xs
xsm
sm
md
lg

ที่เจ้าหนี้ต้องร้าย เพราะกฎหมายไม่เข้าข้าง!? ถอดบทเรียน “เจ๊เอ๋”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เงินไม่ได้ ด่าก็ไม่ได้!
“เจ๊เอ๋” เจ้าหนี้สายโหดตัดพ้อ ทวงเงินลูกหนี้ ไม่หนีแต่ไม่จ่าย แถมกฎหมายยังคุ้มครอง ฟากกูรูกฎหมายเตือนจะให้ใครยืมเงินต้องเผื่อใจแต่เนิ่นๆ หากประจานให้อับอาย-โพสต์เฟซบุ๊ก เสี่ยงคุกแถมปรับเป็นแสน!!

เจ๊เอ๋พ้อ “กฎหมายคุ้มครองแต่ลูกหนี้”

“หนูพูดดีกับป้ามา 3 เดือนแล้ว โอกาสหนูให้ ถ้ามันไม่เกินไปไม่มาหรอก ไปเก็บของคนอื่นมาเอาเงินของเขาไปใช้ เอาหมูยอมาขายก็ไม่คืน ไม่ส่งเงิน เงียบหาย มันเกินไป”

บทสนทนาข้างต้นเป็นบางช่วงบางตอนจากคลิปถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กความยาวกว่า 4 นาที ที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียลฯ ขณะนี้ กับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหนี้นามว่า “เจ๊เอ๋” ที่บุกไปทวงหนี้ลูกหนี้ถึงบ้านพร้อมกับด่าทอด้วยความรุนแรง เสียงดังสนั่นไปทั่วบริเวณ



คลิปดังกล่าวมีใจความว่า ลูกหนี้คนนี้ได้ทำสัญญาผ่อนทองรูปพรรณ และหมูยอ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเป็นเงินทั้งหมด 34,500 บาท โดยต้องผ่อนชำระเป็นวันละ 1,200 บาท นาน 30 วัน แต่ทางฝั่งลูกหนี้เมื่อผ่อนไปเพียง 10 วันก็ขาดส่ง โดยอ้างว่าจำเลขบัญชีไม่ได้ จนเวลาล่วงเลยมา 3 เดือน เจ้าหนี้จึงบุกมาทวงถึงบ้าน พร้อมนำก้อนถ่านหุงข้าวมาเขียนเลขบัญชีไว้บนผนังบ้านเสียเลย เรื่องราวนี้เกิดขึ้นที่ จ.สระบุรี ไม่กี่วันที่ผ่านมา

ทันทีที่คลิปการทวงหนี้สุดโหดนี้ถูกส่งต่อกันไปบนสังคมออนไลน์ ก็นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงฝีปากที่จัดจ้านของเจ้าหนี้ผู้นี้เป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งฝั่งที่เข้าหัวอกเจ้าหนี้ที่ต้องคอยตามทวงเงินกับลูกหนี้ที่เบี้ยวนัดอย่างยากลำบาก แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่าการกระทำของเจ๊เอ๋นั้นดูจะรุนแรงเกินไปหรือไม่

ในภายหลัง เจ๊เอ๋ ได้ออกมาเปิดใจผ่านรายการ “รายการโหนกระแส” ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เธอกล่าวตัดพ้อถึงข้อกฎหมายบ้านเราที่ดูจะเอื้อประโยชน์ให้ลูกหนี้ เพราะตนเองเคยถูกโกงและลูกหนี้รวมตัวกันแจ้งจับมาแล้ว แต่ในส่วนของเจ้าหนี้ที่ถูกเบี้ยวนัดชำระเงินกลับไม่เห็นได้รับการคุ้มครองบ้างเลย



