีความย้อนแย้งกับพฤติกรรมโหดเหี้ยม เพราะโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าคนรอบข้าง
กล่าวสำหรับ คดีฆ่าหั่นศพยัดตู้เย็น “น.ส.ยุรีย์ เถาวัลย์” หรือ “แม่ติ๊ก” อายุ 42 ปี แม่เลี้ยงเดี่ยว ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับไฟแนนซ์รถยนต์ วัตถุพยานหลักฐานบ่งชี้ไปที่บุตรชาย “นายศิระ สมเดช” หรือ “กาย” อายุ 20 ปี นักศึกษาปีที่ 2 คณะวิศวคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งมีอาการป่วยโรคซึมเศร้า ภายหลังเหตุการณ์เปิดเผย ใช้ปืน .38 ยิงตัวเองบาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลด
“จากผลการชันสูตรศพแม่ พบว่า การหั่นศพใช้วิธีนำมีดมาวางแล้วใช้ค้อนตอก เพราะบนมีดมีรอย ส่วนห้องน้ำบนบ้าน ก็เจอคราบเลือดกระจายไปทั่ว โดยนำชิ้นส่วนศพล้างในห้องน้ำ จากนั้นก็นำชิ้นส่วนทั้งหมดล้างเลือดให้สะอาด แล้วก็เอาชิ้นส่วนแม่ใส่ในถุงพลาสติก แล้วเอามาแช่ตู้เย็น” พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวหลังเข้าตรวจสอบที่เหตุ พยานหลักฐานทั้งลายนิ้วมือ เขม่าดินปืน รวมถึงกล้องวงจรปิดไม่มีคนอื่นเข้ามาในบ้าน ยืนยันว่าลูกชายลงมือฆ่าแม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ยังไม่ทราบแรงจูงใจซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทว่า ความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น ทำให้สังคมเกิดคำถามขึ้นมากมาย ทั้งกรณีกลุ่มเพื่อนแม่ผู้พบชิ้นส่วนศพในตู้เย็น ตำรวจผู้เป็นพยานในเหตุการณ์ลูกชายชักปืนยิงตัวตาย กล้องวงจรปิดที่ไม่สามารถบันทึกภาพแฟนสาวของนายศิระขณะไปร่วมทานอาหารในวันเกิดเหตุ รวมทั้งเป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง เพราะ น.ส.ยุรีย์ ทำงานด้านไฟแนนซ์รถยนต์เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การที่สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจงว่า วัตถุพยานหลักฐานทั้งหมดชี้ไปยังนายศิระ สะท้อนให้เห็นว่า “ประชาชนไม่มั่นใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 กำชับให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำให้คลี่คลายในทุกประเด็น ระบุว่าคดีดังกล่าวโดยส่วนตัว “ไม่ขอยืนยันว่าเป็นฝีมือลูกหรือมีบุคคลอื่น” ต้องรอการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ความจริง คาดว่าใช้เวลาประมาณสัปดาห์
ส่วนทางครอบครัวผู้ตายไม่อาจปักใจเชื่อว่า นายศิระลูกชายสามารถลงมือก่อเหตุฆ่าหั่นศพผู้เป็นแม่แท้ๆ ของตน จะรอฟังผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น สุดท้าย หากนายศิระลงมือฆ่าแม่ของตัวเองจริง ก็คงมีแต่เขาเท่านั้นที่บอกได้ว่าเหตุผลคืออะไร
ประเด็นสำคัญคือ คดีฆ่าหั่นศพยัดตู้เย็น ทำให้เกิด “ภาพจำ” สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ต้องเข้าใจว่าคนป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าทำร้ายคนรอบข้าง
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า นายศิระ ผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมเคยเข้ามารับการรักษาที่สถาบัน 2 ครั้ง ครั้งแรกมากับ น.ส.ยุรีย์ ผู้เป็นแม่ ครั้งที่ 2 มาด้วยตัวเอง ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถระบุว่า นายศิระป่วยเป็นโรคจิตเวชประเภทใดอย่างชัดเจน เนื่องจากครั้งแรกจะการประเมินเพียงคร่าวๆ ก่อนที่จะมีการตรวจรายละเอียด ประเมินสุขภาพจิต ตรวจทางด้านจิตวิทยาในครั้งถัดไป เนื่องด้วยยังไม่ได้ตรวจประเมินอย่างละเอียด แต่เท่าดูจากอาการเบื้องต้นมีอาการเครียดและมีภาวะซึมเศร้า และได้มีการจ่ายยาไปก่อน
สำหรับอาการโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะทำร้ายตัวเองมากกว่า เพราะมีอาการมองตัวเองในแง่ลบ หดหู่ นพ.ธรณินทร์ กล่าวโดยสรุปว่า โรคซึมเศร้าน้อยมากที่จะไปทำร้ายผู้อื่น โรคจิตเวชมีหลายกลุ่มโรค ส่วนโรคทางจิตเวชที่มีการทำร้ายผู้อื่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจิตเวชรุนแรงที่ควบคุมอาการตัวเองไม่ได้ อาทิ หูแว่ว ประสาทหลอน มีเสียงสั่ง หรือร่วมกับการดื่มสุรา มีการใช้สารเสพติด ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือยับยั้งชั่งใจไม่ได้ หรืออีกกลุ่มคือกลุ่มบุคลิกต่อต้านสังคม เป็นต้น
สอดคล้องกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการฆ่าหั่นศพที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า ลูกชายเป็นผู้ต้องหาลงมือฆ่าแม่ตัวเอง มีประวัติเข้ารักษาอาการโรคซึมเศร้านั้น คดีมีความซับซ้อนต้องรอข้อมูลต่างๆ ประกอบให้ชัดเจนก่อนสรุปสาเหตุ
สถิติจากงานวิจัยในต่างประเทศที่มีการศึกษาคดีทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิตต่างๆ พบว่า มีเพียง10-15 เปอร์เซ็นต์ของคดีเท่านั้นที่เกิดจากผู้ป่วยทีมีปัญหาด้านสุขภาพจิตระดับรุนแรง ได้แก่ โรคทางจิตที่มีอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง อย่างรุนแรง โรคทางจิตเวชที่ซับซ้อนหลายโรคร่วมกัน รวมถึงภาวะการใช้สารเสพติดร่วมด้วย
ย้ำว่าผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตทั่วไประดับที่ไม่รุนแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล แม้มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองที่สูงกว่าคนทั่วไป แต่ความเสี่ยงในการทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ต่างจากสถิติของคนทั่วไป ที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าทำร้ายคนรอบข้าง
"การด่วนสรุปว่า คดีสะเทือนขวัญต่างๆ เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตทั่วไปเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และอาจสร้างตราบาปต่อผู้ที่กำลังบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตอยู่ในสังคม ทั้งนี้ การที่สังคมให้ความสนใจต่อเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากเหตุโศกนาฏกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยจิตเวชเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก " นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคดีฆาตกรรม “ฆ่าหั่นศพ” ในเมืองไทยเป็นข่าวครึกโครมอยู่หลายครั้ง แน่นอนว่า ทุกครั้งมักเป็นที่สนใจของประชาชนเพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ โดยเฉพาะคดีนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นมาตุฆาต และมีความเป็นไปได้ว่าลูกอาจลงมือกระทำเพียงคนเดียว
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ข้อมูลว่าการฆ่าหั่นศพสามารถกระทำเพียงคนเดียวได้ โดยอาศัยปัจจัย คือ ขนาดตัวของผู้ก่อเหตุ, ขนาดตัวของผู้เสียชีวิต, อาวุธหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุ และทักษะประสบการณ์ของผู้ก่อเหตุ
“ผู้ก่อเหตุอาจไม่จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ใดๆ มาเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของการทำลายศพมาเลยก็ได้ เพราะการก่อเหตุฆ่าหั่นศพอาจมีแรงจูงใจมาจากความโกรธแค้น หรือมาจากสัญชาตญาณ” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
ทั้งนี้ “คดีฆ่าหั่นศพยัดตู้เย็น” นับเป็นภาพสะท้อนว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นในระบบการสืบสวน ไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดปรากฎการณ์ “นักสืบโซเชียลฯ” แสวงหาข้อเท็จจริงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา