ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ 2 ตัวละครสำคัญคือ “นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์” และ “พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์” ในคดีพิพาทมรดกเลือด 3,800 ไร่ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่า คดีพิพาทคดีนี้จะเต็มไปด้วยความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่พอสมควร ถึงขั้นต้องจำแนกแยกแยะว่า ใครเป็นใคร และใครอยู่ฝ่ายไหนกันเลยเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ มี “ตัวละครสำคัญ” ที่ต้องถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อพิพาทดังกล่าวปรากฏออกมาให้เห็น นั่นก็คือ “นายบุญช่วย เจริญสถาพร”
นายบุญช่วยคือ “น้องชาย” ของ “พระเทพกิตติปัญญาคุณ” หรือ “พระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ” แห่ง “จิตตภาวันวิทยาลัย” อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งติดต่อขอซื้อดินผืนดังกล่าวจาก “นายสมพล โกศลานันท์” ในนาม “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” ด้วยเงินจำนวน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2513
นายบุญช่วยก็คือคนที่ว่าจ้าง “นายบัญชา ปรมีคณาภรณ์” ให้มาเป็นทนายในการทำคดี และเมื่อสืบค้นข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า นายบัญชามิได้เกี่ยวพันอะไรกับตระกูลโกศลานันท์ และนางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์ ภรรยาของนายบัญชา ซึ่งทีแรกเข้าใจว่าเป็นลูกสาวของนายสมพลก็ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกากับโกศลานันท์เช่นกัน
ปัจจุบัน นายบุญช่วยมีอายุ 78 ปี และน่าสืบค้นเป็นอย่างยิ่งว่า มี “ใคร” ที่อยู่เบื้องหลังนายบุญช่วย รวมทั้งอยู่เบื้องหลังทนายบัญชาอีกหรือไม่
ขณะที่ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ก็คือ อดีตสามีของ “เขมจิรา บัณฑูรนิพิท” ซึ่ง น.ส.เขมจิรา ก็คือลูกสาวของ นางภาพร(ชื่อเดิมพรรณี) อุดมโพธิพร (โกศลานันท์) บุตรสาวคนโตของ “ นายสมพล โกศลานันท์” เจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว
และคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากการที่นายบุญช่วยอ้างว่า ที่ดิน 3,800 ไร่ บ้านตาเลียว ต.เขาแก้ว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมของตัวเอง ขณะที่ “โกศลานันท์”ฝั่ง“เขมจิราและพล.ต.ต.ธารินทร์” ไม่ยินยอมด้วยต้องการให้ที่ดินผืนนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ตามเจตนารมณ์ที่นายสมพลปรารถนา
เหตุที่ต้องใช้คำว่า “โกศลานันท์”ฝั่งที่มี “เขมจิรา และพล.ต.ต.ธารินทร์” ก็เพราะมี “โกศลานันท์ส่วนหนึ่ง” ถูกตั้งคำถามว่า เป็นฝั่งเดียวกับนายบุญช่วยหรือไม่ ด้วยได้ไปเซ็นยินยอมยกที่ดินให้กับนายบุญช่วย นั่นก็คือ นายเรวัติ โกศลานันท์ นายกำพล โกศลานันท์และนายเกษม โกศลานันท์
ทั้งนี้ ปัญหาของคดีเป็นผลมาจากการที่ พระกิตติวุฑโฒมรณภาพโดยที่มิได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการซื้อขายที่ดินผืนดังกล่าวกระทำในนาม “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” มิได้กระทำในนามส่วนตัวและยังมิได้มีการชำระเงินค่าที่ดินให้เสร็จสิ้น คดีพิพาทจึงเกิดขึ้นและบานปลายฟ้องร้องกันอินุงตุงนังไปหมด
ขณะที่ทาง “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” เอง ก็ดูเหมือนจะมิได้ต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ดินผืนนี้กลับมาจากนายบุญช่วยอย่างเอาจริงเอาจัง แถมยังกลับไปเป็นพยานให้กับฝ่ายนายบุญช่วยอีกต่างหาก
จะว่าไปก็น่าจะคล้ายๆ กับกรณี “ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” ของ “คุณยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา” ที่มีความประสงค์ยกที่ดิน 730 ไร่เศษ บริเวณคลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยต้องการให้วัดเก็บค่าเช่าและนำเงินมาทำนุบำรุงพระศาสนา ก่อนที่จะถูกเล่นแร่แปรธาตุกระทั่งกลายเป็นสนามกอล์ฟ เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดบ้างเท่านั้น
ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอีกครั้ง
เริ่มจากฝั่งนายสมพล โกศลานันท์ มีบุตรรวมทั้งหมด 6 คนด้วยกันคือ นางภาพร อุดมโพธิพร (โกศลานันท์) นายเรวัติ โกศลานันท์ นายกำพล โกศลานันท์ นายเกษม โกศลานันท์ นางสาวดวงธิดา โกศลานันท์ และนางสาวสุกัญญา โกศลานันท์
ขณะที่ทางด้านพระกิตติวุฑโฒมีน้องที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ 3 คนคือ นายชูศักดิ์ เจริญสถาพร นายบุญช่วย เจริญสถาพรและ น.ส.สมนึก เจริญสถาพร โดยคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ก็คือ นายบุญช่วย ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พระกิตติวุฑโฒให้เป็นผู้ดูแลสวนหรือที่ดินผืนดังกล่าว
พระกิตติวุฑโฒที่โด่งดังเป็นพลุแตกในขณะนั้น และไม่ต่างจาก “อดีตพระเดชพระคุณหลวงพ่อธมฺมชโย” แห่ง “วัดพระธรรมกาย” ในขณะนี้ ได้มีนโยบายต้องการซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อนำมาเป็นที่กัลปนาผล คือ นำดอกผลมาบำรุงพระศาสนา จึงได้ก่อตั้ง มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ ขึ้น เพื่อบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะทำเป็นวิทยาลัยเกษตรของสงฆ์ ให้ลูกหลานชาวบ้านมาเรียนเกี่ยวกับการเกษตรพืชผล จบแล้วให้ทำเกษตร ณ ที่เหล่านั้นเลย แล้วนำดอกผลทั้งหมดมาบำรุงพระศาสนา ส่วนหนึ่งจะทำเป็นที่ฝึกสมาธิวิปัสสนานานาชาติ ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระไตรปิฎกและอื่นๆ
นายสมพลได้ฟังโครงการจึงเกิดศรัทธา และยินดีขายที่ดินจำนวน 86 แปลงเนื้อที่ 3,800 ไร่ให้ในราคาแบบทำบุญคือตกอยู่ที่ไร่ละ 3,000 บาท เป็นจำนวนเงินรวม 12 ล้านบาท โดยพระกิตติวุฑโฒได้ขอซื้อแบบผ่อนชำระ พร้อมทั้งเรี่ยไรผู้มีจิตศรัทธามาบริจาคซื้อที่ดิน
ทว่า การซื้อขายที่ดินไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กระทำเพียงการส่งมอบการครอบครอง และที่สำคัญคือกระทั่งนายสมพลเสียชีวิตในปี 2538 พระกิตติวุฑโฒก็ยังมิได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้ครบ
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อพระกิตติวุฒฺโฑ มรณภาพในปี 2548 และนายบุญช่วย เจริญสถาพร ซึ่งเป็นน้องชายของพระกิตติวุฒฺโฑ และเป็นผู้ดูแลที่ดินผืนดังกล่าวได้อ้างสิทธิ์ว่า ตนเองเป็นผู้ซื้อที่ดิน 3,800 ไร่นั้น แต่ยังไม่มีการโอนโฉนดกัน
และในห้วงเวลานั้นเองทางราชการได้ประกาศให้นำที่ดินซึ่งเป็น น.ส.3 ก. ไปออกโฉนดได้ นายบุญช่วยจึงได้ค้นหาเอกสารสิทธิที่นายสมพลมอบให้ แต่หาไม่พบ จึงจ้างบริษัทเอกชนสำรวจและทราบว่ามีอยู่จำนวน 3,800 ไร่ จากนั้นจึงไปขอออกเอกสารสิทธิที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและขอออกเป็นโฉนดที่ดิน แต่สำนักงานที่ดินแจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องมีคำสั่งศาลมาแสดง
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พ.ค.50 นายบุญช่วยพร้อมด้วย นายบัญชา ได้นำ “หนังสือรับรองการซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทำการซื้อขาย” มาให้ “นายเรวัติ โกศลานันท์” ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของนายสมพลเซ็นรับทราบว่าได้มีการขายที่ดิน 85 แปลงให้กับนายบุญช่วย แต่เพียงผู้เดียว โดยมี “นางพรรณวดี โกศลานันท์” ภรรยาของนายเรวัติเซ็นเป็นพยาน
ขีดเส้นใต้ตรงชื่อ “เรวัต โกศลานันท์” สองเส้น เพราะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อคดีนี้
คำถามที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ก็คือ นายสมพลมีบุตรธิดารวม 6 คน ทำไมนายเรวัติถึงเซ็นรับทราบการขายที่ดินให้กับนายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่ดินดังกล่าวต้องถือเป็นมรดกร่วมของทายาท
จากนั้น เมื่อวันที่ 19 ก.ค.50 นายบุญช่วย ได้อาศัยหนังสือรับรองการซื้อขายฯดังกล่าว มาฟ้องนายเรวัติต่อศาลจันทบุรี เป็นคดีแพ่งที่ 1420 /2550 เพื่อให้นายเรวัติ โอนโฉนดทั้งหมดให้ตนเอง โดยมีนายบัญชา เป็นทนายฝ่ายนายบุญช่วย และได้นำทนายสำนักงานเดียวกันกับตนเองคือ นายเจต จึงประเสริฐศรี มาเป็นทนายให้ฝ่ายนายเรวัติด้วย และแถลงศาลว่า คู่ความตกลงกันได้แล้ว ศาลจึงพิพากษาให้คดีเด็ดขาดตามสัญญายอม และคืนเงินประกันศาลให้นายบุญช่วย จำนวน 175,000 บาท
มีประเด็นที่น่าสนใจตรงนี้ เพราะนายบุญช่วยฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายเรวัติที่ยินยอมเซ็นรับทราบการขายที่ดินให้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นการ “เกี้ยเซี้ยะ”เพื่อให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ มิได้เกิด “ความขัดแย้ง” ระหว่างกันขึ้นจริงๆ
คำถามก็คือนายเรวัติรู้หรือไม่ว่า ที่ดินผืนดังกล่าวจะมิได้ตกเป็นของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ หากแต่จะตกเป็นของนายบุญช่วยแต่เพียงผู้เดียว หรือเข้าใจว่านายบุญช่วยดำเนินการในนามของมูลนิธิฯ หรือมีอะไรที่ “มากไปกว่านี้”
สิ้นสุดการฟ้องนั้น ศาลได้ออกหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทั้งสองฝ่าย โดย มีเงื่อนไข 6 ข้อ คือ 1.นายเรวัติรับว่าเป็นทายาทผู้รับมรดกนายสมพลจริง2.นายเรวัติตกลงจดทะเบียนโอนสิทธิ์ที่ดิน 86 แปลงให้นายบุญช่วย 3.ทั้งสองฝ่ายหา น.ส.3 ที่ดิน 86 แปลงไม่เจอ อนุญาตให้นายบุญช่วยดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินใหม่กับสำนักงานที่ดินได้ 4.ให้นายบุญช่วย ชำระค่าธรรมเนียมการโอนเอง 5. ให้ทั้งสองฝ่ายถือเอาตามสัญญานี้ และ 6.ทั้งสองฝ่ายจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก
ต่อจากนั้นนายบุญช่วย ได้นำสัญญาประนีประนอมดังกล่าว ไปขอขึ้นเป็นโฉนดที่ดิน ที่สำนักงานที่ดินสาขา อ.มะขาม จ.จันทบุรี
และปัญหาก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.50 สำนักงานที่ดินสาขา อ.มะขาม ทำหนังสือถึงศาลจันทบุรีว่า สัญญาประนีประนอมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงปฏิเสธการโอนโฉนดที่ดินให้นายบุญช่วย และต่อมาได้ทำหนังสือถึงศาลจันทบุรีอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่านายบุญช่วย ได้นำคำพิพากษาตามยอมนั้นไปแสดงต่อสำนักงานที่ดินเพื่อให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ตนเอง แต่ทางที่ดินยังคงยืนยันว่า เมื่อนายสมพล โกศลานันท์ถึงแก่กรรมแล้ว นายเรวัติ เป็นเพียง “ทายาทคนหนึ่ง” ซึ่งมีสิทธิ์รับมรดกของนายสมพล เท่านั้น ไม่น่าจะใช้คำพิพากษาตามยอมนั้นโอนสิทธิ์ตามกฎหมายได้
ทว่า ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนก็ได้เกิดขึ้นอีกคำรบ เมื่อนายบุญช่วย กับนายบัญชา ได้กลับไปให้บุตรนายสมพลอีก 2 คน คือ นายกำพล โกศลานันท์ และนายเกษม โกศลานันท์ ทำหนังสือยืนยันกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้โอนที่ให้นายบุญช่วย และสุดท้ายศาลก็มีคำพิพากษาให้ที่ดินตกเป็นของนายบุญช่วย
อย่างไรก็ดี เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อทายาทคนอื่นๆ ทราบเรื่องจึงแปลกใจและตั้งคำถามว่า นายสมพลได้ขายที่ดินดังกล่าวให้กับมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ โดยมีพระกิตติวุฒฺโฑเป็นผู้เจรจาซื้อขาย และวัตถุประสงค์ของการขาย ก็เพื่อทำประโยชน์ให้พระพุทธศาสนา แต่ทำไมจึงกลายเป็นนายบุญช่วย เป็นคนซื้อและได้ที่ดินนั้นไป
