xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“โอ๊ค” เฮไม่สุด - อัยการรออุทธรณ์ ผู้พิพากษาเห็นแย้งต้องคุก 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไปกันทั้งครอบครัว-แม่ น้องสาว 2 คนและน้องเขย 2 คน ร่วมกำลังใจ “พานทองแท้  ชินวัตร” ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางใน “คดีฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร
ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รอดตัวไปในยกแรก

สำหรับ “ลูกโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯผู้หลบหนีคดีอยู่ต่างแดน หลัง ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ตัดสินยกฟ้อง คดีทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร

ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 และได้มีการไต่สวนมาเป็นเวลาร่วมปี ก่อนนัดตัดสินไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยสำนวนฟ้องบรรยายพฤติการณ์ของ “พานทองแท้” ว่าได้รับโอนเงินเป็นเช็ค จำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัด ซึ่งมีการกล่าวหาว่า เงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี วิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับ รัชฎา กฤษดาธานนท์ ลูกชายของวิชัย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลย

ทั้งนี้ “วิชัย - รัชฎา” ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกไปแล้ว

ขณะที่คดีของ “โอ๊ค” นั้น ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเห็นว่า เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ “ยังไม่มีน้ำหนัก” ให้รับฟังได้ว่า “พานทองแท้” รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่ “วิชัย” โอนเข้าบัญชีว่า ได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย

อีกทั้งขณะรับโอน “พานทองแท้” ที่มีฐานะเป็นลูกนายกฯ มีทรัพย์สินมากกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้นเงิน 10 ล้านบาทที่ได้รับ เทียบเป็นเงินเพียง 0.025% ของทรัพย์สินที่มีอยู่เท่านั้น พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง

“เส้นทางการเงินดังกล่าวเป็นไปด้วยความเปิดเผย ไม่ปิดบัง หรือซุกซ่อน หรืออำพรางแต่อย่างใด นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินได้ตลอดเวลา ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลภายหลังได้ ไม่ใช่เป็นการปกปิด หรืออำพรางการได้มา  พฤติการณ์จึงยังเชื่อไม่ได้ว่านายพานทองแท้ ได้เงินจากนายวิชัยมาจากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่รู้ หรือเชื่อว่าไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการกระทำความผิด คดีจึงฟังไม่ได้ว่าสมคบกับนายวิชัยในการฟอกเงิน” คำพิพากษาระบุ

ถือเป็นข่าวดีอีกครั้งของ “ครอบครัวชินวัตร” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “ชินวัตรคนพ่อ” ก็เพิ่งรอดตัวจากคดีทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ที่เป็นผลพวงจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่พบว่า ผู้บริหารและบอร์ดกรุงไทย พิจารณาปล่อยกู้เงิน 9,900 ล้านบาทให้กับผู้บริหารกลุ่มกฤษดามหานคร

ต่อมาเมื่อเรื่องถึงชั้นศาล อัยการได้ยื่นฟ้อง “ทักษิณ” อดีตนายกฯเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะที่สั่งให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฤษดามหานคร พร้อมกับจำเลย 26 คน

แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยกฟ้อง “ทักษิณ” เช่นกัน เพราะเห็นว่าหลักฐานของอัยการยังไม่มีน้ำหนักที่จะเอาผิด เมื่อ 30 ส.ค. 2562 นี่เอง

แต่ที่จั่วหัวไปว่า “โอ๊ค” รอดตัวไปในยกแรก ก็ด้วยคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พ.ย.นั้น เป็นเพียง “ศาลชั้นต้น” เท่านั้น และ “พานทองแท้” อาจเฮได้ไม่สุดเสียง เพราะทางอัยการก็มีคิวที่ต้องอุทธรณ์คดีตามหน้าที่อยู่

ตามกระบวนการแล้ว อัยการในฐานะโจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559 ที่กำหนดว่าต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคําพิพากษา

โดยขึ้นกับว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือยุติไม่ดำเนินการต่อ

ที่น่าสนใจก็คือ ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเกิดความเห็นแย้งกันขึ้น ภายใต้การพิจารณาข้อกฎหมายเดียวกัน

โดย “หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษา” ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา 2 ราย ได้ยืนยันความเห็นว่า ควรพิพากษาลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี โดยในคำพิพากษาศาลฉบับเต็ม และแนบความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไว้

ตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า “เอ๊ะ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” เพราะ “องค์คณะผู้พิพากษา” มีแค่ 2 ราย และทั้ง 2 รายก็มีความเห็นไปคนละทาง โดยคนหนึ่ง “ยกฟ้อง” ขณะที่อีกคนหนึ่งวินิจฉัยให้มีความผิด และต้องโทษ “จำคุก 4 ปี”

ทว่า ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้บทสรุปของคำพิพากษาออกมาเป็น “ยกฟ้อง” ก็เพราะเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่บัญญัติว่า  ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก

“ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า” กฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น

จึงเชื่อว่า “ความเห็นแย้ง” ของผู้พิพากษาที่ให้ลงโทษจำคุก “พานทองแท้” 4 ปี ดังกล่าว น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทางพนักงานอัยการจะต้องนำไปใช้ในกระบวนการอุทธรณ์ต่อไป

ยกแรกรอดไปได้ ยังมียก 2-3 ให้ลุ้นต่ออีก.


กำลังโหลดความคิดเห็น