"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
คนพูดโกหกครั้งแรก พูดครั้งที่สองก็ต้องโกหกเพื่อรักษาเรื่องโกหกครั้งแรก พูดครั้งที่สามก็ต้องโกหก เพื่อรักษาเรื่องโกหกครั้งแรก และครั้งทีสอง ต้องหาเรื่องโกหกไปเรื่อยๆ แม้ว่า ถูกจับโกหกได้คาหนัง คาศาล ก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองโกหก ไพล่ไปโทษกระบวนการยุติธรรม ผู้มีอำนาจว่า หาเรื่องกลั่นแกล้ง ทำลายตน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ติดกับดักความเท็จที่ตัวเองเป็นคนวางเอาไว้ ในการต่อสู้คดีถือหุ้นสื่อ ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ ธนาธร เป็น สส. ปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข 1 ของพรรค ธนาธร ยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ผู้ประกอบกิจการสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิสมัคร รับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทำให้สิ้นสุดความเป็น ส.ส.
ธนาธร น่าจะลืมว่า ตัวเองมีหุ้น ในบริษัทวีลัค มีเดียอยู่ จึงไม่ได้โอนหุ้นให้ผู้อื่น ก่อนวันที่ 6 กพ. ก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2561 เขาได้ทำหนังสือลาออก จากกรรมการ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ที่ แม่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ลงสมัคร สส. แสดงว่า รู้ว่า มีข้อห้ามเรื่อง การถือหุ้นสื่อ และยอมรับ จึงทำการลาออกแต่เนิ่นๆ แต่ลืมไปว่า ยังมีบริษัทวีลัค มีเดียที่ตัวเองถือหุ้นอยู่
ความหลงลืมในเรื่องนี้ของธนาธร เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะบริษัทวีลัค มีเดีย ผู้ผลิตนิตยส่าร WHO ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเขา นิตยสาร WHO เกิดขึ้นจาก แม่ สมพร ที่เป็นนายทุนให้ นงนาถ กมลาสน์ ณ อยุธยา ทำนิตยสารเล่มนี้ขึ้นมา เมื่อประมาณ ปี 2551 โดยมีนงนาถ เป็นบรรณาธิการบริหาร หลังจากนั้นไม่นาน นงนาถ ก็โอนหุ้นในบริษัทให้สมพร และต่อมาก็ลาออกจากบรรณาธิการ และออกจากบริษัท ลูกสะใภ้ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาธนาธร เข้าสวมตำแหน่ง บรรณาธิการแทน ธนาธร เข้ามาถิอหุ้นครั้งแรกปี 2558 โดยรับโอนหุ้นมาจากแม่ ไม่นานนัก นิตยสาร WHO ก็ปิดตัวลง แต่ไม่ได้ มีการแจ้งยกเลิก ตาม พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2551
วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร สส. เขต 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ตามคำร้องของ กกต. จังหวัดสกลนคร เพราะ นายภูเบศวร์ ยังถือหุ้นในกิจการที่จดแจ้ง ในบริคณห์สนธิข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน
อีก 2 วันต่อมา วันที่ 21 มีนาคม บริษัท วีลัค มีเดีย ส่งแบบสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น ( บอจ. 5 ) ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วน กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรสวงพาณิชย์ ใน บอจ. 5 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น จากธนาธร ซึ่งถือหุ้น 675,000 หุ้น ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็น สมพร ถือหุ้นจำนวนดังกล่าวแทนตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม 2562
การที่นายภูเบศวร์ ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง คงทำให้ธนาธรฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ตัวเองยังถือหุ้นวีลัค มีเดียอยุ่ จึงรีบจัดการโอนหุ้นให้มารดา เพียง 3 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม
สำนักข่าวอิศรา เป็นผู้นำเรื่อง การโอนหุ้นวีลัค มีเดีย ของธนาธร ในวันที่ 21 มีนาคม ตามแบบ บอจ. 5 มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของตน พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ธนาธร มีคุณสมบัติต้องห้าม สมัคร สส. หรือไม่ เพราะยังถือหุ้นสื่ออยู่ในวันที่ 6 กพ. ซึ่งเป็นวันที่ พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ ธนาธร เป็น สส. ปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข 1 หลังจากนั้น ศรีสุวรรณ จรรยา ไปร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ธนาธร