นางภาพร ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของนายสมพล จึงออกแสวงหาข้อเท็จจริง โดยไปยื่นเรื่องต่อมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ และจิตตภาวัน รวมทั้ง ดีเอสไอ และกองปราบด้วย เพื่อให้พิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ จากนั้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 54 ทายาท 3 คนคือ นางพรรณี โกศลานันท์ หรือ (ภาพร อุดมโพธิพร) น.ส.ดวงธิดา โกศลานันท์ และนางสุกัญญา ตั้งรัตนาวลี ร่วมกันเป็นผู้มอบอำนาจให้ น.ส.นันจา บัณฑูรนิพิท(หรือ เขมจิรา ) ดำเนินการตามกฎหมาย
และศาลฎีกาก็ยืนยันตามสัญญาประนีประนอมตัดสินให้ ฝ่ายตระกูลโกศลานันท์แพ้คดี
จากนั้นทำให้นายบุญช่วย ฟ้องกลับ และทั้งสองฝ่ายก็ฟ้องกันไปมา รวมคดีแล้ว 13 คดี นอกจากนี้ นายบุญช่วย ยังได้ฟ้องกรรมการมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุด้วย และมีพระผู้ใหญ่ของมูลนิธิโดนฟ้องรวม 8 รูป และยังมีตำรวจที่กองปราบปราม ก็ถูกนายบุญช่วย ร้องเรียน 4 ครั้งหาว่า ทำคดีล่าช้า ทำให้ไม่สามารถขายที่ดินได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจและอาจจะมีผลต่อรูปคดีในภายภาคหน้าก็คือมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยได้มาแจ้งความดำเนินคดีต่อนายบุญช่วยฐานยักยอกทรัพย์ตั้งแต่ปี 2561 และกองปราบปรามได้รับคดีไว้เป็นคดีอาญาที่ 21/2561
“จากข้อมูลหลักฐานที่ได้รับขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่ามูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริง แต่ก็ขอใช้เวลาในการตรวจสอบพยานหลักฐานให้แน่ชัดอีกครั้ง”พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. กล่าวถึงคดีข้อพิพาทที่ดินจำนวน 3,800 ไร่
ขณะที่ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามแนวทางสืบสวนและสอบปากคำพยานหลายสิบปากพบว่า ที่ดินผืนนี้พระกิตติวุฒโฑได้รวบรวมเงินบริจาคของชาวบ้านไปซื้อที่ดินเพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของพระสงฆ์จำนวน 3,800 ไร่ จาก นายสมพล โกศลานันท์ ซึ่งเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ในตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชกูฏ และบางส่วนในอำเภอท่าใหม่ จ.จันทบุรี ในราคา 12 ล้านบาท แต่จ่ายเงินไปเพียง 8 ล้านบาท อีก 4 ล้านบาทยังไม่ได้ชำระ
หลังจากที่ได้ที่ดินมาแล้วพระกิตติวุฒโฑได้มอบหมายให้นายบุญช่วย น้องชายของตัวเองเป็นผู้ดูแลที่ดิน โดยมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเข้าไปทำกิจกรรมทางศาสนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ พระกิตติวุฒโฑยังได้บริจาคที่ดินในพื้นที่แห่งนี้จำนวน 50 ไร่ ให้แก่โรงเรียนบ้านตาเรียว เพื่อกิจกรรมทางด้านการศึกษาโดยยกให้รัฐเป็นเจ้าของและออกโฉนดไว้พร้อมมีหนังสือยืนยันการบริจาคชัดเจน
“นี่เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าที่ดินเป็นของพระกิตติวุฒโฑที่ซื้อมาเพื่อทำกิจกรรมสาธารณกุศล แต่ปัจจุบันกลับไปอยู่ในความครอบครองของนายบุญช่วย ที่ขณะนี้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากเมื่อปี 2548 พระกิตติวุฒโฑได้มรณภาพ ต่อมาปี 2550 นายบุญช่วยได้ไปยื่นเรื่องฟ้องร้องนายเรวัติ โกศลานันท์ ลูกชายของนายสมพล ในฐานะเป็นผู้รับมรดกให้โอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตัวเอง โดยมีนายบัญชาเป็นทีมทนายความ กระทั่งศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาให้ทายาทของนายสมพล โอนที่ดินดังกล่าวไปเป็นชื่อของนายบุญช่วยตามที่ร้องขอ
