“ ผ.อ.ศูนย์ลูกหนี้” เผย สารพัดกลโกงแก๊งเงินกู้ “แก็งหมวกกันน็อค” ใช้วิธีตั้งดอกลอย ขาดส่งเท่ากับศูนย์ ต้องนับหนึ่งใหม่ ฟันธง ทั่วประเทศมีทุนใหญ่ไม่กี่ราย ส่วน “กลุ่มทุนปล่อยกู้เกษตรกร” เปลี่ยนจากทำสัญญาขายฝาก เป็นโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ หวังยึดที่ทำกิน ขณะที่ “แก๊งเงินกู้ออนไลน์” เจาะกลุ่มแม่ค้าบนโซเชียล ตั้งวงแชร์พร้อมปล่อยกู้ ขู่ประจานหน้า facebook ใช้ภาพเปลือยแบล็คเมล์นักศึกษา
กล่าวได้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในขณะนี้นอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างในหลากหลายสาขาแล้ว การค้าและบริการต่างๆก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ในสถานการณ์เช่นนี้อาจมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ นั่นคือ “แก๊งเงินกู้นอกระบบ” ที่มีสารพัดวิธีที่จะรีดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน
พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ รองผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็น
ธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมจากหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก เฉพาะการร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 4444 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 – วันที่ 24 พ.ย. 2562 มีผู้ร้องเรียนถึง 4,748 ราย โดยพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคกลาง 1,926 ราย ซึ่งเฉพาะกรุงเทพฯมีถึง 663 ราย ตามด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 766 ราย ภาคเหนือ 516 ราย ภาคใต้ 449 ราย ภาคตะวันออก 414 ราย และไม่ระบุจังหวัดอีก 677 ราย
โดยสาเหตุหลักๆที่ทำให้ประชาชนต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบก็คือปัญหาเศรษฐกิจ และไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบได้ ซึ่งมีทั้งกรณีพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีสลิปเงินเดือนซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการขอกู้และมนุษย์เงินเดือนที่กู้จากสถาบันการเงินหลายๆแห่ง และไม่สามารถชำระหนี้ได้ทำให้ติดเครดิตบูโร จึงไม่สามารถกู้ในระบบได้อีกต่อไป
“พอเศรษฐกิจไม่ดี พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ก็ไม่มีทุนไปขายในวันต่อไป ก็ต้องกู้นอกระบบมาลงทุน หรือพนักงานบริษัทตอนแรกก็จะกู้สินเชื่อบัตรเครดิต กู้บัตรนี้ไปโป๊ะบัตรโน้น เมื่อกู้ในระบบไม่ได้ก็หันไปกู้นอกระบบ ยอมเสียดอกเบี้ยแพงๆ แก๊งพวกนี้จะใช้วิธีทวงหนี้โหด ทำร้ายร่างกาย หรือประจานเพื่อกดดันให้ใช้หนี้ บางรายทนไม่ไหวต้องลาออกจากงานหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย บางรายฆ่าตัวตายยกครัว เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศที่ศูนย์ลูกหนี้ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ” พ.ต.ท.วิชัย กล่าว
สำหรับรูปแบบและกลโกงในการปล่อยกู้ของแก๊งเงินกู้นอกระบบในปัจจุบันนั้นนอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคมแล้วยังปรับเปลี่ยนเพื่อหนีการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผนึกกำลังกันเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วย โดย พ.ต.ท.วิชัย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันหนี้นอกระบบมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1)แก๊งหมวกกันน็อค มีลักษณะเป็นการปล่อยเงินกู้เงินรายวันโดยไม่มีการทำสัญญา อาจใช้วิธียึดบัตร
เครดิต บัตรประชาชน หรือยึดบัตรของคนที่ค้ำประกัน ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด แก๊งเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยหลายๆแก๊งมีแหล่งเงินทุนจากทุนใหญ่เจ้าเดียวกัน