คนที่เป็นต้นเหตุให้ ธนาธร หลุดจาก สส. คือ สำนักข่าวอิศรา และศรีสุวรรณ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ อย่างที่ ธนาธร และพวก บิดเบือนให้ ผู้คลั่งไคล้พรรคอนาคตใหม่ หลงเชื่อ
เมื่อรู้ว่า ตัวเองลืมโอนหุ้นวีลัคมีเดีย ก่อนวันที่ 6 กพ. แทนที่จะยอมรับในความผิดพลาดของ
ตัวเอง ธนาธรแก้ปัญหาด้วยการสร้างเรื่องเล่าใหม่ ปกปิดเรื่องจริง ตั้งแต่ การบึ่งรถเสี่ยงมัจจุราชจากบุรีรัมย์ มากรุงเทพ เพื่อโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมต้องรีบมาโอนในวันที่ 8 มกราคม เพราะ ยังไม่รู้เลยว่า กกต. จะรับสมัคร วันไหน พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปพ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 มกราคม 2562
ข้อพิรุธ เรื่อง ต้องรีบมาโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม ทำให้สำนักข่าวอิศรา เจาะลึกลงไปในรายละเอียด อื่นๆ ที่บ่งบอกเป็นนัยๆว่า การโอนหุ้นไมได้เกิดขึ้นจริงก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2562 แต่ละเรื่องที่สำนักข่าวอิศราเปิดเผยออกมา ธนาธรงัดเรื่องเล่าใหม่ๆ มาตอบโต้กลับ เช่น การชำระเงินค่าหุ้น เป็นเช็คของ สมพร แต่ไม่มีการนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาธรบอกว่า ภรรยาซึ่งเป็นคนดูแลเรื่องการเงิน เพิ่งคลอดลูก ไม่มีเวลาเอาเช็คไปขึ้นเงิน และตนไม่เดือดร้อนเรื่องการเงิน เรื่อง การโอนหุ้นกลับไปกลับมาระหว่างสมพร กับหลาน คน ธนาธรอ้างว่า สมพรต้องการให้หลานชายไปทวงหนี้จึงยกหุ้นให้ฟรีๆ ที่หลานชายโอนหุ้นคืนมา ภาในเวลาไม่ถึงเดือน เพราะหลานชายดูแล้วว่า จะทำกิจการต่อไม่ไหว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการทวงหนี้เลย
เรื่องเล่าต่างๆที่ธนาธร สร้างขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องจริง ดังนั้น ในการไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึงมีความสำคัญมาก แต่ธนาธร ไม่สามารถชี้แจง ให้ข้อมูล แก้ต่างข้อกล่าวหาต่อศาลได้เลย ได้แต่พูดว่า ผมไม่รู้ จำไม่ได้
ความพยายามสร้างเรื่องปกปิดความจริง ทำให้ทีมงานกฎหมายของธนาธร ต้องระดมเอกสารและพยานจำนวนมาก ไปให้การกับศาลว่า มีการโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมแล้ว แต่พยานบางคนพาซื่อ บอกความจริงกับศาลว่า ตัวพยานเอง ทำหน้าที่ แจ้ง บอจ.5 ของกิจการเครือไทยซัมมิทกับกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านมา แจ้งผ่านเว็บไซต์ การที่ธนาธรอ้างต่อศาลว่า โอนหุ้นวันที่ 8 มกราคม แต่เพิ่งแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 21 มีนาคม เพราะบริษัท วีลัค มีเดีย เลิกจ้างพนักงานไปหมดแล้ว จึงไม่มีใครไปแจ้งให้ จึงถูกหักล้างจากพยานที่เป็นคนของธนาธรเองว่า สามารถแจ้ง บอจ 5 ได้เลย หลังจากโอนหุ้น เพราะตัวพยานเอง เป็นคนทำ
ในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน สรุปว่า พยานหลักฐานที่ธนาธรนำมาแสดงว่า มีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 มีข้อพิรุธหลายประการ ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อม ที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการ ประกอบกัน มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผุ้ถูกร้องได้
ตลอดระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่เรื่อง การถือหุ้นวีลัค มีเดีย ของธนาธร จนถึงวันที่ ธนาธร ไปให้การว่า จำไม่ได้ ผมไม่รู้ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ธนาธร ผลิตเรื่องเล่า เพื่อชำระล้างตัวเอง ออกมามากมาย เรื่องเล่าเหล่านั้นประกอบกัน เป็นกับดักแห่งความเท็จที่เขาสร้างขึ้นมาเอง
วันนี้ เขายังขังตัวเอง และกวาดต้อนเหล่าผู้คลั่งไคล้ บูชาตัวเขาให้เข้าไปอยู่ในกับดักแห่งความเท็จร่วมกัน