“หลังจากนั้นปี 2554-2555 นายบุญช่วยได้ไปยื่นขอเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.เป็นโฉนดที่ดินทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น และที่ผ่านมาไม่ได้ทำกิจกรรมทางศาสนาตามวัตถุประสงค์ของที่ดินแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมามีเรื่องฟ้องร้องกับ น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท และ พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ ทายาทรุ่นหลานของนายสมพล ที่ต้องการฟ้องร้องให้ที่ดินกลับมาเป็นของทายาท แต่ฝ่ายทายาทก็แพ้คดีมาโดยตลอดและยังมีคดีที่ฟ้องร้องกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน กระทั่งทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยทราบว่าพระกิตติวุฒโฑได้ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ให้กับมูลนิธิจึงได้มาแจ้งความดำเนินคดีที่กองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีต่อนายบุญช่วย และจะได้ฟ้องร้องให้ที่ดินกลับมาเพื่อดำเนินกิจการของพระสงฆ์ต่อไป”พ.ต.อ.เอนกสรุป
ด้าน นายมนัส พวงลำเจียก ผู้จัดการมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งได้เดินทางข้าพบ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2562 เพื่อมอบหลักฐานเพิ่มเติมในคดีพิพาทที่ดิน 3,800 ไร่ เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯ เพิ่งทราบเรื่องที่ดินดังกล่าวจาก น.ส.เขมจิรา อดีตภรรยา พล.ต.ต.ธารินทร์ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ทางมูลนิธิฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรี แต่ไม่พบสัญญาซื้อขายที่มีชื่อของมูลนิธิ และชื่อของกิตติวุฒโฑ พบเพียงเอกสารหนังสือรับรองการซื้อ ขายปี 2513 และส่งมอบที่ดินให้กับนายบุญช่วย โดยมีนายเรวัติ ทายาทนายสมพล เจ้าของที่ดินลงชื่อเพียงคนเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้หลักฐานจาก พล.ต.ต.ธารินทร์ แล้วทางมูลนิธิก็ได้ยื่นคำร้องให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ช่วยตรวจสอบ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2561 ก่อนเข้าแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป.จนมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าว
“ขอยืนยันว่าทางมูลนิธิฯและตัวผมไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อนเลยว่าทางพระกิตติวุฒโฑ ได้ซื้อที่ไว้ถึง 3,800 ไร่ ทั้งๆ ที่อยู่กับมูลนิธิฯมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม มาทราบเอาเมื่อปี 2560 จากทางฝ่าย น.ส.เขมจิรา และ พล.ต.ต.ธารินทร์ ทางเราจึงประชุมกันและเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ยักยอกที่ดินของมูลนิธิมาเป็นของตัวเอง และขอยืนยันว่าจะต้องติดตามทรัพย์ที่ประชาชนบริจาคด้วยใจบริสุทธิ์ คืนกลับมาแน่นอน” นายมนัสกล่าว
ขณะที่ น.ส.เขมจิรา ซึ่งเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เพื่อนำหลักฐานในคดีมามอบให้เพิ่มเติมในวันเดียวกัน กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่มูลนิธิซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายที่ดินกับนายสมพลไม่เคยเร่งเดินหน้าทวงคืนที่ดินทั้งที่พล.ต.ต.ธารินทร์ เคยนำหลักฐานมากกว่า100 หน้าส่งมอบให้ไปนานแล้วรวมถึงยังมีหลายอย่างที่ผิดปกติ เช่น มูลนิธิเคยแจ้งความดำเนินคดีกับนายบุญช่วย คู่กรณี แต่ในคดีที่น.ส.เขมจิรากับนายบุญช่วยฟ้องร้องกัน คนของมูลนิธิกับไปเป็นพยานให้นายบุญช่วย แทนที่จะมาเป็นพยานให้ตนเอง
ดังนั้น จึงอยากให้ทางมูลนิธิฯ จริงจังและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการเดินหน้าทวงคืนทรัพย์สินที่มาจากเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ไม่ควรเพิกเฉย หรือดำเนินการล่าช้าเหมือนที่ผ่านมา
...ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ชัดว่า คดีนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นอย่างมาก กระนั้นก็ดีคงต้องติดตามกันต่อไปว่า คดีนี้จะลงเอยอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วที่ดินผืนนี้จะตกไปเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาดังที่นายสมพล โกศลานันท์ผู้ขายได้แสดงเจตจำนงเอาไว้ หรือไม่ อย่างไร.