“กฎหมายคุ้มครองลูกหนี้ พอมีกฎหมายพวกมึงก็รวมตัวแจ้งความกู พวกคอมเมนต์ด่ามึงไม่ต้องอ่านหนังสือ 8 ตัวหรอกนะ คลิป 2 วิฯ พวกมึงก็ไม่ดูกัน ไม่ได้ปล่อยเงินกู้ คิดว่าเราปล่อยเงินกู้ เราซื้อของให้เขาแล้วเก็บดอก กฎกติกาเรามีรับได้มั้ย รับได้ก็เซ็น”

ทั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ๊เอ๋เจ้าหนี้สายโหด แต่กลับถูกเธอปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่อยากดังและไม่อยากเป็นข่าวแล้ว

เพื่อความชัดเจนถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องทางข้อกฎหมาย ทางทีมข่าวจึงได้ขอความรู้จาก รัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดังแห่งเพจ “สายตรงกฎหมาย” เขาให้ข้อมูลว่า การทวงหนี้ในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในคลิปนั้น ตัวเจ้าหนี้เองเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ซึ่งโทษที่ตามมาหนักก็หนักพอสมควร



“การทวงหนี้มันก็มีข้อกำหนดอยู่ ถ้าจะทวงแล้วไปโพสต์เฟซบุ๊กอย่างนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องพวกนี้นะถ้าเราไปเปิดเผยให้คนอื่นเขารู้ว่าคนนี้เป็นลูกหนี้เราอยู่ ก็เข้าข่ายเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

แล้วถ้าไปโพสต์เฟซบุ๊กโดยการเปิดสาธารณะ ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาครับผม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท อันนี้เป็นโทษขั้นสูงสุด ลูกหนี้สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าหนี้กับตำรวจได้ครับ”

ทนายแนะ ทวงหนี้อย่างไรให้ไม่ผิดกฎหมาย

“เรื่องกู้-ยืมเงิน มันเป็นเรื่องคดีทางแพ่ง เป็นเรื่องของประชาชน ไม่มีโทษทางอาญา ไม่มีโทษปรับ ไม่มีโทษจำคุก เพราะฉะนั้นการที่จะเอาเงินคืน ต้องไปฟ้องศาลนะครับ แล้วก็ถ้าหากชนะปุ๊บ ต้องไปบังคับคดีคือไปยึดทรัพย์จากลูกหนี้มาขายทอดตลาด ได้เงินเท่าไหร่ถึงจะเอามาใช้หนี้ครับ อันนี้เป็นกระบวนการที่ที่กฎหมายเขากำหนดไว้”

กูรูกฎหมาย ได้กล่าวต่อไปถึงกรณีการทวงหนี้ไรอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเขาระบุว่า เจ้าหนี้ไม่สามารถแจ้งความเพื่อเอาเงินคืนได้ หากอยากได้ต้องฟ้องศาลเองอย่างเดียว

“การที่จะให้คนอื่นยืมเงิน มันต้องคิดตั้งแต่แรกแล้วว่า เขาจะคืนเรารึเปล่า ต้องเผื่อใจไว้ตั้งแต่แรก ถ้าเขาไม่คืน เราจะไปทำอย่างในคลิปไม่ได้ เพราะว่าเรื่องการยืมเงินเขาก็ไม่บังคับให้คุณเอาเงินไปให้เขายืมนี่ ฉะนั้นถ้าเขาไม่คืน มันมีกระบวนการก็คือ ต้องไปฟ้องศาลเอา ไปบังคับชำระหนี้เอา ซึ่งเป็นกระบวนการที่กฎหมายเขากำหนด



แต่คุณจะไปทวงอย่างนี้มันไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องให้ยืมตั้งแต่แรกจะดีกว่า ถ้าคุณไม่อยากยุ่งยาก คุณอาจจะไม่ต้องกู้-ยืมเงิน ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นจำนำ เอาทองมาจำนำ เอาทรัพย์สินมาจำนำ หรือว่าเอาที่ดินมาจำนอง อันนี้ก็จะง่ายกว่าที่จะกู้-ยืมเงินกันสดๆ เปล่าๆ ไม่มีอะไรเป็นประกันเลย”