กลโกงที่น่ากลัวมากของแก๊งหมวกกันน็อคนั้นมีอยู่ 2 วิธีคือ
1.การคิด “ดอกลอย” ยกตัวอย่าง ให้กู้ 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับเดือนละ 5,000 บาท ก็จะให้ลูกหนี้ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 5,000 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกหนี้จะมีเงินต้นครบ 50,000 บาทมาใช้คืน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้ และต้องส่งเงินให้เจ้าหนี้มากกว่าเงินต้นที่กู้ยืมมาหลายเท่า หรือต้องไปกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ในวงเงินที่มากกว่าเดิม
2. “ล้ม เงินส่ง 24 วัน” ยกตัวอย่าง เงินกู้ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 2,000 บาท รวมเป็น 12,000 บาท ให้ผ่อนชำระเป็นเวลา 24 วัน วันละ 500 บาท ระหว่างที่ผ่อนชำระหากวันใดวันหนึ่งลูกหนี้ไม่สามารถส่งเงินได้ เจ้าหนี้จะยกเลิกเงินที่ส่งมาแล้วทั้งหมดเท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า “ล้ม” และลูกหนี้ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการผ่อนชำระ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้
พ.ต.ท.วิชัย ระบุว่า ปํจจุบันยังมีการร้องเรียนจากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้ของแก๊งหมวกกันน็อคอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือวิธีการทวงหนี้ของแก๊งนี้ลดการใช้ความรุนแรงลง เนื่องจากมี "ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องจำนวนครั้งในการติดต่อทวงถามหนี้" ในราชกิจจานุเบกษา หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายทวงหนี้” ว่า เจ้าหนี้ทางการค้า (เจ้าหนี้ที่ทำธุรกิจจากการปล่อยกู้ เช่น ธนาคาร บริษัทบัตรเดคริต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ) และเจ้าหนี้พนัน จะทวงถามหนี้ได้วันละไม่เกิน 1 ครั้ง มิเช่นนั้นอาจโดนโทษปรับทางปกครองถึง 1 แสนบาท นอกจากนั้นยังห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง ห้ามประจาน โดยวันจันทร์ – ศุกร์ ทวงหนี้ได้เฉพาะในช่วงเวลา 08.00 - 20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการทวงได้ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น. เท่านั้น อย่างไรก็ดีข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้รวมถึงการให้กู้ระหว่างเพื่อนและญาติอย่างที่หลายคนเข้าใจเนื่องจากไม่ใช่การให้กู้เป็นการค้า
นอกจากนั้นการที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้เสนอให้มีการแก้ไข “พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา” ให้มีบทลงโทษรุนแรงขึ้น จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และเพิ่มโทษปรับจากปรับไม่เกิน 1 พันบาท เป็นปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้แม้จะก็ยังมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดและมีการกดดันให้ใช้หนี้ด้วยวิธีการต่างๆอยู่แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าเดิมเนื่องจากแก๊งเหล่านี้กลัวเป็นคดีความ