และเมื่อไม่นานมานี้ ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง "จำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้" ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (3) และมาตรา 16 (1) แห่งพระราชบัญญัติ การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และได้เริ่มบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยมีรายละเอียดว่า เจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ คือ ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น หากเป็นกรณีเพื่อนยืมเงินเพื่อนแล้วไม่คืน ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้

และถ้าเจ้าหนี้ทวงเกินวันละหนึ่งครั้ง มีความผิดทางปกครอง คณะกรรมการทวงหนี้สามารถสั่งให้ระงับได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจโดนโทษปรับทางปกครองสูงสุด 100,000 บาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากห้ามทวงหนี้เกินวันละหนึ่งครั้งแล้ว พ.ร.บ. ยังกำหนดเรื่องการทวงหนี้ว่า ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้, ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง, ห้ามประจาน และ ทวงได้แค่ 08.00 - 20.00 วันจันทร์ - ศุกร์ ส่วนวันหยุดราชการทวงได้ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น.เท่านั้น

“กฎหมายตัวนี้เขามาป้องกันเจ้าหนี้ กรณีที่ผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้เป็นอาชีพ แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ให้เพื่อนกู้เงินเพื่อการช่วยเหลือ เพื่อการอนุเคราะห์ ยืมกันธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ กฎหมายตัวนี้มันไม่เกี่ยวข้องครับ”



สุดท้าย ทนายความชื่อดัง ได้ย้ำไปยังผู้ที่เป็นเจ้าหนี้หรือผู้ที่ให้เงินคนอื่นยืม หากคิดจะให้แล้วก็ต้องเผื่อใจไว้แต่เนิ่นๆ ว่าอาจจะไม่ได้คืน พร้อมกับให้คำแนะนำว่า ควรนำทรัพย์สินของลูกนี้เป็นประกัน รวมถึงระวังในเรื่องของการทวงเงิน ดีไม่ดีเจ้าหนี้อาจตกเป็นผู้ต้องหาเองได้

“เจ้าหนี้ต้องดูเครดิตของลูกหนี้ให้ดีครับ ถ้าเกิดว่าลูกหนี้ไม่น่าจะใช้เงินได้ หรือว่าใช้เงินไม่ทัน คุณต้องทำใจในส่วนนั้น ไม่สามารถที่จะไปใช้กำลัง หรือว่าไปประจานลูกหนี้ได้ครับ โทษมันสูงนะคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท ถ้าเบี้ยวไม่จ่าย ทางเดียวที่ทำได้คือ ต้องไปใช้สิทธิทางศาล

คุณต้องวางแผนการที่จะให้คนอื่นยืมเงิน ก็อาจเอาทรัพย์สินมาเป็นประกัน ก็เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องจำนำ หรือว่าเอาที่ดินมาจำนอง คุณก็ต้องไปใช้วิธีนั้นเอา แต่ว่าจะมาบังคับให้ลูกหนี้เอาจ่ายเงินโดยใช้การประจานหรือใช้กำลัง มันไม่ถูกต้องตามกฎหมายครับ ให้ลูกหนี้เอาทรัพย์สินมาเป็นประกันไง ถ้าเกิดว่าเขาไม่คืน คุณก็มีทรัพย์สินเป็นประกันแล้ว

เจ้าหนี้ถ้าทวงหนี้ไม่ได้ ถ้าคุณปล่อยเงินกู้ต้องทำใจแล้ว คุณไปทำเรื่องที่ผิดกฎหมายไม่ได้ ถ้าเกิดว่าไปทำอย่างนั้นเราอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาเอง สรุปคือลูกหนี้เบี้ยวหนี้ไม่ติดคุก แต่ถ้าเจ้าหนี้ทวงหนี้ไม่ถูกต้องอาจจะติดคุกได้”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “งอแง ตัวดี”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น