“ เงินกู้นอกระบบมีความซับซ้อน อย่างแก๊งหมวกกันน็อคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเนี่ยนายทุนเป็นใครก็ได้ที่เอาเงินไปให้แก๊งหมวกกันน็อคปล่อยกู้ แก๊งเหล่านี้ทำงานในลักษณะ Sub งานมาแล้วก็เก็บเงินส่งนายทุน หรือบางแก๊งก็กู้เงินจากแหล่งทุนใหญ่ไปปล่อยกู้อีกที หลายๆแก๊งก็มีแหล่งทุนใหญ่จากแหล่งเดียวกันซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า เรากำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ หรืออย่างการกำหนดระยะเวลาการกู้แบบล้มเงินส่ง ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องกำหนดที่ 24 วัน อาจจะมาความลงตัวในการคำนวณก็ได้ แต่ที่แน่ๆพ่อค้าแม่ค้าที่กู้เงินแก๊งนี้ไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้ เพราะถ้าวันไหนขายไม่ดี ไม่มีเงินส่ง ที่ส่งไปแล้วก็เป็นศูนย์ นี่คือความอำมหิตในการหากินบนความทุกข์ยากของผู้มีรายได้น้อย” รองผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าว
2) กลุ่มนายทุนที่ทำสัญญาแบบเอาเปรียบ ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำกิน โดยก่อนหน้านี้รูปแบบที่นิยมทำกันมากคือการขายฝาก โดยทำสัญญาไถ่ถอนระยะสั้นส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนที่คืนได้ทัน ที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่กู้หลายเท่าจึงตกเป็นของเจ้าหนี้ แต่หลังจากที่ภาครัฐมีการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการออก “พระราชบัญญัติขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ซึ่งมีกฎเกณฑ์มากมาย ส่งผลให้การทำสัญญาขายฝากเพื่อยึดที่ดินของลูกหนี้เงินกู้ลดน้อยลง
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันเจ้าหนี้ได้ใช้กลโกงในการทำสัญญาแบบใหม่ โดยให้ ลูกหนี้“โอนที่ดิน”ให้เจ้าหนี้ก่อนรับเงิน เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนและนำเงินมาชำระหนี้จึงได้ที่ดินคืน (โดยทำสัญญาจะซื้อจะขาย) แต่สิ่งที่ลูกหนี้ไม่รู้คือ“กรรมสิทธิ์”ในที่ดินได้ตกเป็นของเจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้เพื่อแลกกับเงินกู้ และเนื่องจากราคาที่ดินมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่กู้หลายเท่า ลูกหนี้จึงมักถูกโกงที่ไปโดยปริยาย โดยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนเจ้าหนี้ก็จะหลีกเลี่ยงการรับชำระหนี้ เช่น เมื่อลูกหนี้มาชำระเงินงวดสุดท้ายเจ้าหนี้จะไม่ให้พบโดยอ้างว่าไม่อยู่บ้าน
3)เงินกู้ออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ พนักงานบริษัท และกลุ่มนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันใช้การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก
สำหรับ “กลุ่มแม่ค้าออนไลน์” นั้นจะเป็นการปล่อยกู้แบบ “ตั้งวงแชร์” โดยแก๊งเงินกู้จะเข้าไปตรวจสอบประวัติของแม่ค้าออนไลน์และคนที่จะดึงมาร่วมวงแชร์ก่อนว่ามีกำลังในการชำระหนี้และมีหลักแหล่งชัดเจนหรือไม่ จากนั้นจึงเข้าไปตีสนิทผ่านการแชท เมื่อคุ้นเคยกันก็ชวนตั้งวงแชร์ โดยแก๊งเงินกู้ทำหน้าที่เป็น “เท้าแชร์” คนที่มาร่วมวงแชร์ก็มีทั้งคนที่เท้าแชร์และลูกแชร์ชักชวนกันมา วิธีการจะเหมือนกับการเล่นแชร์ทั่วไป แต่หากลูกแชร์คนไหนไม่มีเงินส่ง เท้าแชร์ก็จะชักชวนไปลงแชร์อีกวงหนึ่งเพื่อ “เปีย” มาส่งวงแรก ซึ่งจะทำให้ลุกหนี้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญเท้าแชร์จะทำหน้าที่เป็น “แหล่งเงินกู้นอกระบบ” ด้วย หากลูกแชร์ไม่มีเงินส่งก็สามารถกู้เงินจากเท้าแชร์ได้
ซึ่งสาเหตุที่เจ้าหนี้กล้าปล่อยกู้ทั้งที่รู้จักลูกหนี้แค่ในออนไลน์ก็เพราะเจ้าหนี้มั่นใจว่าสามารถใช้สื่อโซเชียลในการติดตามทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามกำหนดก็จะใช้วิธีด่าประจานหน้า facebook หรือไปทวงกับคนรักและเพื่อนๆของลูกหนี้ที่อยู่ใน facebook ทำให้ลูกหนี้ต้องรีบชำระหนี้เพราะกลัวถูกประจาน และเหตุผลที่เจ้าหนี้ไม่กลัวลูกหนี้ปิด facebook หนี เนื่องจากจากการวิเคราห์พฤติกรรมของผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลพบว่าลูกหนี้ที่เป็นแม่ค้าออนไลน์จะเสียดายฐานลูกค้าที่อยู่ในเพจ facebook ขณะที่ลูกหนี้ทั่วไปที่เล่น facebook ก็เคยชินกับการใช้ facebook เดิม ไม่อยากไปแอดเพื่อนใหม่
ส่วน “พนักกงานบริษัท และกลุ่มนักศึกษา” นั้นแก๊งเงินกู้ออนไลน์จะใช้วิธีโพสต์โฆษณาบนหน้า facebook หรือเว็บไซต์ต่างๆ โดยผู้กู้ต้องยืนยันแหล่งที่อยู่ เช่น บ้านพัก ที่ทำงาน สถานศึกษา พร้อมทั้งส่งหลักฐานเอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ไปให้เจ้าหนี้ด้วย จากนั้นเจ้าหนี้จะส่งคนมาตรวจสอบว่าพำนักหรือทำงานที่นั่นจริงหรือไม่ ก่อนที่จะโอนเงินให้ ซึ่งหากลูกหนี้ขาดส่งเจ้าหนี้ก็จะส่งคนมาข่มขู่หรือทำร้ายเพื่อกดดันให้รีบจ่ายหนี้
“มีเคสที่น่ากลัวมากคือ แก๊งเงินกู้ให้ลูกหนี้ที่เป็นนักศึกษาถ่ายภาพเปลือยส่งไปให้เป็นหลักประกัน และนำภาพนี้มาข่มขู่เพื่อเรียกเงินเพิ่มขึ้น ถ้าไม่จ่ายตามที่เรียกจะนำภาพไปโพสต์ประจาน จนนักศึกษาคนนี้ทนไม่ไหวต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย หรือบางเคสก็ส่งแฟ็กซ์ทวงหนี้ไปที่ทำงานของลูกหนี้เพื่อประจาน คือแก๊งเหล่านี้จะใช้ความอับอายของลูกหนี้เป็นตัวกดดันให้ใช้หนี้ ดังนั้นต่อให้ดอกโหด คิดทบต้นทบดอกยังไง ลูกหนี้ก็ต้องหามาส่งคืน”
พ.ต.ท.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปล่อยกู้นอกระบบอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงก่อนหน้านี้ก็คือการปล่อยกู้แบบ“อำพราง” ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีเงินเดือนประจำ ที่พบมากที่สุดคือพนักงานรัฐวิสาหกิจ รองลงมาคือ ข้าราชการ และพนักงานบริษัท โดยในการปล่อยกู้นั้นเจ้าหนี้จะให้ผู้กู้ทำสัญญากู้ย้อนหลัง 1 ปี ในวงเงินที่ตกลงกันทั้งต้นทั้งดอก และดำเนินการฟ้องร้องโดยให้ผุ้กู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งสัญญานี้เท่ากับคำพิพากษาของศาลที่บังคับคดีให้ชำระหนี้ เมื่อได้สัญญาแล้วเจ้าหนี้จึงให้เงินแก่ผู้กู้ ซึ่งในกรณีที่ขาดชำระ เจ้าหนี้ก็จะขอศาลบังคับคดีเพื่ออายัดเงินเดือน โดยตามกฎหมายการจะอายัดเงินเดือนได้นั้นลูกหนี้ต้องมีเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งส่วนที่เกิน 20,000 บาท เจ้าหนี้สามารถอายัดได้หมดแต่ไม่เกินยอดหนี้ที่ต้องชำระ ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาศูนย์ลูกหนี้ฯในฐานะหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบรามการปล่อยกู้แบบอำพรางอย่างจริงจังทำให้ปัจจุบันการปล่อยกู้ในลักษณะนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว
สำหรับมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกู้เงินนอกระบบนั้น รองผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระบุว่า นอกจากการประสานกับหน่วยงานที่เกียวข้องเพื่อร่วมกันปราบปรามจับกุมกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้และใช้กลโกงในการปล่อยกู้เพื่อเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้แล้ว ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้กำลังหารือกับสถาบันการเงินที่มีนโยบายปล่อยกู้แก่รายย่อยให้เข้ามาพิจารณาปล่อยกู้แก่ลูกหนี้เหล่านี้ เช่น ธนาคารออมสินซึ่งปัจจุบันมีโครงการเงินกู้สำหรับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอยู่แล้ว พร้อมทั้งจะประสานกับกรมสุขภาพจิตให้เข้ามาดูแลลูกหนี้ที่ได้ความกดดันจากการทวงหนี้เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกันศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯก็ยังเมีทีมงานข้าไปให้ความรู้เรื่องการกู้เงินนอกระบบแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย ทางเลือกในการหาแหล่งเงินกู้และการผ่อนชำระ รวมทั้งการสร้างวินัยการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบอีกด้วย